ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเรียกร้องให้เกิดความสามัคคีกันในชาติ หลังการประท้วงขึ้นภาษีน้ำมันรุนแรงขึ้นและลุกลามเป็นการขับไล่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

นายเอ็ดวารด์ ฟิลิป นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเรียกร้องให้เกิดความสามัคคีกันในชาติ หลังการประท้วง 'เสื้อกั๊กเหลือง' ต้านการขึ้นภาษีน้ำมันทวีความรุนแรงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 แล้ว โดยนายฟิลิประบุว่า ไม่ควรมีภาษีอะไรที่จะมาทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติได้ ทุกฝ่ายต้องทำให้เกิดความสามัคคีกันในชาติผ่านการเจรจาและการทำงานร่วมกัน

นายฟิลิปยังกล่าวว่า การเจรจากับผู้ชุมนุมอย่างสงบจะต้องดำเนินต่อไป และนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะเสนอมาตรการสำหรับการเจรจากับผู้ชุมนุมต้นสัปดาห์นี้ แม้นายมาครงจะเคยประกาศแข็งกร้าวว่าเขาจะไม่ผ่อนปรนมาตรการขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน จนทำให้การประท้วงลุกลามเป็นการขับไล่นายมาครง

การชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ธ.ค.) มีผู้ประท้วงร่วมเดินขบวนประท้วงทั้งประเทศประมาณ 125,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ชุมนุมประมาณ 10,000 คนในกรุงปารีส ซึ่งเป็นจุดประท้วงที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด มีการทุบกระจกอาคาร เผารถยนต์และปล้นสะดมร้านค้าต่างๆ

กระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสเปิดเผยข้อมูลว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมสถานการณ์เกือบ 90,000 นาย ในกรุงปารีสมีเจ้าหน้าที่ 8,000 นาย พร้อมด้วยยานพาหนะติดอาวุธอีก 12 คัน มีผู้ชุมนุมเกือบ 1,000 คนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป มีผู้ประท้วงถูกยิงด้วยกระสุนยาง โดยมีผู้สื่อข่าวโดนลูกหลงไปด้วยอย่างน้อย 3 คน แต่การประท้วงเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ยังไม่รุนแรงเท่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวม 3 ราย

นายฮิว สกอฟิลด์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซีในกรุงปารีสระบุว่า รัฐบาลฝรั่งเศสค่อนข้างโล่งอกที่การประท้วงไม่รุนแรงเท่าที่เตรียมใจไว้ แม้จะยังมีความรุนแรงอยู่บ้างในกรุงปารีส แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่าที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์ใหม่ของตำรวจฝรั่งเศสที่นำตำรวจจำนวนมากออกมาควบคุมสถานการณ์ รีบยึดพื้นที่ และไม่ลังเลที่จะจับกุมผู้ก่อความรุนแรง

โพลถามความเห็นของชาวฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมาพบว่า แรงสนับสนุนของการชุมนุมเสื้อกั๊กเหลืองลดลงเรื่อยๆ จากสัปดาห์ที่มีการชุมนุม แต่ก็ยังสูงถึงร้อยละ 66 ขณะที่คะแนนนิยมของนายมาครงก็ตกลงเหลือประมาณร้อยละ 23 เท่านั้น

ประท้วง 'เสื้อกั๊กเหลือง' คืออะไร?

การชุมนุมครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นจากการจุดกระแสบนโซเชียลมีเดีย เพื่อต่อต้านการขึ้นภาษีน้ำมัน และได้รับการสนับสนุนจากคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย ตั้งแต่ฝ่ายอนาธิปไตย ฝ่ายซ้ายจัด ไปจนถึงฝ่ายขวาจัด รวมถึงคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองกลางๆ ซึ่งเป็นฝ่ายที่เคยเลือกนายมาครงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

การประท้วงครั้งนี้ถูกเรียกว่าเป็น การชุมนุม 'เสื้อกั๊กเหลือง' เนื่องจากผู้ชุมนุมสวมเสื้อเสื้อกั๊กเหลืองที่กฎหมายฝรั่งเศสระบุว่ายานพาหนะทุกคันจะต้องมีติดไว้ เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านมาตรการขึ้นภาษีน้ำมัน ซึ่งนายมาครงอธิบายว่า การขึ้นภาษีน้ำมันมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้ฝรั่งเศสเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น


รัฐบาลยอมถอยเรื่องภาษีน้ำมัน ทำไมยังชุมนุมต่อ?

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศว่าจะระงับแผนการขึ้นภาษีน้ำมัน รวมถึงประกาศคงค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันในปี 2019 ด้วย แต่นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจุบันการประท้วงนี้ได้ขยายไปเป็นความโกรธแค้นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลโดยรวม ทั้งเรื่องค่าครองชีพก็สูง และหลายคนก็ไม่พอใจนโยบายเศรษฐกิจโดยรวมของรัฐบาล มีการเรียกร้องขึ้นค่าแรง ลดภาษี ปรับปรุงสวัสดิการผู้สูงอายุ ไปจนถึงการเรียกร้องให้นายมาครงลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

คนที่ต่อต้านนายมาครงบางส่วนกล่าวว่า นายมาครงอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่เข้าใจประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในเมือง ซึ่งต้องพึ่งพารถยนต์ หลายคนมองว่ารัฐบาลของนายมาครงผลักคนชนบทให้ไปเป็นคนชายขอบ ถึงขั้นเรียกนายมาครงว่าเป็น 'ประธานาธิบดีของคนรวย'

ที่มา : BBC, France24

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: