ครั้งหนึ่งบิลล์บอร์ด (Billboard) เคยนำเสนอข้อมูลว่า ทุกๆ ปีมีคนมากกว่า 32 ล้าน เดินทางเข้าร่วมสนุกตามเทศกาลดนตรีในสหรัฐฯ อย่างน้อยหนึ่งแห่ง ซึ่งปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นตามรายงานประจำปี 2016 ของบริษัทอะลูมป้า (Aloompa) ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมใหม่ทางด้านดนตรี ซึ่งระบุว่า 51 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันสนใจเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงดนตรีสด
อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมา เริ่มเกิดการเรียกร้องให้ผู้จัดเทศกาลดนตรีแสดงรายชื่อศิลปิน ซึ่งต้องคำนึงเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เพราะในปี 2015 เคยเกิดเหตุการณ์โปสเตอร์ประจำเทศกาลดนตรีหนึ่งกลายเป็นไวรัลบนอินเทอร์เน็ต หลังจากแสดงรายชื่อศิลปินออกมาแล้วมีมือบอนลบชื่อศิลปินชายออก เพราะแสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศชัดเจนสุดๆ และปัจจุบันเทศกาลดนตรีต่างๆ บนโลกก็มีศิลปินหญิงร่วมแสดงน้อยมาก
นอกจากนั้น รายงานการประเมินสถานการณ์ผู้หญิงในอุตสาหกรรมดนตรี ตั้งแต่ปี 2011-2016 ของมูลนิธิ PRS ยังเปิดเผยว่า 78 เปอร์เซ็นของผู้หญิงในอุตสาหกรรมดนตรีเคยผ่านประสบการณ์การไม่ให้เกียรติทางเพศ ด้วยเหตุนี้ ประเด็นเรื่องการส่งเสริมพื้นที่ที่ปลอดภัย และการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมดนตรี จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้เทศกาลดนตรีเฟเมนิสต์เติบโตขึ้น
ความไม่สมดุลทางเพศกำลังเติบโต
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พิทช์โฟร์ค (Pitchfork) สื่อออนไลน์ของคนอเมริกัน ที่เป็นกระบอกเสียงให้กับวงการดนตรีอิสระ เปิดตัวรายงานพิเศษเกี่ยวกับความย่ำแย่ลงของเทศกาลดนตรี ซึ่งสำรวจกระบวนการเกิด-ดับ ของเทศกาลดนตรีทั่วโลก ก่อนนำข้อมูลไปวิเคราะห์ผลออกมาหลายด้าน เช่น การครอบงำ ความซ้ำซาก แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘ความสมดุลทางเพศ’ โดยทางพิทช์โฟร์คระบุว่า ภาพรวมการจองตั๋วเข้าร่วมเทศกาลดนตรีในปี 2017 ยังห่างไกลจากความเป็นกลางทางเพศ จากจำนวนการแสดง 996 ครั้ง แบ่งเป็นเพศชาย 74 เปอร์เซ็นต์ เพศหญิง 14 เปอร์เซ็นต์ และอีก 12 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มผสมชาย-หญิง หรือไม่จำกัดกรอบทางเพศ
นอกจากนั้น ผลการสำรวจระบุด้วยว่า เมื่อลองจำแนกเพศผู้เข้าร่วมเทศกาลดนตรีทั่วโลก เทศกาลดนตรีพิคกาธอน (Pickathon), พิทช์โฟร์ค (Pitchfork) และคารูนดินยา (Karoondinha) ได้คะแนนความเป็นกลางทางเพศสูงสุด ส่วนเทศกาลดนตรีบันเบอร์รี (Bunburry), สลอสส์ (Sloss) และแฮงเอาท์ (Hangout) ได้คะแนนต่ำสุด โดยในเทศกาลบันเบอร์รี และสลอสส์ มีผู้หญิงแสดงตัวเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวของพิทช์โฟร์คดูเหมือนจะไปสอดคล้องกับการศึกษาของหนังสือพิมพ์อเมริกันฮัฟฟิงตัน โพสต์ (Huffington Post) ในปี 2016 ที่พบว่า เทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อัลตร้า (Ultra), อิเล็กทริก ซู (Electric Zoo) และอิเล็กทริก ฟอเรสต์ (Electric Forest) มีความไม่สมดุลในเรื่องเพศสูงกว่าเทศกาลดนตรีประเภทอื่นๆ
ขณะเดียวกัน 18 ใน 20 ของศิลปินยอดนิยมบนเวทีบิลล์บอร์ด มิวสิก ประจำปี 2017 เป็นผู้ชาย ส่วนศิลปินหญิง หรือเพศอื่นๆ หายหน้าหายตาไปจากชาร์ต และไร้วี่แววการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาใหญ่ของเวทีแกรมมี่ 2018 ด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่กำลังลุกลามไปสู่การบริการในรูปแบบสตรีมมิง โดยตามรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลของมีเดีย รีเสิร์ช (MIDiA Research) ในปีนี้พบว่า จากจำนวนบริการฟังเพลงแบบสตริมมิงของ 30 บริษัทชื่อดังระดับโลก มีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของแทร็กเท่านั้นที่เป็นศิลปินเดี่ยวผู้หญิง
เรื่องเพศจะไม่เงียบอีกต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทศกาลดนตรีเป็นเหมือนพื้นที่หลบหนีจากชีวิตประจำวัน เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของผู้ใหญ่ ทุกคนสามารถปล่อยตัวปล่อยใจให้อิสระ และพักผ่อนไปกับเสียงดนตรีท่ามกลางกลุ่มคนไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน แต่ด้วยกฎระเบียบการดื่มสุรา ยาเสพติด และมาตรการรักษาความปลอดภัยที่หละหลวม ส่งผลให้เทศกาลดนตรีต่างๆ เริ่มกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พฤติกรรมน่ารังเกียจ เช่น การทำร้ายร่างกาย และการคุกคามทางเพศ โดยบนเว็บไซต์เอสบีเอส (SBS) สื่อออนไลน์สัญชาติออสเตรเลีย เปิดเผยเรื่องราวของเหยื่อที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในเทศกาลดนตรีออสซี่เอาไว้ว่า
“มันเป็นการเข้าร่วมเทศกาลดนตรีครั้งแรกของฉันในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง แต่แล้วก็มีผู้ชายคนหนึ่งเริ่มเข้ามาบดขยี้ร่างกายของฉันจากข้างหลัง และฉันพยายามผลักเขาออกไปแบบไม่ต้องเผชิญหน้า เพราะไม่ต้องการทำให้เขาโกรธ ทว่าเขากลับยิ่งเข้ามาพูดคุย จูบ กอด และเอามือล้วงเข้าไปในชุดชั้นใน กระโปรง จนถึงช่องคลอด ซึ่งฉันไม่รู้จะตอบโต้การกระทำดังกล่าวอย่างไร”
ในอดีตพฤติกรรมน่ารังเกียจตามเทศกาลดนตรีมักปกปิดไว้ไกลสายตาสาธารณชน และผู้ตกเป็นเหยื่อเองก็ไม่กล้าออกมาแสดงตัว เพราะหวาดกลัว และอับอาย แต่ปัจจุบันการเชื่อมต่อกันบนโลกดิจิทัลก็เข้ามาช่วยปูทางให้ผู้ตกเป็นเหยื่อหลายคนออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั่วโลก อย่างในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แคมเปญร้อนแรงที่สุดของปี #MeToo ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมสุดสำคัญของโลก โดยผู้ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ เริ่มออกมาเล่าประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศของตัวเองบนโลกออนไลน์ จนต่อมานิตยสารไทม์ยังยกให้เดอะ ไซเลนซ์ เบรกเกอร์ (The Silence Breakers) หรือกลุ่มคนที่ลุกออกมาต่อต้านการคุกคามเป็นบุคคลแห่งปี 2017
ช่วงปีนี้ มีข่าวนักดนตรีหลายคนตัดสินใจแยกทางจากสมาชิกที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ เช่น มาริลิน แมนสัน (Marilyn Manson) ที่ประกาศผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เขาตัดสัมพันธ์กับมือเบสจอร์ดี ไวต์ (Jeordie White) ที่ไปพัวพันกับการข่มขืน และใกล้ตัวสุดๆ เมื่อแมตต์ มันดานิลี (Matt Mondanile) อดีตมือกีต้าร์ของวงดนตรีอินดี้ป๊อปเรียล เอสเตท (Real Estate) ที่กำลังวางแผนมาเปิดคอนเสิร์ตวงใหม่ดักเทลส์ (Ducktails) ในประเทศไทยต้องล่มลงกลางทาง เพราะศิลปินเคยละเมิดทางเพศ ทำให้ทางผู้จัดไม่ต้องการสนับสนุนบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ที่ผ่านมามีนักดนตรีจำนวนไม่น้อยสังเกตเห็นการล่วงละเมิดเกิดขึ้นระหว่างคอนเสิร์ตของพวกเขา ทำให้ต้องหยุดการแสดงไว้ชั่วคราว เพื่อเป็นการต่อต้านพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม อาทิเช่น เมื่อเดือนก่อน เดรก (Drake) แรปเปอร์ชื่อดัง ต้องหยุดการแสดงคอนเสิร์ตในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อสนทนากับชายหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังพยายามรูปคลำเรือนร่างของผู้หญิงอยู่ และฝูงชนก็ส่งเสียงเชียร์การกระทำของแรปเปอร์หนุ่ม จนเขาได้รับการยกย่องบนโลกออนไลน์อยู่พักใหญ่ และทางด้านผู้เข้าร่วมเทศกาลต่างออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านการคุกคามทางเพศในอุตสาหกรรมดนตรีที่เกิดขึ้นบ่อยจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ
สร้างปรากฏการณ์เทศกาลดนตรีเฟเมนิสต์
เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทางผู้จัดเทศกาลดนตรี บราวัลล่า (Bravalla) ประกาศยกเลิกเทศกาลประจำปี 2018 ในเมืองนอร์โคปิง ประเทศสวีเดน หลังจากตำรวจได้รับแจ้งเหตุคดีข่มขืน 5 ราย และลวนลามอีก 12 ราย ในเทศกาลครั้งล่าสุด รวมด้วยเหตุละเมิดทางเพศอีก 32 ราย ในเทศกาลดนตรีเมืองคาร์ลสตัด โดยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นผู้หญิงอายุประมาณ 18 ปี และอายุต่ำกว่า 15 ปีหลงมาอีก 3 คน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังไปทั่วโลก จนกระทั่งหนุ่มๆ ในวงดนตรีร็อคจากอังกฤษ มัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ (Mumford & Sons) ซึ่งร่วมแสดงในเทศกาลดนตรีบราวัลล่า ต้องออกมาประกาศผ่านเฟซบุ๊คว่า พวกเขาจะไม่ร่วมแสดงในเทศกาลดนตรีบราวัลล่าอีก หากทางตำรวจ และทางผู้จัด ไม่รับประกันความปลอดภัยในการล่วงละเมิดทางเพศ
ต่อมาไม่นาน เอมม่า คนีซ์คาร์ (Emma Knyckare) ผู้จัดรายการวิทยุ และนักแสดงตลกสัญชาติสวีเดน ออกมาทวีตถามความคิดเห็นทุกคนว่า
คุณคิดยังไงกับการวางแผนจัดเทศกาลดนตรีคูลๆ ที่ปราศจากผู้ชาย!
จากนั้นความคิดของเธอกลายเป็นไวรัลที่แพร่กระจายออกไปรวดเร็ว และกว้างขวาง แถมยังได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน แม้กระทั้งทีมผู้จัดเทศกาลดนตรีบราวัลล่าเองก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ส่งผลให้ต่อมาเธอยืนยันว่า จากความช่วยเหลือของทุกฝ่าย เทศกาลดังกล่าวจะเข้ามาแทนที่บราวัลล่า เป็นเทศกาลดนตีร็อคปราศจากผู้ชายครั้งแรกในสวีเดน เกิดขึ้นแน่นอนในช่วงซัมเมอร์ปี 2018 และจะเป็นคำตอบอันยิ่งใหญ่สำหรับปัญหาการคุกคามทางเพศ
“ช่วงฤดูร้อนหน้า ประเทศสวีเดนจะมีเทศกาลดนตรีร็อคที่ปราศจากผู้ชาย ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีการพบกันระหว่างผู้จัดงานที่มีความสามารถ และผู้นำโครงการ เพื่อจัดตั้งทีมงานในการทำเทศกาล” คนีซ์คาร์ทวีต
พื้นที่ของผู้หญิงในเทศกาลดนตรี
ในปี 2016 เทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยแกลสตันบูรี (Glastonbury) เคยเปิดตัวเดอะ ซิสเตอร์ฮูด (The Sisterhood) โซนพื้นที่ที่ปลอดภัยของบรรดานักดนตรีหญิง และแฟนๆ ที่ต้องการชมการแสดงสด เรียนเต้นรำ หรือร่วมกิจกรรมเวิร์คชอป ส่วนทางด้านเทศกาลดนตรีอิเล็คทริค ฟอเรสต์ (Electric Forest) ก็เคยสร้างสรรค์แคมป์ชื่อว่า ป่าของเธอ (Her Forest) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างชุมชนของผู้หญิงภายในเทศกาลดนตรี นอกจากนั้น มาเธอร์ชิป (Mothership) ก็เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสตรีนิยมในรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ นำเสนอศิลปะ ดนตรี และการฝึกอบรมร่วมกับมูลนิธิเมแกน แอนด์ ซารา (Tegan and Sara) ซึ่งสนับสนุนกลุ่มวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ
วีนัส เฟสท์ (Venus Fest) เป็นเทศกาลดนตรีสตรีนิยมใหม่ในเมืองโตรอนโต รัฐออนแทรีโอ สหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกับศิลปินหญิง และศิลปินที่เป็นไม่จำกัดกรอบทางเพศ โดยมีมาดาม คานธี ( Madame Gandhi) นักกิจกรรมสตรีนิยม และนักดนตรีหญิง เป็นผู้ดำเนินการเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา หรือเทศกาลดนตรีเลนเวย์ (Laneway) ออกมาลงนามในแคมเปญต่อต้านการคุกคามทางเพศ พร้อมเปิดบริการสายด่วน 1800 รายงานพฤติกรรมไม่เหมาะสมทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในเทศกาลดนตรี โดยคนรับโทรศัพท์จะประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่สนามออกไปช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ส่วนศิลปินหญิงแอนนา บูลบรูก (Anna Bulbrook) ก็ได้เปิดตัวเกิร์ลสคูล (Girlschool) ซึ่งเป็นกลุ่มนักดนตรีหญิงในลอสแอนเจลิส ที่สร้างสรรค์เทศกาลดนตรีสตรีนิยม และเพิ่มรายได้ให้กับร็อคแอนด์ โรลล์ แคมป์ ฟอร์ เกิร์ล (Rock 'n' Roll Camp for Girls) ค่ายเพลงไม่หวังผลกำไร การแสดงครั้งที่ 2 ของพวกเธอเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี โดยได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์เสื้อผ้าสตรีเนสตี้ แกล (Nasty Gal) ขณะที่แพลตฟอร์มยังร่วมมือกับทอมส์ (TOMS) และโซไซตี้ ซิก (Society 6) เพื่อส่งเสริมให้ศิลปินผู้หญิง และศิลปินผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้ไปแสดงที่เทศกาลดนตรีเซาท์ บาย เซาต์เวสต์ (SXSW) นอกจากนั้น เทศกาลวันเดอร์วูแมน (Wonder Woman Festival) ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ยังเน้นการพูดคุย การแสดง และกระตุ้นการปกป้องตนเองจากการคุกคามในกลุ่มผู้หญิง เปิดตัวไปเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา
“มันคงเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ถ้าวันหนึ่งเทศกาลดนตรีโคเชล่าเสนอไลน์อัพที่มีศิลปินหญิง-ชายเท่ากันแบบครึ่งๆ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ยังมีพื้นที่ภายในองค์กรที่เราสามารถสร้างเรื่องราว และเส้นทางเดินใหม่ๆ ได้อีกเล็กน้อย เพื่อให้ผู้หญิงกลายเป็นหลักสำคัญในสังคม” แอนนา บูลบรูก ผู้ก่อตั้งเกิร์ลสคูล กล่าว
การสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม
เกิร์ล อะเกนสต์ (Girls Against) กลุ่มวัยรุ่นสตรีนิยม ที่พยายามต่อสู้กับการล่วงละเมิดทางเพศในเทศกาลดนตรีต่างๆ มาตลอด ทำให้มีผู้ติดตามบนทวิตเตอร์มากกว่า 18,000 คน และอินสตราแกรมอีก 6,000 คน แม้ไม่มากเท่าเหล่าเซเลบริตี้ แต่พวกเธอก็พยายามเปิดวงสนทนา และส่งต่อความรู้แก่คนทั่วโลก เพื่อให้ตระหนักในปัญหาความรุนแรงทางเพศอยู่เสมอ
ในเดือนพฤษภาคม 2017 เกิร์ล อะเกนสต์ กลายเป็นพันธมิตรของ 25 เทศกาลที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร โดยเข้าไปปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราผ่านแคมเปญพิเศษ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสมาคมเทศกาลอิสระ ( Association of Independent Festivals) ประกอบกับได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านความรุนแรงทางเพศในอังกฤษ และเวลล์ (Rape Crisis England and Wales)
ตลอด 24 ชั่วโมง ของวันที่ 8 พฤษภาคม 2017 เทศกาลดนตรีต่างๆ ในสหราชอาณาจักร เช่น เบสติวัล (Bestival) พาร์คไลฟ์ (Parklife) และซีเคร็ต การ์เด้นท์ ปาร์ตี้ (Secret Garden Party) ตัดสินใจระงับการใช้งานบนเว็บไซต์ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณ และแสดงคำมั่นสัญญาว่า พวกเขาจะเดินหน้ายุติความรุนแรงทางเพศในเทศกาลดนตรี ขณะเดียวกันก็มีภาพกราฟิกชิ้นหนึ่งแชร์กันไปล้นหลามบนโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็กด้วยว่า #saferspacesatfestivals ซึ่งกระตุ้นให้ผู้สนับสนุนเทศกาลดนตรีหันมาทำความเข้าใจ
การเคลื่อนไหวครั้งนั้นเสนอประเด็นสำคัญ 3 ข้อคือ ไม่อดทนอดกลั้นต่อกรณีข่มขืน อย่าแตะเนื้อต้องตัวหากไม่ได้รับอนุญาต และอย่าเป็นผู้ยืนดูอยู่เฉยๆ พร้อมยืนข้อเสนอให้เทศกาลดนตรีทั้งหลายบนโลกควรฝึกอบรมพนักงานทุกคนเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรง และความเสมอภาคทางเพศ โดยกำหนดสวัสดิการแก่ผู้ประสบภัยให้ชัดเจน
การพยายามแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมดนตรี ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ผลักดันให้เทศกาลเฟเมนิสต์เติบโตขึ้นเป็นครั้งแรก และผู้หญิงทุกคนจะได้ออกมาตะโกนแบบสุดเสียง