ไม่พบผลการค้นหา
อดีตบรรณาธิการนิตยสาร 'เตอร์กิชรีวิว' ของตุรกีขอลี้ภัยในอังกฤษเพราะผลพวงของวิกฤตการณ์ทางการเมือง 'คาริม บัลซิ' คุยกับทีมวอยซ์ออนไลน์ถึงปัญหาที่มีเค้าจะคงอยู่ แม้จะผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว

“หลักการทำงานอันหนึ่งของผมสมัยที่เป็นบรรณาธิการก็คือ ถ้าไม่ได้ทำข่าวสักสิบห้าวัน คุณจะต้องใช้เวลาอีกสิบห้าวันเพื่อไล่ตามข่าวให้ทัน” คาริม บัลซิ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร 'เตอร์กิชรีวิว' เล่า  

“ตอนนี้ผมไม่ได้ทำงานข่าวมากว่าสองปีแล้ว ถึงแม้ผมจะอ่านข่าวทุกวัน แต่การอ่านแบบคนอ่าน กับการอ่านแบบคนทำข่าวมันต่างกัน” ด้วยเหตุนั้น บัลซิบอกว่า เขาต้องค้นหาเส้นทางชีวิตใหม่

คาริม บัลซิ เป็นหนึ่งในบรรดาคนทำข่าวที่ตกเป็นเป้าหมายหลังจากเหตุการณ์ที่มีผู้พยายามก่อรัฐประหารแต่ล้มเหลวเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2016 ในตุรกี จากนั้นเป็นต้นมา มีนักข่าวหลายคนถูกจับและคุมขัง บ้างถูกดำเนินคดี เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ถูกจับกุมที่รายงานข่าวระบุว่ามีกว่า 50,000 คน หลายองค์กรที่จับตาปัญหาเสรีภาพสื่อระบุว่า ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่จับกุมคุมขังนักข่าวมากที่สุด โดยเฉพาะ Committee for Protection of Journalists หรือซีพีเจ ที่ได้ออกรายงานว่า ตุรกีมีนักข่าวที่ถูกคุมขังมากที่สุดในโลกคือ 73 คน ขณะที่จีนอันดับสองมี 40 คน ซึ่งเป็นตัวเลขของปี 2017 

อันที่จริงแล้ว ชะตากรรมของนักข่าวตุรกีไม่ได้มีแค่ที่ต้องลงเอยในเรือนจำ หลายคนหนีออกนอกประเทศ เช่น คนอย่างคาริม บัลซิ

คาริม บัลชิ-Kerim Balci-สื่อตุรกี-ลี้ภัย-รัฐสภาอังกฤษ

เขาให้สัมภาษณ์ในสำนักงานของสถาบันเตอร์กิชซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอนและไม่ไกลจากรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็น “mother of democracy” มารดาแห่งประชาธิปไตย แต่ก็มีบางเวลาที่เขาผิดหวังกับประเทศเจ้าของสถาบันแห่งนี้ โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้ที่อังกฤษเชิญผู้นำตุรกี คือ ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ไปเยือน 

ภายใต้ผู้นำตุรกีคนนี้เองที่บัลซิบอกว่า เขากับผู้คนอีกมากต้องหนีออกนอกประเทศ 

คาริม บัลชิ-Kerim Balci-สื่อตุรกี-ลี้ภัย

บัลซิเล่าว่า นักข่าวที่ถูกจับและถูกดำเนินคดีหลังเดือน ก.ค.ปี 2016 ส่วนใหญ่จะถูกกล่าวหาในข้อหาว่าสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งรัฐบาลตุรกีหมายถึงกลุ่มกูเลนที่พวกเขาเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหาร ในขณะที่กลุ่มกูเลนบอกว่า เป้าหมายของกลุ่มคือทำงานเพื่อสร้างสันติภาพ แต่ในจังหวะนี้ คำอธิบายดังกล่าวดูจะไม่มีผล และบรรดาผู้มีชื่อเกี่ยวข้องกับกลุ่มกูเลนในตุรกี รวมทั้งบัลซิด้วย ต่างเผชิญชะตากรรมอันยากลำบาก นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญหลายคนถูกพิพากษาจำคุกหลายปี 

บัลซิเองบอกว่าเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสนับสนุนการก่อความไม่สงบด้วย ก่อนหน้าที่เขาจะหนีออกจากประเทศ สำนักงานของเขาถูกรัฐบาลยึด และปัจจุบันกลายเป็นหนังสือในค่ายโปรรัฐบาลไป เป็นที่รู้กันว่านิตยสารของเขาและบรรดาสื่อที่ถูกจับถูกยึดนั้นเคยเป็นกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทั้งสิ้น ข้อมูลจากองค์กรเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อระบุว่า ขณะนี้สื่อส่วนใหญ่มีท่วงทำนองสนับสนุนรัฐบาล และต่างถูกซื้อหรือเจ้าของเปลี่ยนมือไปเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่มีสายโยงใยกับรัฐบาล

อดีตบรรณาธิการเตอร์กิชรีวิวบอกว่า สมาชิกครอบครัวของเขาเองที่ต่างมีธุรกิจต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเขามีเพื่อนร่วมอาชีพอีกสิบคนที่หลบหนีไปอยู่ในอังกฤษด้วย บัลซิเชื่อว่า ถ้าวันนี้เขาเดินทางกลับตุรกี เขาจะถูกจับกุมและคุมขังเช่นเดียวกันกับอีกหลายคน บัลซิกำลังอยู่ในกระบวนการยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองกับอังกฤษ เขายังคงเขียนบทความเพื่อลงตีพิมพ์ในที่ต่างๆ หรือไปพูดกับคนกลุ่มต่างๆ เช่นนักการเมืองอังกฤษที่สนใจปัญหาการเมืองตุรกีเพื่อนำข้อมูลอีกด้านไปเผยแพร่ 

“ผมคิดว่าตัวเองยังถือว่าโชคดี เพราะผมยังสามารถเขียนได้ แม้จะไม่มีคนจ่ายเงินให้ก็ตาม” เขาเล่า 

บัลซิบอกว่า คนทำข่าวหลายคนที่อยู่ในเรือนจำในตุรกีต่างก็ต้องการจะเขียนหนังสือเพื่อบอกเล่าเรื่องราว แต่มันเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละคนได้รับแจกกระดาษและดินสอน้อยมาก ดังนั้นเขาถือว่ายังโชคดีกว่ามากนักที่ยังคงเขียนได้ 

AFP=สื่อตุรกี-เสรีภาพสื่อ-Free Press-Turkey

“แต่การที่ผมไม่สามารถจะเขียนลงในหนังสือพิมพ์ที่มีคนอ่านเป็นล้าน มีคนเข้าไปตอบโต้ถกเถียงด้วยเป็นจำนวนมาก มันก็เป็นความเจ็บปวดอยู่ดี แต่ถึงอย่างไร วันเวลาเหล่านั้นมันจะไม่กลับมาอีกแล้ว มันไม่ใช่ว่าวันหนึ่งข้างหน้าคุณจะสามารถกลับไปซื้อหนังสือพิมพ์คืนมา แล้วเรียกคนอ่านกลับมาได้อีก สิ่งที่ทำไปแล้วมันถอยหลังกลับไม่ได้ ทักษะที่หดหายไปมันก็จะไม่มีอะไรจะมาทดแทน” 

สถานการณ์บีบให้ต้องคิดใหม่ “เมื่อก่อน ในช่วงที่กำลังรุ่ง ผมต้องดูแลคนทำงานหลายร้อยคน มีงบหลายล้านดอลลาร์ แต่มาตอนนี้ผมกำลังจะต้องเริ่มต้นใหม่”


