ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายสิทธิมนุษยชนและกลุ่มชาติพันธุ์รำลึกถึง 'พอละจี รักจงเจริญ' นักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวกะเหรี่ยง ซึ่งสูญหายครบ 4 ปี พร้อมเรียกร้องสังคมไทยตื่นตัว-ปกป้องสิทธิเหมือนกรณีล่าเสือดำและบ้านพักตุลาการรุกป่า

พอละจี รักจงเจริญ หรือ 'บิลลี่' หายตัวไปครบรอบ 4 ปีในวันนี้ (17 เม.ย.) หลังจากที่เขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมในความผิดเก็บของป่าและปล่อยตัวเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 แต่คดีไม่คืบหน้า แม้จะมีพยานหลักฐานซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่าบิลลี่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทำให้เครือข่ายชาวกะเหรี่ยงและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนร่วมออกแถลงการณ์รำลึกถึงการหายตัวไปของบิลลี่ และเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการให้ความเป็นธรรมต่อกรณีที่เกิดขึ้น

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แถลงผ่านทวิตเตอร์ แสดงความกังวลต่อการสืบสวนสอบสวนคดีของบิลลี่ที่ยังคงไม่คืบหน้า และ 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' หรือ AI องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่อย่างเป็นอิสระ เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ พร้อมเยียวยาครอบครัวของเขาและผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

แอมเนสตี้ฯ ย้ำว่าไทยจะต้องผลักดันให้มีกรอบการปฏิบัติและสถาบันทางกฏหมายป้องกันและเยียวยากรณีเกิดการสูญหายโดยไม่สมัครใจ เพราะที่ผ่านมาครอบครัวของบิลลี่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่ความล้มเหลวในการสอบสวนเพื่อหาตัวบิลลี่ ไปจนถึงความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายเพื่อเอาผิดผู้กระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย แม้ทางการไทยจะแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่การปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว กลับลดหย่อนมาตรการคุ้มครองเพื่อป้องกันการสูญหายของบุคคล และลดทอนมาตรการป้องกันทางกฎหมายที่สำคัญ ไม่ให้เกิดการละเมิดดังกล่าว

ดีเอสไอรับสอบสวนกรณี 'บิลลี่' เป็นคดีพิเศษ

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ออกแถลงการณ์ชี้แจงความคืบหน้าในการสอบสวนคดีบิลลี่ โดยระบุว่า ได้มีการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมบิลลี่ แต่ปล่อยตัวไปโดยไม่ได้ดำเนินคดี เข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ สำนักงาน ป.ป.ท. แล้ว โดยเรื่องอยู่ระหว่างการไต่สวน

ส่วนกรณีที่นางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาของบิลลี่ ยื่นเรื่องขอให้ดีเอสไอสืบสวนเกี่ยวกับการหายตัวไปของบิลลี่อีกทางหนึ่ง และขอให้รับเป็นคดีพิเศษ ได้มีการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างดีเอสไอกับตำรวจภูธรภาค 7 และหน่วยงานในพื้นที่ ปัจจุบันสืบสวนเสร็จแล้ว เห็นว่าการหายตัวไปอาจเกิดจากการกระทำผิดอาญา และคณะอนุกรรมการคดีพิเศษได้เสนอความเห็นว่าควรรับเป็นคดีพิเศษในการประชุมครั้งที่ผ่านมา

unnamed.jpg

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคดีพิเศษเห็นว่ายังขาดข้อมูลในส่วนที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำเนินการอยู่มาประกอบการพิจารณา และเนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบอำนาจการสอบสวน คณะกรรมการคดีพิเศษจึงมีมติให้ดีเอสไอไปดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนดังกล่าว และนำเสนอเพื่อประกอบการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อมีมติในครั้งต่อไป

ยกสิทธิป่าชุมชน 'คนอยู่กับป่า' เทียบกรณีบ้านพักตุลาการ

วันเดียวกัน เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงยังได้จัดงานเสวนา "รำลึก​ 4​ ปี​ บิลลี่พาปู่คออี้กลับบ้าน" ที่แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยมีตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมด้วย ทั้งนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา

ภายในวงเสวนาได้มีการเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งรัดการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายของประเทศไทย รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยเร็ว และผลักดันการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญาไปก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้เสนอด้วยว่า อยากให้สังคมไทยมีความตื่นตัวเรื่องการเรียกร้องความเป็นธรรมในคดีของบิลลี่ แบบเดียวกับที่มีการเรียกร้องความเป็นธรรมในคดีล่าเสือดำในป่าทุ่งใหญ่ รวมถึงปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในแบบเดียวกับที่มีการกดดันกรณีบ้านพักตุลาการถูกสร้างในเขตอุทยานที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: