น.ส.ปรานม สมวงศ์ ผู้ประสานงานองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนนานาชาติ (Protection International) เปิดเผยว่าจากการเก็บข้อมูลหลังจากเกิดรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบันพบว่าสถิติของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน และฐานทรัพยากร และความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากถึง 179 คน อันดับหนึ่งคือ ความผิดฐานบุกรุกที่ดินป่าไม้ 82 คน รองลงมา คือ ความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ และ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นมากถึง 28 คน การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทน 17 คน ความผิดฐานหมิ่นประมาท 12 คน ความผิดสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ 12 คน ความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน จำนวน 13 คนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ 8 คน ถูกฟ้องร้องฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น 3 คน
ขณะที่ สถิติของผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ พ.ศ. 2541 – พ.ศ. 2557 ซึ่งพบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน ที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน และฐานทรัพยากร และความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนอย่างน้อย 63 คน แบ่งเป็น ฐานความผิดฐานบุกรุกจำนวน 7 คน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทจำนวน 30 คน ถูกฟ้องร้องความผิดฐานบุกรุกและความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จำนวน 8 คน ถูกฟ้องร้องให้มีความผิดฐานละเมิด,ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 18 คน โดยในจำนวนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องร้องทั้งหมดในทุกคดีแบ่งเป็นภาคใต้ 38 คน ภาคอีสาน 24 คน และภาคเหนือ 1 คน
จากสถิติข้างต้นจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือการฟ้องคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2557 จะเน้นเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการในแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยที่นักปกป้องสิทธิฯ หรือผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯได้ร่วมหารือร่วมกับรัฐบาลต่างๆ และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ลดการจับกุม ลดการถูกดำเนินคดี เพราะหากมีการดำเนินคดีทางคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาจะส่งหนังสือเพื่อชะลอให้การแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จก่อน จึงทำให้คดีดังกล่าวลดลง
“สถิติการฟ้องร้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลังจากที่มีการรัฐประหาร และมีการประกาศคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ที่เกี่ยวข้องกับการทวงคืนผืนป่าทำให้มีการปราบปรามนักป้องสิทธิผู้หญิงมากกว่าเดิมในเรื่องที่ดินป่าไม้” น.ส.ปรานมกล่าวในงานจัดเปิดตัวสมุดบันทึก Side by Side WHRDs 2018 Diary สมุดบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจัดทำโดยองค์กร PI ร่วมกับสถานทูตแคนาดาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
น.ส.ปรานมกล่าวต่อว่า หลังการรัฐประหาร 2557 ข้อหาที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือความผิดฐานบุกรุก ที่รวมทั้งการบุกรุกป่าไม้ ที่ดิน ที่สาธารณะประโยชน์ และเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ ความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ 2558 ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ตามมาตรา 309 ประมวลกฎหมายอาญา,การฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด,ขับไล่และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อรวมจำนวนสถิติของการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิแล้วจะพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในภาคอีสานจะถูกดำเนินคดีมากที่สุดมากถึง 120 คน รองลงมาคือภาคเหนือจำนวน 36 คน ภาคใต้จำนวน 11 คนและภาคกลางจำนวน 1 คน
น.ส.ปรานม กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ของการถูกคุกคาม ส่วนใหญ่ที่ได้รับการแจ้ง จะมีขั้นตอนของการคุกคามต่างๆ ดังนี้ 1.การโทรศัพท์ข่มขู่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ โดยเฉพาะขู่ถึงครอบครัว 2.การบุกมาหามาหาถึงบ้านหรือการบุกเข้าหาครอบครัวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิและการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจากหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ซึ่งก็จะทำให้เพื่อนบ้านและครอบครัวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเกิดความตกใจและหวาดกลัว และผู้หญิงถูกมองว่ากระทำผิด
3.หากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯเป็นผู้ที่มีตำแหน่งทางราชการ ก็จะคอยสอดส่อง และมีการร้องเรียนเรื่องวินัย ว่าใช้เวลาราชการมาทำงานเรื่องการเคลื่อนไหว ใช้ตำแหน่งในการกดดัน 4.มีการดักฟังทางโทรศัพท์ การติดตามความเคลื่อนไหว การตามไปยังสถานที่ต่างๆ 5. ใช้กระบวนการทางกฎหมายฟ้องร้องเพื่อยุติการเคลื่อนไหว
6. หากพื้นที่ขัดแย้งมีผลประโยชน์จำนวนมาก นายทุนก็จะเสนอเงินหรือเสนอตำแหน่งในการทำงานให้กับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และหากมีการปฏิเสธก็จะเริ่มใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหว เมื่อมีการฟ้องร้องก็จะใช้กระบวนการต่อรองเจรจาว่าจะมีการถอนฟ้องคดีหากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทำตามข้อเรียกร้อง 7. เมื่อมีการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบแล้วไม่ยุติการเคลื่อนไหวของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิได้ก็จะมาสู่กระบวนการคุกคามขั้นตอนสุดท้ายคือการลอบสังหารผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา 20 ปีส่วนใหญ่นักปกป้องสิทธิมักถูกฆ่าและอุ้มหาย แต่ปัจจุบันการคุกคามเปลี่ยนไปโดยใช้วิธีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมษุษยชน ซึ่งประเทศไทยเองยังไม่มีกฎหมายมารองรับในเรื่องของการยุติการฟ้องร้องคดีเพื่อปิดปากหรือฟ้องร้องส่งเดช ทั้งนี้หลังจากที่นักปกป้องสิทธิถูกฟ้องก็ไม่สามารถให้ความเห็นหรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ได้ บางคนก็ถูกเดินทางออกนอกประเทศเป็นต้น
“ถึงเวลาที่เราจะร่วมรณรงค์กันจริง ๆ จัง ๆ ในการที่ว่าจะต้องไม่มีการฟ้องเพื่อปิดปากหรือฟ้องเพื่อไม่ให้มีการเรียกร้องสิทธิ” นางอังคณากล่าว
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวต่อว่านอกจากนายทุนหรือบริษัทที่ฟ้องร้องชาวบ้านแล้ว ภาครัฐซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องปกป้องสิทธิของประชาชนกลับเป็นคู่กรณีและโจทก์ฟ้องร้องประชาชนเสียเอง
“หลาย ๆ ครั้งบอกให้ฟ้องกันไปก่อนแล้วไปคุยกันในศาล แต่พอไปคุยกันศาล ชาวบ้านมักจะเสียเปรียบ เพราะฉะนั้นควรมีการเรียกร้องให้มีกฎหมายเพื่อทบทวนว่ากรณีไหนควรส่งฟ้อง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการปกป้องประโยชน์สาธารณะ” นางอังคณากล่าว
ขณะที่ นางรอกีเย๊าะ สะมะแอ เครือข่ายตนรักษ์เมืองเทพา จ.สงขลา กล่าวว่า การต่อสู้เรียกร้องสิทธิเพื่อปกป้องชุมชนกับภาครัฐนัั้นมีความยากลำบากมาก เนื่องจากภาครัฐไม่เคยฟังเสียงชาวบ้านเลย กลับฟังแต่เฉพาะนายทุน
“เสียงของพวกเราไม่มีพลังเลย เพื่อจะบอกนายกฯว่าเดือดร้อนอะไร ไม่มีพลังเลย เสียงดังเราไม่ดังพอ อยากจะบอกว่าให้นายกฯฟังชาวบ้านหลาย ๆ คนที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องย้ายออก ให้ฟังบ้างว่าข้อเรียกร้องของเรา เพียงแต่เราขอให้อยู่ในพื้นที่ อยู่เหมือนเดิม” นางรอกีเย๊าะกล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเครือข่ายตนรักษ์เมืองเทพาได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐเพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหลายครั้ง เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการที่มีการใช้ถ่านหินและเผาถ่านหินตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ภายในงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงทั้ง 20 คนได้มีการอ่านแถลงการณ์โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องได้ขอให้รัฐต้องเลิกข้อจำกัดต่าง ๆที่เป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงต่อการทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มาตรา 44, คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคำสั่งและกฎหมายอื่น ๆ โดยเฉพาะการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดสิทธิที่สำคัญเหล่านั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดกับสิ่งที่รัฐบอกว่าปรารถนาให้มีส่วนร่วมจากประชาชน