สื่อเลือกข้าง

ดูเหมือนอดีตบรรณาธิการผู้นี้จะหมดใจไปไม่น้อยกับปฏิกิริยาของสาธารณะในตุรกีกับวิกฤติประชาธิปไตยในประเทศ การเมินเฉยของสาธารณะต่อการปราบปรามประชาธิปไตยส่งผลกระทบต่อความคิดของบัลซิ เขารู้สึกว่าผู้คนเฉยเมย “คนที่สนใจก็กลัว ส่วนคนที่เหลือไม่สนใจเลย”  


“ผมต้องถามใจตัวเองก่อนจะตัดสินใจเดินหน้าทำงานเพื่อรับใช้สาธารณะอีก ในขณะที่ตัวเองและเพื่อนร่วมวิชาชีพต้องเจอกับความยากลำบาก ซึ่งที่จริงคนที่เสียหายคือสาธารณะ ไม่ใช่สื่อ”


แต่บัลซิพบว่าเขายังรักชอบวิชาชีพนี้และยังคงต้องการทำงานต่อไป เขาจึงยังคงเขียนบทความและตีพิมพ์บทความของเขาในหน้าเว็บไซต์

การต้องลี้ภัย การสูญเสียงานอาชีพและทุกสิ่งที่สร้างไว้เป็นความเจ็บปวด แต่การอยู่นอกบ้านก็ทำให้เขาได้ทบทวนตัวเอง บัลซิบอกว่าเมื่อมองย้อนกลับไป เขาเห็นชัดว่าสื่อตุรกีก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ในสภาพที่สังคมแตกแยก สื่อก็ปล่อยให้ตัวเองลื่นไหลไปกับความแตกแยกอันนั้นด้วย 


“ก่อนที่จะมีการก่อรัฐประหาร ในกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลก็จะมีแต่พวกวิจารณ์รัฐบาลเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับ ส่วนในกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ก็จะมีแต่ความเห็นสนับสนุนรัฐบาลเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับ ประเทศแยกออกเป็นสองขั้ว สื่อก็แยกเป็นสองซีก สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลายเป็นจุดจบของงานสื่อสาร”


เขาเชื่อว่าสื่อนั้นต้องมีความเห็นของตัวเองอยู่แล้ว สื่อที่ไม่มีความเห็นเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่พวกเขาต้องรู้ตัว “ถ้าคุณพร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่คนที่อยู่ในค่ายของคุณบอก คุณก็ติดคุกไปแล้วเรียบร้อย คือปากกาของคุณมันไม่เป็นอิสระ” เขายอมรับว่านิตยสารของเขาเองก็ไม่ได้เป็นอิสระจากทัศนะเช่นนั้นเหมือนกัน 


“เราเองก็ไม่ได้เป็นกลาง เราวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา เราต้องการที่จะตำหนิวิจารณ์ตลอดเวลา ในขณะที่สื่อฝ่ายเชียร์รัฐก็เป็นไปอีกทาง”


แม้ว่าหลายคนในกลุ่มดังกล่าวจะทำเพื่อความอยู่รอดก็ตาม ทั้งหมดนั้นทำให้คุณภาพของสื่อลดลง เขาเห็นว่าปัญหานี้ยากจะแก้ไขได้และจะต้องใช้เวลาอีกชั่วคนทีเดียวกว่าจะรื้อฟื้นให้การศึกษาคนทำสื่อในเรื่องคุณค่างานข่าวอย่างที่ควรจะเป็น

“และที่พูดนี่ผมหมายถึงตัวเองด้วย ผมใช้เวลานานมากกว่าจะกลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง คือกลับมาเป็นคนทำสื่อที่เป็นกลางได้อีกครั้ง ผมเจ็บปวดและผมต้องใช้เวลานานกว่าจะมองเห็นภาพได้ เพราะว่าตัวผมได้เข้าไปอยู่ในภาพนั้นเสียแล้ว” 

คาริม บัลชิ-Kerim Balci-สื่อตุรกี-ลี้ภัย-เรเจป ทายยิป แอร์โดกัน

ในเวลานี้เขาบอกว่า สื่อทั้งสองค่ายในตุรกีล้วนมีปัญหา “สื่อที่ค้านรัฐบาลเป็นได้แค่กระดานข่าวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสื่อที่โปรรัฐบาลก็เป็นกระดานข่าวไปทั้งหมด” ข้อดีอันเดียวที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา บัลซิเห็นว่า มันคือโอกาสที่ทำให้เขาเริ่มเข้าใจคนที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน “เราเจ็บก็จริง แต่พวกเคิร์ดเจ็บกว่าเรา” ในฐานะคนทำสื่อและในฐานะบรรณาธิการ เขาเคยนำเสนอเรื่องราวและปัญหาของคนเชื้อสายเคิร์ดที่อยู่ในตุรกีมามาก แต่ไม่เคยที่จะเข้าใจความรู้สึกและชะตากรรมของพวกเขาเหล่านั้นเท่าในเวลาปัจจุบัน 


“มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เราต้องเจอประสบการณ์นั้นด้วยตัวเองกว่าที่จะเข้าใจ รู้สึกและมีความเห็นใจ”


ความเป็นจริงของชีวิตในลอนดอนอันเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแสนแพงน่าจะทำให้เขาต้องคิดหนัก บัลซิบอกว่า ขณะนี้เขาทำงานเพื่อเลี้ยงชีพไม่ได้ ทำได้เพียงอาสาสมัครเท่านั้น มีคำถามว่าจะทำอะไรต่อไป 

“ผมอายุห้าสิบแล้ว ผมไม่ได้เหนื่อย แต่ผมแก่ แก่เกินจะเริ่มอะไรใหม่ได้ ผมคิดว่ามันเป็นชะตากรรมที่กำหนดมาแล้วว่าต่อไปนี้ผมจะต้องทำเพื่อคนอื่น ไม่ใช่แค่ตัวเองเท่านั้น” 

บัลซิหันมาศึกษาเรื่องสื่อดิจิทัล ซึ่งกำลังกลายมาเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญในชีวิตคนทำสื่อพลัดถิ่นอย่างเขา “สื่อดิจิทัลมันไม่ได้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสื่อแบบเดิมอย่างที่เราเคยคิด อันที่จริงมันเป็นของใหม่ถอดด้าม ต้องใช้วิธีคิดวิธีมองและตรรกะแบบใหม่ ผมก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อสื่อดิจิทัล ผมต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เหมือนกัน”

แต่เขาบอกว่า เขายังโชคดีกว่านักข่าวจากตุรกีที่หนีออกมาอีกหลายคน พวกเขาไม่มีความรู้ในเรื่องการทำสื่อใหม่และไม่มีความรู้ในเรื่องภาษาต่างประเทศที่จะใช้ในการปรับตัว เพราะที่ผ่านมาสำหรับพวกเขา การเป็นนักข่าวที่ดีไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษได้ แต่วันนี้พวกเขาต้องการทักษะดังกล่าว 

คาริม บัลชิ-Kerim Balci-สื่อตุรกี-ลี้ภัย-โทนี แบลร์

คาริม บัลซิ คิดว่าเขาสามารถผสมผสานความรู้ของการทำสื่อ การอ่านและคิดแบบวิพากษ์เข้ากับความรู้ในเรื่องสื่อดิจิทัล เพื่อช่วยสนับสนุนให้ความรู้แก่บรรดานักข่าวอีกหลายชีวิตที่หนีภัยออกมาด้วยกัน รวมทั้งลูกหลานของกลุ่มชาวตุรกีลี้ภัยที่มีเป็นจำนวนมากในยุโรปที่สนใจในเรื่องนี้ให้รู้จักทักษะดังกล่าว โดยนัยนี้ คนรุ่นใหม่จึงดูจะเป็นความหวังของเขา


อัตลักษณ์ใหม่มุสลิมตะวันตก

บัลซิเชื่อว่าขณะนี้ชาวตุรกีที่หลบหนีออกไปอยู่ต่างประเทศเพราะปัญหาการเมืองมีเป็นจำนวนมาก รวมๆ ชาวตุรกีพลัดถิ่นมีไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนกระจายกันอยู่ทั่วไปในประเทศต่างๆ ในยุโรป 

“มันเป็นเรื่องน่าเศร้า” เขาพูดถึงการที่ต้องไร้บ้านและอีกนัยหนึ่งก็คือไร้ราก ถูกตัดขาดจากสังคมของตนเอง แต่ข้อดีอันหนึ่งที่เขามองเห็นก็คือ มันทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากกรอบบางประการของสังคมที่ควบคุมความคิดพวกเขามาตลอดชีวิต เขาเชื่อว่า กลุ่มคนตุรกีพลัดถิ่นเหล่านี้คือคนที่จะมีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“ในตุรกีนั้น บรรยากาศในประเทศมันไม่ทำให้เราได้คิดหรือถกเถียงกันอย่างเสรี” พวกเขามีกรอบหลายอย่าง แต่ในเวลานี้คนรุ่นหลังที่หลบหนีออกมาหลังการก่อรัฐประหารปี 2016 คือปัญญาชนเป็นส่วนใหญ่ คนเหล่านี้ต่างขบคิด ถกเถียงและโต้แย้ง การที่พวกเขาออกพ้นจากกรอบคิดเดิมเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ดังนั้น แม้บางสิ่งบางอย่างจะขาดหายไป แต่เขาเชื่อว่ามันจะยกระดับจิตใจและความรับรู้ และอัตลักษณ์ใหม่ของตุรกีและของมุสลิม หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ มุสลิมตะวันตกจะก่อตัว โดยมีกลุ่มคนพลัดบ้านกลุ่มใหญ่นี้มีบทบาทอย่างสำคัญ 

ลอนดอน


“เราได้เป็นปัจเจกกันอีกครั้ง เราจะมีเสรีภาพในอันที่จะได้คิดและถกเถียงกันอย่างอิสระ ผมจึงเชื่อว่าอนาคตของตุรกีและอิสลามจะไม่ได้ตัดสินหรือสร้างกันในอังการา อิสตันบูล แบกแดด ไคโร หรือซาอุดีอาระเบีย แต่มันจะปรากฎตัวขึ้นในสถานที่อย่างลอนดอน เบอร์ลิน ปารีส นิวยอร์ก และวอชิงตันดีซี”


คาริม บัลซิบอกว่าเขาจะยังคงพูดและเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อไปแม้จะมีคนอยากให้หยุด “คุณฆ่าปัญญาชน เมื่อคุณปิดปากเขา” บัลซิว่า ปัญหาเวลานี้ที่เขาเป็นห่วง คือ เรื่องราวบางอย่างที่กำลังถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำ หนังสือที่เขาเขียนเองหายไปจากร้านหนังสือ หนังสือพิมพ์ที่เคยทำก็หลงเหลืออยู่แค่ไม่กี่ฉบับที่เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งการจะขอเข้าไปดูนั้น เขาเชื่อว่าไม่ง่าย 

บัลซิเล่าว่า สิ่งแรกที่เกิดขึ้นกับนิตยสารของเขาหลังเจ้าหน้าที่เข้าไปยึดก็คือ คลังข้อมูลในอินทอร์เน็ตถูกลบทิ้ง เขาบอกว่าตอนนี้หนังสือจำนวนมากจากห้องสมุดถูกเผา สิ่งที่เกิดขึ้นมันดูราวกับว่าประวัติศาสตร์บางส่วนกำลังถูกลบ 

“เรากำลังจะไม่มีประวัติศาสตร์” เขาว่า แต่ยืนยันว่าพวกเขาต้องสู้ต่อไปอย่างแน่นอน “ตอนนี้เราวิ่งก็จริง แต่เราไม่ได้วิ่งหนี”

อ่านเพิ่มเติม: