นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.ค. 2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 5 เดือน อยู่ในภาวะทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่สาม
โดยผลสำรวจชี้ว่านักลงทุนเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นตัวหนุนการลงทุน ขณะที่ นักลงทุนติดตามสถานการณ์การเมืองเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุด ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนเฝ้าติดตามทิศทางเงินทุนไหลเข้าออกระหว่างประเทศในระยะต่อไป ภายหลังจากที่มีตัวเลขขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นในปี 2561 จากผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้า และการลงทุน ของสหรัฐกับประเทศคู่ค้าและนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ
สรุปผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.ค. 2561 ได้ดังนี้
สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธุรกิจเหล็ก (STEEL)
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง
โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือน มิ.ย. เคลื่อนไหวในทิศทางลดลงตลอดเดือน จากระดับสูงสุดในช่วงต้นเดือนที่ 1737 จุด มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมากตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ทำให้ดัชนีฯ ลดลงมาอยู่ที่ 1595 จุดในช่วงปลายเดือน โดยมีปัจจัยจากแรงขายสุทธิต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาและความกังวลถึงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้า และการลงทุน ที่มีแนวโน้มขยายตัวระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า ทั้งประเทศจีนและกลุ่มอียู รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่มีการปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้
ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนเชื่อมั่นการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศจากตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค. ขยายตัว ร้อยละ 11 และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.1 เป็นร้อยละ 4.4 และนักลงทุนเชื่อมั่นว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังมีอัตรากำไรในทิศทางที่ดี
สถานการณ์การเมือง-การเลือกตั้ง-เงินทุนเคลื่อนย้าย น้ำหนักสำคัญเลือกลงทุน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนให้น้ำหนักปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองและกำหนดวันเลือกตั้งที่คาดว่าจะเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562 และเงินทุนไหลออกจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนติดตามมากที่สุด โดยประเด็นติดตามยังคงเป็นความชัดเจนของผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้า นโยบายกีดกันการลงทุนของสหรัฐและประเทศคู่ค้าหลัก และอาจขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
รวมถึงผลกระทบต่อนโยบายทางการเงินของสหรัฐ สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ นั้น ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ สถานการณ์ทางการเมืองของกลุ่มประเทศในยุโรปยังมีความไม่แน่นอน หลังจากที่เกิดความขัดแย้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ของเยอรมัน และนโยบายทางการเงินของธนาคารยุโรป แนวโน้มความผันผวนของราคาน้ำมันจากการประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค เพื่อรองรับชดเชยอุปทานที่ลดลงจากเวเนซูเอลาและการประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านของสหรัฐ
ข่าวเกี่ยวข้อง :