ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ศาลอินโดนีเซียกลับคำตัดสินลงโทษจำคุกเด็กหญิงวัย 15 ปีที่ทำแท้งเพราะถูกพี่ชายแท้ๆ ข่มขืน โดยระบุว่าแม้การทำแท้งจะผิดกฎหมาย แต่กรณีนี้ต้องถือเป็นข้อยกเว้น

สถาบันเพื่อการปฏิรูปกฎหมายอาญา (ICJR) และมูลนิธิกฎหมายแห่งสหพันธ์ความยุติธรรมเพื่อผู้หญิงอินโดนีเซีย (LBHAPIK) ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงศาลเขตมูอารา บูลิยันของอินโดนีเซีย เมื่อ 21 ก.ค. เพื่อให้ศาลกลับคำตัดสินลงโทษจำคุก 6 เดือนแก่เด็กหญิงวัย 15 ปีที่ทำแท้งขณะมีอายุครรภ์ 8 เดือน หลังสืบพบว่าเด็กหญิงคนดังกล่าวตั้งครรภ์เพราะถูกพี่ชายแท้ๆ ของตัวเองข่มขืน ขณะที่แม่ของเด็ก กำลังถูกพิจารณาคดีในข้อหาช่วยเหลือการทำแท้ง ส่วนพี่ชายของเด็กหญิงคนดังกล่าว เป็นวัยรุ่นอายุ 17 ปี ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี

เครือข่ายนักกฎหมายทั้งสองแห่งระบุว่า การตัดสินลงโทษเหยื่อที่ถูกข่มขืนเป็นผลจากช่องโหว่ของกฎหมายทำแท้งของอินโดนีเซียที่กำหนดว่าผู้ถูกข่มขืนจะทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมายต่อเมื่อเด็กในครรภ์อายุไม่เกิน 40 วัน แต่ในความเป็นจริงผู้ที่ถูกข่มขืนมักจะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์หลังจากนั้น จึงไม่สามารถทำแท้งได้ เพราะเข้าข่ายผิด กม. และทางเครือข่ายฯ เห็นว่าจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง 

นอกจากนี้ กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ตกเป็นเหยื่อในคดีข่มขืนยังเข้าข่ายละเมิดซ้ำ เพราะมักจะไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องปรับแก้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เพราะขั้นตอนทางกฎหมายเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหยื่อในคดีข่มขืนเลือกที่จะไม่แจ้งความใดๆ

ขณะที่ 'ซูไบดาห์' นักกิจกรรมรายหนึ่งที่สนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายทำแท้ง ให้สัมภาษณ์เดอะจาการ์ตาโพสต์ สื่อของอินโดนีเซีย ระบุว่าการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนอินโดนีเซียควรต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน เพื่อให้พลเมืองมีความรู้เท่าทันจนสามารถป้องกันหรือหาทางรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการข่มขืนภายในครอบครัว

ส่วนเดอะการ์เดียน สื่อของอังกฤษ รายงานว่า การทำแท้งเถื่อนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงอินโดนีเซียเสียชีวิตในแต่ละปี โดยอัตราผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำแท้งคิดเป็นร้อยละ 30 ของสถิติการเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์หรือระหว่างทำคลอดทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยอ้างอิงผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ที่มา: Jakarta Post/ The Guardian

ภาพโดย: Harits Mustya Pratama on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: