ไม่พบผลการค้นหา
ศาลตุรกีตัดสินจำคุกบรรณาธิการข่าวออนไลน์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้กับพรรคฝ่ายค้าน เป็นเวลา 3 ปีกับอีก 1 เดือน ในข้อหาสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย

โอกุซ กูเวน บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ "คัมฮูริเยต เดลี" หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "สาธารณรัฐ" ของตุรกี ฉบับออนไลน์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้กับพรรคฝ่ายค้าน ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาโฆษณาชวนเชื่อให้กับกลุ่มนอกกฎหมาย ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการนำเสนอข่าวของนายเฟธูลลาห์ กูเลน ที่รัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อกลางปีที่แล้ว และเป็นผู้นำของกลุ่มก่อการร้ายเฟธูลลาห์ หรือ FETO ซึ่งเขาให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนั้น กูเวนยังถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ด หรือ PKK ซึ่งรัฐบาลตุรกีและชาติตะวันตกถือว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

นายกูเวนถูกตัดสินโทษในคดีแรก ให้จำคุกเป็นเวลา 10 เดือน 15 วัน และคดีที่สองเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน 17 วัน รวมเวลาจำคุก 3 ปีกับอีก 1 เดือน อย่างไรก็ตามเขาได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสิน

หนังสือพิมพ์ คัมฮูริเยต เดลี ถูกรัฐบาลตุรกี ภายใต้การนำของ นายเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน เพ่งเล็งเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งพนักงานของคัมฮูริเยต เดลี 17 คน ตั้งแต่นักข่าว นักเขียน นักวาดการ์ตูน และผู้บริหาร ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกองกำลังพีเคเค กลุ่มแนวหน้าปลดปล่อยแห่งประชาชนปฏิวัติ หรือ DHKP-C และกลุ่มเคลื่อนไหวของนายกูเลน ซึ่งพวกเขาให้การปฏิเสธและบอกว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เหลวไหล โดยขณะนี้มี 4 คนที่กำลังถูกควบคุมตัว ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงอาจต้องโทษจำคุกนานถึง 43 ปี

องค์กรพิทักษ์เสรีภาพของสื่อนานาชาติรายงานว่า นับตั้งแต่มีความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว องค์กรสื่อที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลตุรกีถูกปราบปรามจนต้องปิดตัวไปหลายแห่ง และมีนักข่าวถูกจับกุมกว่า 170 คน หลังจากที่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจให้นายเออร์โดกันใช้ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม หลังความพยายามก่อกบฏที่ล้มเหลว

ตุรกีอยู่ที่อันดับ 155 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ของการจัดอันดับประเทศที่ผู้สื่อข่าวมีเสรีภาพในการทำงานมากที่สุด โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนหรือ RSF