ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสิทธิมนุษยชน 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' (เอไอ) เผยรายงานประจำปี 2017-18 ระบุ สิทธิมนุษยชนไทยไม่คืบหน้า ยังไม่เป็น 'วาระแห่งชาติ' อย่างแท้จริง ผู้นำหลายประเทศมองข้ามเรื่องสิทธิฯ ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลและนักวิชาการชี้ว่าพัฒนาการด้านสิทธิฯ ในไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ขึ้นอยู่กับยุคสมัย

เนื้อหาในรายงานของเอไอประจำปีนี้ มีประเด็นน่าเป็นห่วงอยู่หลายประการ ซึ่งทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกย่ำแย่ลง ได้แก่ 'ท่าทีของผู้นำรัฐบาล' ในหลายประเทศ ที่มองข้ามการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งออกนโยบายจำกัดสิทธิหลายประการ และมีการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชังกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายจากคนส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศ แต่แนวโน้มในทางที่ดีคือขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมที่ตื่นตัวและรณรงค์เรียกร้องสิทธิในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น

กรณีของประเทศไทย เอไอระบุว่า สิทธิมนุษยชนยังไม่เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริงตามที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้ และเอไอได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยนำไปปรับปรุงแก้ไข โดย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการเอไอประจำประเทศไทย ระบุว่า ปีนี้เป็นปีที่ 70 ที่ไทยร่วมเป็นภาคีของปฏิญญาสากลด้านสิทธิมนุษยชน (UDHR) แต่ดูเหมือนว่าจะยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอยู่เช่นเดิม

รายงานของเอไอระบุว่าประเด็นสิทธิที่ได้รับผลกระทบมากสุดในไทยช่วงปีที่ผ่านมา คือ เสรีภาพในการแสดงออก พบว่ายังมีข้อจำกัดและถูกละเมิดสิทธิเยอะ เพราะมีคำสั่ง คสช. 3/2558 ที่ระบุว่าการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปมีความผิด และทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีผู้ออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก

ประเด็นอืิ่นๆ ได้แก่ การคุ้มครองหลักการเรื่องผู้ลี้ภ้ย เนื่องจากผู้แสวงหาที่ลี้ภัยประมาณ 1 แสนคนในไทยยังไม่ได้รับความคุ้มครองทาง กม. ขณะที่เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตถูกควบคุมอยู่พอสมควร โดยรัฐบาลมีการขอข้อมูลผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ จากกูเกิลหรือเฟซบุ๊ก ซึ่งค่อนข้างจะเป็นการสอดแนมหรือคุกคาม รวมถึงการลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ โดยยกตัวอย่างคดีที่ศาลตัดสินเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุให้ยกเลิกบทลงโทษแก่อดีตนายกฯ และอดีตรองนายกฯ ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย

ส่วนข้อเสนอในรายงานของเอไอต่อรัฐบาล คสช. ได้แก่ (1) การยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงออกหรือการชุมนุมสาธารณะ (2) ยุติการจับกุมหรือควบคุมตัวพลเรือนโดยพลการ (3) ยุติการไต่สวนคดีพลเรือนในศาลทหาร (4) ผ่านร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเร็วที่สุด เพื่อนำ กม.ไปบังคับใช้ (5) ปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนทั่วไป ยุติการจับกุมและดำเนินคดีผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน (6) เคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย และ (7) ยุติโทษประหารชีวิต

_X3A9943.jpg
สิทธิมนุษยชนมีทั้ง 'ขาขึ้น' และ 'ขาลง'
ต้องส่งเสริมการเรียนรู้แบบสั้นๆ-เข้าใจง่าย

ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาล คสช.รับรายงานจากเอไอไปพิจารณา ย้ำว่าพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่บังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยในปัจจุบัน ปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยอยู่ในแผนที่ 3 ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดวาระในปี 2561 นี้ แต่ก็มีความคืบหน้าด้านต่างๆ ได้แก่ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะรวมถึงการออกกฎหมายรองรับภายในประเทศ คือ ร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการทรมานและอุ้มหายโดยไม่สมัครใจ แต่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา รวมถึงการระงับลงโทษประหารมาได้อย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว

อย่างไรก็ตาม ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเข้าร่วมพูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาในประเทศไทยในงานนี้ ระบุว่าพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยมีทั้งดีขึ้นและเสื่อมลง ขึ้นอยู่กับยุคสมัยและปัจจัยเรื่องความเป็นประชาธิปไตย โดยยุคที่มีประชาธิปไตย จะเปิดกว้างด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ส่วน กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่่างประเทศ แนะนำว่าการศึกษาเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในไทยไม่ควรยึดถือแต่เนื้อหาในปฏิญญาสากลระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเรื่องราว และจะต้องทำให้สั้น เข้าใจง่าย และกระชับ พร้อมยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำหนังสือส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเรื่อง 'เป็ดกับไก่'

"เราอยากจะสอนแค่สั้นๆ ว่าคนน่ะแตกต่างกัน แต่อยู่ด้วยกันได้ แตกต่างกันได้ แต่เคารพในความต่าง แล้วก็ใช้ปัญญาถกกัน แล้วจะได้มีวิถีของตัวเอง เสริมจุดแข็ง และเข้าใจในจุดอ่อนของกัน วิธีสอนมันสามารถทำให้ง่ายได้มาก สอนได้ทุกวันในชีวิตประจำวันเลยค่ะ"

760460.jpg
'การดำเนินการ' ต้องไม่ขัดแย้งกับ 'เป้าหมาย' สิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ อันธิฌา แสงชัย รองผู้อำนวยการเอไอ เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' เพิ่มเติมว่า การประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติเป็นเรื่องดี แต่อยากให้รัฐบาลมีมาตรการหรือการดำเนินนโยบายที่ชัดเจนกว่านี้ ขณะที่ความล่าช้าในการหารือ-ผลักดัน แนวทางแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่เป็นเรื่องที่ 'รู้อยู่แล้ว'

อย่างไรก็ตาม การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมีทั้งประเด็นเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ เพื่อยุติหรือระงับยับยั้งการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และอีกทางหนึ่งจะต้องสร้างความรู้ความเข้าและดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว การทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมและกลุ่มสิทธิด้านต่างๆ ที่ยอมรับกฎหมายหรือคำสั่งพิเศษในประเทศไทยจึงต้องคำนึงว่า 'เป้าหมาย' และ 'กระบวนการ' เพื่อให้บรรลุในประเด็นที่ขับเคลื่อน จะต้องไม่ขัดแย้งกับเป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตย

"หลักการสิทธิมนุษยชนมันมีที่มาที่ไปอยู่แล้ว ประชาธิปไตยก็เหมือนกัน แม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีวิธีการและกระบวนการที่แตกต่างกัน แต่ในหลักการพื้นฐานคือการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการมองเห็นอำนาจของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และอำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ประชาชน ประชาชนมีสิทธิที่จะกำหนดทิศทาง ชะตาอะไรต่างๆ ของตัวเองได้ในทางการเมือง"

"ถ้าวิธีการของเราไปละเมิดสิทธิคนอื่นๆ หรือไปมีส่วนสนับสนุน หรือเปิดช่องว่างให้เกิดการละเมิดสิทธิของคนอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนแต่ละคนต้องระวัง หรือการกระทำบางอย่างเพื่อที่จะไปสู่เป้าหมาย แต่เชื่อได้ว่ามันจะส่งผลลบ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงประเด็น หรือว่าในเชิงกระบวนการต่างๆ อันนี้เราต้องทบทวน"

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน แต่ถือเป็นประเด็นร่วมของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และเมียนมา โดยกัมพูชาประสบปัญหาภาครัฐเวนคืนที่ดิน ทำให้ประชาชนไม่มีที่ดินทำกิน แต่เมื่อออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกลับถูกปราบปรามและถูกจับกุมดำเนินคดี ส่วนลาวและอินโดนีเซียพบปัญหาบริษัทเอกชนลงทุนและทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่คนในประเทศ ส่วนเมียนมาเป็นต้นตอของวิกฤตโรฮิงญาระลอกใหม่ ซึ่งทำให้มีผู้อพยพพลัดถิ่นมากกว่า 600,000 คน