ไม่พบผลการค้นหา
ทุกๆ วันที่ 30 ธันวาคม บริเวณลานกว้างของบ้านไร่มดตัวโต ริมฝั่งห้วยฮองเอียน จังหวัดศรีสะเกษ จะคลาคลั่งไปด้วยผู้คนกว่า 700 ชีวิต ทั้งจากพื้นที่ใกล้เคียง และต่างภูมิภาค เพื่อใช้เวลาก่อนวันสิ้นปีกับบทเพลงนอกกระแส ในเทศกาลดนตรีฮองเอียน (Hongian Music Festival) ร่วมกับผืนน้ำ สนามหญ้า บรรยากาศรื่มรมย์ช่วงปลายปี และศิลปินจำนวนหนึ่ง

เมื่อทราบข่าวว่า ‘พีวรายุส กองไพบูลย์’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เล็ก เดสก์ทอป เออร์เรอร์’ (Desktop Error) นักร้องนำวงดนตรีอินดี้ ผู้ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ท่ามกลางวงการเพลงนอกกระแสมาเป็นเวลากว่า 10 ปี กำลังจะจัด ‘เทศกาลดนตรีฮองเอียน’ เป็นครั้งที่ 4 ช่วงปลายเดือนธันวาคม ทางทีมงาน Voice On Being จึงเดินทางไปพบกับเล็ก ณ ริมห้วยฮองเอียน บ้านเกิดของเขา เพื่อเปิดบทสนทนาเกี่ยวกับความเป็นมาของเทศกาลดนตรีนอกกระแส ที่อยู่ๆ โผล่มาสร้างความบันเทิงในจังหวัดเล็กๆ ของอีสานใต้ และดำเนินงานต่อเนื่องมาถึง 4 ปี

แม้ทางเราจะคาดเดาล่วงหน้าว่า คำตอบของสมการคง ‘ไม่ใช่เรื่องเงิน’ ทว่าสิ่งที่เล็กเผยออกมามันไม่ใช่เพียงความคลั่งไคล้ทางดนตรีเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นปัญหาการกระจุกตัวความเจริญ ความเข้าใจผิด การปิดกั้นทางแนวดนตรี และอุปสรรคของการพัฒนาท้องถิ่นที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข


ช่วยเล่าหน่อยว่า ‘Hongian Music Festival’ คืออะไร

พีวรายุส : ต้องเท้าความก่อนว่า บ้านเกิดเราอยู่ศรีสะเกษ ประกอบกับเราเป็นนักดนตรี เวลาไปตามเทศกาลดนตรีบ่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกอยากกลับมาทำเทศกาลดนตรีเล็กๆ ที่บ้านเกิด ก็เลยเกิดเป็น ‘เทศกาลดนตรีฮองเอียน’ ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีนอกกระแส ส่วนชื่อฮองเอียนมาจากห้วยที่อยู่บริเวณสถานที่จัดงานนั่นแหละ

ตอนทำครั้งแรกเอาวงดนตรีพี่ๆ น้องๆ ในจังหวัดมาเล่น คนก็มากันเยอะทำให้เห็นว่า คนท้องถิ่นไม่ได้ปิดกั้น และพอมีพื้นที่สำหรับดนตรีอยู่บ้าง ครั้งต่อๆ ไปเลยหันมาทำแบบจริงจังมากขึ้น ด้วยการนำวงดนตรีมีชื่อเสียง และอยู่นอกเหนือจากศรีสะเกษ หรืออุบลราชธานีมาแสดง อย่างศรีราชา ร๊อคเกอร์ (Srirajah Rocker) โซลิจูด อิส บลิส (Solitude Is Bliss) หรือวิมุตติ (Vimutti) ก็เคยมาเล่นที่ฮองเอียน


ฮองเอียน 3.jpg
  • เล็ก - พีวรายุส กองไพบูลย์ นักดนตรีผู้ชื่นชอบบทเพลงนอกกระแส และกลับมาจัดเทศกาลดนตรีที่บ้านเกิดของตนเอง
ดูเหมือนคนศรีสะเกษที่ชื่นชอบดนตรีนอกกระแสจะมีไม่น้อยเลย

พีวรายุส : ไม่ขนาดนั้น ถ้าตีเป็นตัวเลขคนจากศรีสะเกษที่มาฮองเอียนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือมากจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียงทางภาคอีสาน ตอนจัดครั้งที่ 2 บางคนนั่งรถไฟฟรีมาจากภาคใต้ เจ๋งมาก! มากันไกลขนาดนี้

คนจากศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ หรืออีสานใต้ ไม่มีโอกาสดูคอนเสิร์ตของศิลปินนอกกระแสแน่นอน น้อยครั้งที่พวกเขาจะมาเล่น ตอนแรกเราประเมินไว้ว่า ในงานทั้งหมด 700 คน ถ้าจังหวัดใกล้ๆ มากันจังหวัดละ 50 คน ถือว่า โอเคแล้ว เพราะจุดประสงค์ที่ทำคือ อยากให้คนแถวบ้านมาดูก่อน แต่พอเห็นคนภาคอื่นมาด้วยก็ดีใจนะ 


อยู่ดีๆ เมื่อเทศกาลดนตรีนอกกระแสมาโผล่ในศรีสะเกษ คงมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดาใช่ไหม

พีวรายุส : โอ๊ยเยอะ (หัวเราะ) บางคนไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ เคยเข้าไปปรึกษากับผู้ใหญ่ในจังหวัดว่าสามารถขยับให้เป็นการท่องเที่ยวได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้หรอก มันไม่ใช่การท่องเที่ยว เหมือนทำเพื่อตัวเองมากกว่าจังหวัด เราก็อาจจะอธิบายได้ไม่ดีพอ หรือทำให้เห็นภาพไม่ได้ 


ถ้าพูดเรื่องเงินอย่างเดียว ฮองเอียนอยู่ได้ไหม

พีวรายุส : อยู่ไม่ได้ (หัวเราะ) ถ้าไม่มีรายได้อื่นอยู่ไม่ได้หรอก ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แต่ยังทำเพราะบ้านเราอยู่ที่นี่ อย่างน้อยก็ทำให้มีอะไรเกิดขึ้น และดีกว่าอยู่เฉยๆ คนถามเยอะเหมือนกันว่า ราคาบัตร 350 บาท จะคุ้มกันไหม แต่ที่ขายราคานี้เพราะอยากให้คนในพื้นที่มาดู เด็กวัยรุ่นที่ต้องจ่ายเงินเท่านี้ก็เยอะแล้วนะสำหรับพวกเขา 

ด้วยจำนวนเงินที่ไม่มากโปรดักชั่นก็จะไม่ได้อลังการ เวทีใหญ่เสียงสีสุดยอดอะไรขนาดนั้น แต่ไม่แย่แน่นอน อยากให้มาที่นี่แล้วอบอุ่น เพราะสถานที่ไม่ได้ใหญ่มาก สามารถเดินได้ทั่วถึง นั่งกับพื้นฟังเพลง เสร็จแล้วไปนอนในเต้นท์ แต่ไม่ใช่ว่าบรรยากาศกันเองแบบนี้แล้วจะเอาวงอะไรมาแสดงก็ได้ ก็พยายามเอาวงที่คนฟังชอบ และหาดูแถวนี้ไม่ค่อยได้มาเล่น 


ฮองเอียน 2
  • รูปแบบการจัดเวทีของ Hongian Music Festival ครั้งที่ 3 เมื่อมองจากด้านซ้ายจะเขียนว่า ฮองเอียน 3 และด้านขวาจะเป็นลำโพงสีเหลืองที่คดเคี้ยวเป็น เลข 3 ลอยอยู่ด้านบนของแผ่นเสียง
ทั้งๆ ที่อยู่ไม่ได้ แต่ทำไมงานครั้งหนึ่งมีแสดงเกือบสิบวง 

พีวรายุส : คนมาประมาณ 700 คน ค่าบัตรทั้งหมดก็ราวๆ 250,000 บาท ศิลปินก็เป็นเพื่อนกันเลยจ่ายถูก ถ้าจ่ายราคาเต็มไม่มีทางพออยู่แล้ว สปอนเซอร์ก็ช่วยบ้างนิดหน่อย ตอนจัดงานครั้งที่ 2 เคยขอสปอนเซอร์ตามร้านค้าในเมือง ก็ช่วยหลักพัน แต่ให้บัตรไปมางานแป๊ปนึงก็กลับบ้านแล้ว เพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร 


ถามจริงๆ เข้าเนื้อหรือเปล่า

พีวรายุส : แค่เกือบๆ เราจะทำทุกอย่างให้อยู่ในงบที่ตั้งไว้จากการขายบัตร 700 ใบ ถ้าคนมาเกินกว่านั้นคือกำไร สุดท้ายได้กำไรมาก็แบ่งให้ลูกน้องให้เพื่อน ทำงานฮองเอียนมาครั้งที่ 4 แล้ว ถ้าคิดถึงผลกำไร ไม่คุ้มเลย แต่เราไม่ได้มองที่เงินอยู่แล้ว

ถามว่าเบื่อไหม บางทีก็เบื่อ ปีใหม่ทำไมไม่ออกไปเที่ยวกับแฟน ต้องมานั่งลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น ครั้งที่แล้วตำรวจมาที่งานบอกว่ามีคนร้องเรียน สาเหตุไม่ใช่เสียงดัง เพราะเราอยู่ไกลไม่รบกวนอยู่แล้ว แต่ร้องเรียนว่าพวกเรามั่วสุม บางครั้งก็สมเพชตัวเองเหมือนกันที่ต้องไปนั่งอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ

ตอนแรกเกือบจะเลิกเหมือนกัน แต่เพื่อนๆ ก็บอกไม่ต้องไปซีเรียสกับงานมาก ไม่อยากให้เลิกทำ คิดไว้ว่าปีนี้อาจจะเป็นปีสุดท้ายที่จัดติดต่อกัน ต่อไปอาจจะจัดแบบปีเว้นปี แต่การทำงานของเราก็เหมือนชวนเพื่อนมาเที่ยวบ้าน วงอินดี้โหยหาพื้นที่ในการแสดงออกอยู่แล้ว เราก็ไม่ทำให้เขาเดือดร้อน ค่าเดินทาง ที่พัก อาหาร ซัพพอร์ตให้หมด แต่ก็อย่างที่บอกว่าค่าตัวก็ไม่ได้เยอะมาก 


อุปสรรคสำหรับการจัดงานดนตรีนอกกระแสไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว

พีวรายุส : ไม่เครียดเรื่องเงินกับคนดู แต่เครียดเรื่องปัจจัยภายนอก อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่เราเป็นกังวล กลัวว่าจะมีคนมาร้องเรียน ไม่อยากยุ่งกับอะไรที่ต้องขออนุญาต เพราะมันไม่เข้ากับบริบทของงานแบบนี้ และบางทีก็มีคนที่พร้อมจะมองในแง่ลบอยู่แล้ว 

เราคิดว่า ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่รับฟังความคิดเห็นของเด็กยุคนี้ ไม่รู้ว่ายุคเราต้องการอะไร หรือฟังเพลงแบบไหน เราไม่ได้พูดถึงเพลงในกระแส หรือนอกกระแส เพราะมันหลากหลายกว่านั้น 


ฮองเอียน 6
  • บรรยากาศผู้ชมนั่งบนกองฟาง เสื่อ แผ่นพลาสติก หรือผืนหญ้า ระหว่างรับชมการแสดงดนตรี
แล้วเด็กๆ ควรทำอย่างไรดี

พีวรายุส : ก็ทำเหมือนที่ทำอยู่ เพื่อให้ผู้ใหญ่เห็นว่าคนมาเยอะนะ แปลว่างานต้องมีอะไรดีหรือเปล่า พอเราทำบ่อยเข้าผู้ใหญ่จะเห็นเอง 


คนอีสานฟังเพลงนอกกระแสมากกว่าที่หลายคนคิด

พีวรายุส : คิดเอาเองว่ามีน้องๆ กลุ่มหนึ่ง เป็นคนธรรมดาทำงานปกติอยู่ที่บ้าน แต่ชอบฟังเพลงแนวนี้ เราเชื่อว่าคนฟังเพลงนอกกระแสไม่จำเป็นต้องทำงานศิลปะอย่างเดียว คนแบบบ้านๆ ก็มี แต่พวกเขาไม่มีโอกาสไปดูคอนเสิร์ตที่ไหนเลย

เอาง่ายๆ เราอยู่ที่นี่แทบจะไม่ออกไปเที่ยว ถ้าไปก็แนวบ้านๆ กับเพื่อนสมัยเรียน สิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดคือเพลงตลาด เพลงหมอลำ หรือเพลงลูกทุ่งก็สนุกดี ไม่เคยบอกให้คนศรีสะเกษ หรือคนอีสานต้องมาฟังดนตรีนอกกระแส หรือชอบฮองเอียน ให้คนที่นี่เข้าใจและมีพื้นที่ให้พวกเราก็พอ จะมีคนประเภทหนึ่งที่พอพูดคำว่า ‘อินดี้’ ก็เกลียดเลย ทั้งที่ความจริงอยู่เฉยๆ ก็ได้


จากปีแรกถึงปีที่ 4 มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างหรือยัง

พีวรายุส : มีคนเข้ามาบอกว่าอยากทำแบบนี้บ้าง ที่ตรงนี้เป็นเหมือนสถานที่สำหรับจัดอีเวนท์ ช่วงกลางปีที่ผ่านมาก็มีคนมาจัดงานศรีษะเกษ มอช เฟส (Sisaket Mosh Fest) เล่นดนตรีฮาร์ดคอร์ มีคนมาเยอะเหมือนกัน แต่ก็คล้ายๆ กับฮองเอียน คือคนในจังหวัดก็น้อยอยู่ดี หลักๆ จะมาจากจังหวัดข้างเคียง 

เราอยู่ในโหมดของนักดนตรี ก็จะได้คุยกับคนในวงการนี้มากกว่า ทำให้ยังไม่มีงานศิลปะแบบอื่นมาแสดง แต่ก็โอเค เพราะอย่างน้อยก็มีงานมากขึ้น


เห็นว่าในจังหวัดใกล้เคียง ดนตรีนอกกระแส ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเหมือนกัน 

พีวรายุส : ก็ดีนะ เราว่าสิ่งที่จะทำให้เกิดอะไรที่แปลกใหม่มันดีอยู่แล้ว อยากให้มีเทศกาลดนตรีนอกกระแสหรืองานประเภทอื่นเกิดมากขึ้น เพราะอย่างน้อยวงดนตรีก็ได้เล่นมากขึ้น คนฟังก็มีโอกาสได้ดู มีทุกจังหวัดได้ก็จะยิ่งดี 


ในฐานะศิลปิน และคนเสพดนตรีนอกกระแส เปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯ กับศรีสะเกษ คุณเห็นความแตกต่างอะไร

พีวรายุส : ในกรุงเทพฯ วงดนตรีอินดี้เยอะมาก พื้นที่สำหรับการแสดงก็เยอะเหมือนกัน มีแคตเรดิโอ (Cat Radio) หรือฟังใจ (Fungjai) เป็นสื่อใหญ่สำหรับคอเพลงนอกกระแส คอนเสิร์ตของศิลปินนอกกระแสจากต่างประเทศเมื่อก่อนมีแค่ 5 - 6 วงต่อปี แต่เดี๋ยวนี้ต้อง 20 วงเป็นอย่างน้อย 

ทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ยากที่จะแพร่กระจายมาต่างจังหวัด เพราะคนฟังเพลงก็อยู่ที่นั่นเหมือนกัน แม้คนฟังเพลงนอกกระแสเป็นคนต่างจังหวัดแต่ก็ทำงานในกรุงเทพฯ พอนำคอนเสิร์ตของศิลปินจากต่างประเทศมาแสดงที่ต่างจังหวัด คนก็น้อยอยู่ดี


ฮองเอียน 5.jpg
  • พีวรายุส ยืนอยู่ ณ ห้วยฮองเอียน ฉากหลังของ Hongian Music Festival
คนต่างจังหวัดน้อยใจหรือเปล่า

พีวรายุส : แน่นอน แต่ส่วนตัวเราไม่ต้องการให้ศรีสะเกษกลายเป็นจังหวัดอินดี้ หรือฟังเพลงลึกๆ ขอให้เป็นแบบที่มันเป็น แต่มีอะไรเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาหน่อย อย่างดนตรีพื้นบ้าน หรือหมอลำ ถ้าเป็นดนตรีอินดี้อย่างเราก็ไม่ต้องไปคุยกับผู้ใหญ่หรอกเพราะว่าคงไม่เข้าใจ

พื้นที่ตรงนี้ (บ้านไร่มดตัวโต) สามารถเอาวงหมอลำมาจัดคอนเสิร์ต เล่นคืนหนึ่งสัก 7-8 วง ส่วนข้างนอกขายผ้าไหมให้เป็นทางเลือกอื่นนอกเหนือจากงานกาชาด จังหวัดไม่ต้องฟังแพลงแนวเดียวกับเราก็ได้ แต่ก็อยากให้มีเอกลักษณ์ขึ้นมาบ้าง 


จากสายของคุณ จังหวัดศรีสะเกษยังขาดอะไรอยู่

พีวรายุส : ความคิดสร้างสรรค์ คนศรีสะเกษเก่งๆ หรือกลุ่มคนเรียนศิลปะ หรือดนตรีมีจำนวนน้อยมากกลับมาทำงานที่บ้าน ส่วนมากไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ ถ้าจะกลับมาก็เหมือนเป็นการพักผ่อนมากกว่า ความคิดสร้างสรรค์เลยไม่เกิดขึ้น

อย่างแม่ฮ่องสอนมีมุมที่คนอยากเข้าไปหาธรรมชาติ ศรีสะเกษถึงจะเป็นเมืองเล็กๆ เงียบๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ต้องสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว และการไหลเวียนของเศรษฐกิจ ที่จะทำให้คนบ้านเรากลับมาอยู่ที่นี่ได้ อาจจะมองไกลไปนิดนึง แต่ก็ควรเริ่มหรือเปล่า มันสำคัญมากนะเรื่องของปากท้อง ถ้าอยู่ที่นี่ไม่มีงานทำก็อยู่ไม่ได้ จะอาร์ต จะอะไรแค่ไหน ไม่มีเงินก็อยู่ยาก


ปัจจุบันคนศรีสะเกษชอบเที่ยวงานอะไรกัน

พีวรายุส : ไม่มีเลย บ้านเมืองนี้อีเว้นท์น้อยมาก ถ้าจะมีก็เป็นงานของจังหวัดอย่างงานกาชาด เทศกาลดอกลำดวนบาน งานผลไม้เงาะทุเรียน อะไรประมาณนี้

  • ขอบคุณภาพจาก Hongian Music Festival