ไม่พบผลการค้นหา
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ลงมาอยู่ที่ 90.2 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 92.2 ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ส่วนดัชนีคาดการณ์อีก 3 เดือนข้างหน้าต่ำสุดในรอบ 45 เดือน เหตุกังวลโควิด-19 แนะรัฐตั้งกองทุนรับมือผลกระทบโควิด-กองทุนช่วยคนตกงาน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.2 ในเดือนม.ค.2563 และถือว่าค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นับตั้งแต่ พ.ค. 2561      

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า มีสาเหตุมาจากความกังวลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อที่ซบเซาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การดำเนินกิจการประสบปัญหาด้านการผลิต การจำหน่าย รวมทั้งการขนส่งสินค้าและการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนที่มีความล่าช้า

ขณะที่ปัญหาภัยแล้ง ก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบการเกษตรลดลง นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างด้วย

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 98.1 โดยลดลงจาก 99.4 ในเดือนม.ค. 2563 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 45 เดือน นับตั้งแต่ พ.ค. 2559 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงและกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัว ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง      

ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ส.อ.ท.เสนอให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการและสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น และขอให้ภาครัฐออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในระยะสั้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น มาตรการทางด้านภาษี

"รัฐบาลจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวในเรื่องของมาตรการเยียวยาในการช่วยเหลือเรื่องการเงิน ซึ่งวันนี้รัฐบาลมีซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาทออกมา แต่เมื่อถึงเวลาซอฟต์โลนนี้ก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ เพราะความเชื่อมั่นไม่มี จึงอยากแนะนำว่ารัฐบาลอาจต้องตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสำหรับการช่วยเหลือเยียวยาในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคเอกชนโดยตรงได้จริง รวมทั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนตกงานเดือนละ 1 หมื่นบาทเพื่อไปเรียนรู้เพิ่มทักษะ (Up Skill) ให้แก่ตัวเองเผื่อในอนาคตมีโอกาสได้กลับมาทำงานที่มีคุณภาพมากขึ้น"

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวจะเป็นกองเดียวกันหรือแบ่งเป็น 2 กองก็ได้ แต่ต้องมีขนาดใหญ่รวมกันประมาณ 1 แสนล้านบาท มีลักษณะเป็นสินเชื่อที่คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ระยะเวลาผ่อนชำระ 6 เดือน-1 ปี สำหรับ SMEs ให้รายละ 20 ล้านบาท ผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์หรือของรัฐ เพื่อทำหน้าที่คัดกรองแต่ไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรัฐสามารถใช้วิธีการออกพันธบัตรเพื่อหาเงินวมาใช้

"เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่ยังไม่ได้เสนอไปยังรองนายกฯสมคิด เพราะตอนแรกคิดว่า ซอฟต์โลนน่าจะช่วยได้แต่เอาเข้าจริงๆ ติดเงื่อนไขต่างๆ ของบรรดาแบงก์พาณิชย์ทำให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหาและติดขัดเรื่องเงินทุนหมุนเวียน เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว จะได้ไม่ต้องปลดคนงานหรือนำเงินไปปรับปรุงกิจการให้ดีขึ้นเผื่อในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า บรรยากาศสถานการณ์ดีขึ้น นักท่องเที่ยวอาจจะกลับมาท่องเที่ยวอีก"นายสุพันธุ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :