ไม่พบผลการค้นหา
"เรืองไกร" ร้องอัยการสูงสุด ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีมีการกล่าวหานายกฯ กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ จากปมถวายสัตย์ฯ และการชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือกล่าวหาว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ กรณี ไม่ได้กล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2560มาตรา 161 และไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 162 นั้น

นายเรืองไกร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกรณีที่เข้าลักษณะการกระทำที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติบังคับไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 161 และ 162 แล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “...คณะรัฐมนตรี...ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ...” และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ...การกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ...การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้” 

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้”

และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” 

นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ประกอบรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ซึ่งถือเป็นประเพณีการปกครอง จะเห็นได้ว่า การกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และ 162 ดังกล่าว อาจเข้าข่ายขัดต่อมาตรา 3 วรรคสอง และใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง  

นายเรืองไกร กล่าวเสริมว่า กรณีดังกล่าว หากพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คำวินิจฉัยที่ 6-7/2551 คำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 คำวินิจฉัยที่ 2/2562 และคำวินิจฉัยที่ 3/2562 เป็นต้น จะเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่ง จะปล่อยไป มิได้

นายเรืองไกร จึงเห็นว่า เพื่อให้การกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และ 162 ซึ่งยังคงอยู่ ต้องสิ้นผลไป จึงต้องทำหนังสือร้องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว โดยจะไปยื่นหนังสือที่สำนักงาน อสส. ที่ศูนย์ราชการ อาคาร A ในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 เวลา 10.30 น.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :