ไม่พบผลการค้นหา
สอท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัว การส่งออก ดีขึ้น ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เน้นลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม แต่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าลดลง เหตุจากผู้ประกอบการกังวลเรื่องกำลังซื้อที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือน พ.ค. 2561 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.1 ในเดือน เม.ย. 

ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อีกทั้ง เกิดจากผู้ประกอบการเห็นว่าภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังขยายตัวต่อเนื่อง และส่งผลดีต่อภาคการผลิต รวมทั้งการส่งออกได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สะท้อนจากคำสั่งซื้อโดยรวมและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ มีแผนการขยายการลงทุนเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามจากการที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนพ.ค. ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาท ทำให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก                                                                                                          

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับ 101.6 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 102.2 ในเดือน เม.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อโดยเฉพาะในระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ยังมีค่าเกิน 100 สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ดี

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือน พ.ค. 2561 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. โดยมีรายละเอียดดังนี้

อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 75.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 72.7 ในเดือน เม.ย. โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 94.0 ในเดือน เม.ย. โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 90.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.2 ในเดือน เม.ย. โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 107.6 ในเดือน เม.ย. โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 107.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 106.4 ในเดือน เม.ย. โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก,อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี,อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 103.6 ในเดือน เม.ย. โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก ซึ่งจำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือน พ.ค. 2561 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. โดยมีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 86.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.8 ในเดือน เม.ย. องค์ประกอบ ดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 102.0 ในเดือน เม.ย. องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 104.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.3 ในเดือน เม.ย. องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.9 ในเดือน เม.ย. องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 2561 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมัน ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

ดังนั้น สอท. จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ สามารถนำเสนอแผนการลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและการพัฒนานวัตกรรมการผลิต ต่อสถาบันการเงิน โดยจัดทำเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ และสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ประจำเดือน พ.ค. สำรวจจากผู้ประกอบการ จำนวน 1,015 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรม ขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 33.4, 38.0, 28.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ


อ่านเพิ่มเติม