ไม่พบผลการค้นหา
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นการตัดสินชี้ชะตาประธานาธิบดีเออร์โดกันที่ครองอำนาจมากนานกว่า 15 ปี ขณะที่ตุรกีกำลังจะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางการเมืองโดยจะหันไปใช้ระบบประธานาธิบดีที่มีอำนาจเต็มในการบริหาร

ชาวตุรกีหย่อนบัตรวันอาทิตย์นี้เพื่อเลือกประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภา โดยสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีพวกเขามีผู้สมัครให้เลือก 5 คนรวมไปถึงประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือเรเจป ทายยิป เออร์โดกันซึ่งอยู่ในอำนาจมาถึง 15 ปี เคยเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัยและเป็นประธานาธิบดีหลังจากปี 2014 เป็นต้นมา แต่นักสังเกตการณ์จับตาการเลือกตั้งหนนี้เป็นพิเศษโดยเฉพาะความพยายามของฝ่ายตรงข้ามนายเออร์โดกันที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงภายใต้แรงกดดันทางการเมืองที่สะสมเรื่อยมา โดยเฉพาะตั้งแต่หลังความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2016 แต่ล้มเหลว และยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามประธานาธิบดีถูกปราบปรามหนักมือขึ้นภายใต้ข้อกล่าวหาก่อการร้าย การเลือกตั้งหนนี้จึงเป็นโอกาสของฝ่ายค้านนายเออร์โดกันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมานายเออร์โดกันถูกวิจารณ์ว่าปกครองตุรกีด้วยการรวบอำนาจมากเกินไปทำให้ประเทศขาดเสรีภาพและประชาธิปไตย เขายังไม่พอใจกับอำนาจตามระบบและเมื่อปี 2017 ได้จัดให้มีการลงประชามติ ซึ่งบรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงตุรกีก็ได้ลงมติตามข้อเสนอของนายเออร์โดกันให้เปลี่ยนแปลงระบบด้วยการมอบอำนาจให้กับผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมากขึ้น ต่อไปประธานาธิบดีตุรกีจะไม่เป็นเพียงสัญญลักษณ์ แต่จะมีอำนาจในการบริหารเต็มที่เหมือนประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายเออร์โดกันยังได้เลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปจากปลายปีหน้าขึ้นมาเป็นวันที่ 24 มิ.ย.คือวันนี้ เพราะระบบใหม่ที่เตรียมการไว้จะมีผลก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น ดังนั้นหลังการหย่อนบัตรในวันนี้ ไม่ว่าใครชนะก็ตาม ตุรกีจะได้ประธานาธิบดีตามระบบใหม่ และจะมีการยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป

อย่างไรก็ตามนายเออร์โดแกนก็ยังคงเป็นตัวเก็ง แต่โอกาสพลิกล็อคทางการเมืองในการเลือกตั้งหนนี้นั้นรายงานข่าวของสื่อหลายรายระบุว่ายังพอมีอยู่บ้าง ประเด็นสำคัญที่อาจจะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเปลี่ยนใจคือปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่สดใสในช่วงที่ผ่านมาและนี่ก็กลายเป็นประเด็นที่คู่แข่งของนายเออร์โดแกนใช้หาเสียงควบคู่ไปกับปัญหาการรวบอำนาจ การควบคุมและเข้มงวดตรวจสอบประชาชน รายงานจากสื่อบางรายชี้ว่า คะแนนเสียงสำคัญที่โหวตต้านนายเออร์โดกันคือจากในเมืองใหญ่ สังเกตได้จากการลงประชามติที่คนในอิสตันบูล อังการาและอิสเมียร์ออกคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับประชามติให้อำนาจประธานาธิบดีเพิ่ม

ในบรรดาผู้สมัครที่เป็นคู่แข่งของนายเออร์โดกันทั้ง 4 คนนั้น มีผู้สมัครผู้หญิงซึ่งเป็นนักการเมืองเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการภายในรวมอยู่ด้วย แต่ฐานเสียงของเธออาจจะเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับของนายเออร์โดกัน ผู้สมัครที่หาเสียงลำบากที่สุดคือนายเซลาฮัตติน เดมิทราส ซึ่งยังอยู่ในเรือนจำตั้งแต่หลังเหตุการณ์ก่อรัฐประหารเมื่อปี 2016 และพรรคของเขาคือเอชดีพีระบุว่าการดำเนินดคีเขาเป็นความพยายามที่จะใส่ความด้วยเรื่องก่อการร้าย เดมิทราสไม่มีโอกาสในการหาเสียงมากนักนอกจากส่งคลิปไปออกอากาศทางโทรทัศน์ซึ่งก็ได้เวลาเท่าๆ กับคนอื่น

คู่แข่งที่มีโอกาสหาเสียงอย่างสำคัญและอาจได้เสียงสนับสนุนจากฝ่ายที่คัดค้านประธานาธิบดีก็คือนายมูฮาเร็ม อินซ์วัย 54 ปี อดีตครูสอนฟิสิกซ์จากพรรคซีแอชพี ซึ่งเป็นคนที่มีสีสันและกลุ่มผู้สนับสนุนเขาใช้วิธีหาเสียงใหม่ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อหนีข้อจำกัดที่สื่อในประเทศให้พื้นที่กับประธานาธิบดีมากกว่า นายอินซ์เน้นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการปราศรัยของเขาในช่วงสองสามวันสุดท้ายดึงดูดผู้เข้าร่วมได้เป็นจำนวนมากจนกลายเป็นที่จับตา

สำหรับนายเออร์โดแกน หากในการเลือกตั้งวันนี้เขาได้คะแนนเสียงมากกว่า 50% ก็จะเท่ากับได้ชัยชนะไปทันทีและไม่ต้องมีการลงคะแนนเสียงกันเป็นรอบที่สอง สำหรับฝ่ายค้าน หากนายเออร์โดแกนได้คะแนนไม่ถึงครึ่งของคะแนนเสียง นับเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งเพราะเท่ากับจะได้ไปตัดสินกันเป็นรอบที่สอง ในขณะที่อีกด้านก็จะเป็นการลดหย่อนความฮึกเหิมของค่ายนายเออร์โดกันลงด้วย

ตัวแปรที่น่าสนใจอีกหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งรวมไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาด้วยนั้น ก็คือกลุ่มคนเชื้อสายเคิร์ดในตุรกี ที่ผ่านมาชาวเคิร์ดจำนวนหนึ่งเป็นฐานเสียงให้นายเออร์โดกันและพรรคเอเคของเขา แต่การที่นายเออร์โดกันยกเลิกการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มพีเคเค กลุ่มคนเชื้อสายเคิร์ดที่ต่อสู้กับรัฐบาล รวมทั้งหันไปจับมือกับพรรคการเมืองที่ต่อต้านเคิร์ดทำให้ฐานเสียงนี้อาจจะง่อนแง่นสำหรับประธานาธิบดี และหากพรรคที่สนับสนุนชาวเคิร์ดคือพรรคเอชดีพีได้เสียงอย่างน้อย 10% ก็จะทำให้พรรคของนายเออร์โดกันหมดโอกาสได้เสียงข้างมากในสภาไปทันที

ที่มา CNN / Bloomberg