ไม่พบผลการค้นหา
'อุตตม' รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปฏิเสธข่าว หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง 16/61 รื้อเขตเลือกตั้ง หวังเอื้อ พปชร. ด้านกลุ่มสามมิตร นำอดีต 60 ส.ส. เขียนใบสมัครพรรคแล้ว

ความเคลื่อนไหวการเปิดรับสมัครสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วันนี้ (18 พ.ย. 2561) เป็นไปด้วยความคึกคักและสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีนักการเมืองและอดีต สส. รุ่นเก่าที่สังคมจับตามอง โดยเฉพาะ 'กลุ่มสามมิตร' ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอนุชา นาคาศัย 3 แกนนำหลัก ได้ร่วมกันนำสมาชิกของกลุ่มกว่า 60 คน เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีต สส. นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส.จังหวัดเลย, นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ว.จังหวัดเลย, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ / ภาคกลาง นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีต ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์, นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีต สส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น 

โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขาธิการพรรค, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พร้อมนายพุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาให้การต้อนรับผู้ที่มาสมัครสมาชิก รวมถึงแนะนำสมาชิกใหม่ และชี้แจงข้อปฎิบัติต่างๆ ของพรรคด้วย 

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มงาน นายกอบศักดิ์ ได้ทักทายสื่อมวลชน พร้อมพูดถึงกรณีที่กลุ่ม New Dem ประชาธิปัตย์ เชิญชวนพรรคการเมืองร่วมกีฬาสีกระชับมิตรว่า กำลังฟอร์มทีมอยู่ มั่นใจมีคนรุ่นใหม่ร่วมแข่งขัน "น้องเราไม่แพ้แน่ๆ มั่นใจ" ขณะที่นายณพงศ์ นพเกตุ อดีต ผอ. นิด้าโพล ที่เพิ่งเปิดตัวเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ ยังกล่าวย้ำว่า ภาพโปรโมตกิจกรรมของกลุ่ม New Dem ไม่ค่อยสวย และไม่ค่อยแสดงถึงความสามัคคีเท่าใดนัก 

พลังประชารัฐ

ส่วนสมาชิกกลุ่มสามมิตรกว่า 60 คน ที่เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ อาทิ นายภิรมย์ พลวิเศา โฆษกกลุ่มสามมิตร, นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต สส.จังหวัดเลย, นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข อดีต สว.จังหวัดเลย, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา อดีต ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์, นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย 

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธกระแสข่าวภายหลังจากที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 16/2561 เพื่อให้ กกต. จัดการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถูกฝ่ายการเมืองจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับการจัดผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ โดยนายอุตตมกล่าวยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐ ยึดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นผู้ดูแล พร้อมยืนยันว่าพรรคมีความพร้อมในการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้

นายอุตตม ยังกล่าวถึงการเสนอ 3 รายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐว่า ยังต้องรอหารือกันในพรรคก่อน ส่วนที่มีกระแสข่าวจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปนั้น ก็จะต้องสอบถามความสมัครใจของพลเอกประยุทธ์ด้วย แต่ขณะนี้ พรรคยังไม่มีการทาบทามใดๆ ส่วนที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เปิดเผยว่าในใจสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อนั้น ก็จะต้องไปถามใจของนายสุวิทย์ แต่ยืนยันว่า ตนและนายสุวิทย์ มีอุดมการณ์ร่วมกัน

นายอุตตม ยังกล่าวถึง ปัญหาการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.หลังมีกลุ่มการเมืองมาร่วมงานกับพรรค โดยยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐมีเพียงกลุ่มเดียว คือพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีกลุ่มอื่น ๆ และมั่นใจว่า การส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง สส. จะไม่มีปัญหา

พลังประชารัฐ

ส่วนกรณีที่นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี หรือ 'เดียร์' กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท สปริงส์นิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการพยายามแทรกแซงสื่อมวลชนนั้น นายอุตตมชี้แจงว่า พรรคพลังประชารัฐเปิดกว้างทางการเมืองและขออย่าตั้งแง่กับผู้ที่มีความตั้งใจมาทำงานทางการเมือง

นายอุตตมยังย้ำถึงการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ภายหลังมาทำงานทางการเมืองว่า "จะลาออกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม" ส่วนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า สวมหมวก 2 ใบ ในการทำงานนั้น ก็ขอให้ดูพฤติกรรมของตนว่า มีการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ หรือไม่ แต่ส่วนตัวมั่นใจว่าไม่มี

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร ได้ชี้แจงหลังกลุ่มสามมิตรถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มรับใช้ทหาร โดยยืนยันว่า กลุ่มสามมิตรเป็นพลเรือน ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของทหาร และการมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีผู้ใหญ่ที่ให้ความเคารพในสมัยทำงานร่วมกันในพรรคไทยรักไทย เชิญมาร่วมงานกับพรรค เนื่องจากผู้ใหญ่คนดังกล่าว มองว่าในอนาคตหากไม่มีพรรคการเมืองใหม่ๆ มีแต่ 2 พรรคการเมืองเก่า ก็จะต่อสู้กัน และบ้านเมืองก็จะเกิดวิกฤตอีก จึงอยากหาพรรคการเมืองใหม่มาเป็นทางเลือกให้ประชาชน เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง และในวันนี้ เมื่อกลุ่มสามมิตรมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแล้ว ก็จะไม่มีกลุ่มสามมิตรอีกต่อไป พร้อมเปิดเผยว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตเลือกตั้ง ได้รับการแก้ไขแล้ว ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต ก็ถือเป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรคจะเป็นผู้ตัดสินใจ

นายสุริยะยังกล่าวถึงกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐ จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อว่า เป็นเรื่องที่กรรมการบริหารพรรค จะเป็นผู้ตัดสินใจ คัดเลือกจากบุคคลที่รักประเทศ ตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง และมีวิสัยทัศน์มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในช่วงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ส่วนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ยังมั่นใจว่า ผู้สมัครลง สส. ในนามพรรคพลังประชารัฐมีสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. ทั้งหมดโดยดูจากผลงานของรัฐบาล และความพร้อมต่อการเลือกตั้งของพรรค 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: