ไม่พบผลการค้นหา
‘ปูม-ปิยสุ โกมารทัต’ ผู้ก่อตั้ง ‘ซีน ซีน สเปซ’ (Seen Scene Space) โปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ตวงอินดี้หลากสัญชาติ และอยู่เบื้องหลังการเยือนประเทศไทยของทั้ง ฮย็อกโอ, เดอะฟิน., ลัคกี้ เทปส์ ฯลฯ บอกเล่าเรื่องราวชีพจรแวดวงเพลงนอกกระแสในไทย และนอกไทย ตลอดจนธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตที่บางครั้งก็รุ่ง บางครั้งก็ร่วง!

หลังเริ่มต้นค่ายเพลงนอกกระแสที่ชื่อว่า ‘ปริณามมิวสิค’ มานานกว่า 11 ปี จนผลิดอกออกศิลปินมาแล้วหลายคน หลายวง ไม่ว่าจะเป็น ‘ปลานิลเต็มบ้าน’ หรือ ‘จิม แอนด์ สวิม’ (Gym and Swim)  ‘ปูม-ปิยสุ โกมารทัต’ ในฐานะเจ้าของค่าย จากผู้ที่เคยพาวงดนตรีที่ปั้นมากับมือเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศ เก็บเกี่ยวทั้งประสบการณ์ และคอนเน็กชั่น จึงตัดสินใจนำเข้าวงดนตรีนอกกระแส หรือที่หลายคนเรียกชินปากว่า ‘วงดนตรีอินดี้’ จากทั่วทุกมุมโลก ที่คิดว่านักฟังเพลงชาวไทยควรจะมีโอกาสได้ฟัง ภายใต้ชื่อโปรโมเตอร์ ‘ซีน ซีน สเปซ’ (Seen Scene Space) ที่แตกไลน์มาจากค่ายเพลงของเขาอีกที



_MG_9897.JPG
  • ปูม- ปิยสุ โกมารทัต

จากวันนั้นจนวันนี้ 4 ขวบปีผ่านไป มีศิลปินต่างประเทศมากมายหลายคน และหลายวง ที่ปูมและทีมงานคัดเลือก เชื้อเชิญพามาขึ้นเวทีในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาดังกล่าว หลังม่านเวทีคละเคล้าไปทั้งสุขและทุกข์ ที่บางครั้งการจัดก็ประสบความสำเร็จคุ้มค่าเหนื่อย แต่บางครั้งก็ไม่ – แบบที่ปูมอธิบายง่ายๆ ว่า ‘เจ๊ง’ นั่นแหละ แต่เขาก็ยังคิดว่า แพสชั่นของเขา และทีมงานจะยังไปต่อได้อีกไกลกับธุรกิจนี้

ปูมนัดกับทีมงาน Voice On Being ในช่วงเย็นย่ำของวันกลางสัปดาห์ ณ สตูดิโอย่านอรุณอมรินทร์ ก่อนรุ่งขึ้นเขาจะบินไปญี่ปุ่นเพื่อคุยงาน โดยตลอดทั้งวันก่อนหน้าเขาจะมาเจอเรา เขาไปคุยงานกับ ‘ฟังใจ’ (fungjai.com) เว็บไซต์ชุมชนคนรักดนตรี ที่มีสตรีมมิ่ง และนิตยสารบนแพล็ตฟอร์มของตนเอง และ ‘แฮพ ยู เฮิร์ด?’ (Have You Heard?) โปรโมเตอร์วงดนตรีนอกกระแสจากต่างประเทศอีกเจ้า ถึงการเตรียมจัดคอนเสิร์ตใหญ่ Maho Rasop Festival 2018 ร่วมกันในกลางเดือนหน้า



_MG_9894.JPG
  • ปูม-ปิยสุ โกมารทัต

ความจริงแล้ว 3 พฤศจิกายน ที่ใกล้จะถึงนี้ ‘ซีน ซีน สเปซ’เองก็กำลังจะจัดคอนเสิร์ตเองเช่นกัน โดยมีศิลปินจากค่ายปริณัมเกือบทั้งหมดมาเล่น และมี ‘Grrl Gang’ วงจากอินโดนีเซียมาร่วมแจมด้วย

ด้วยความรัก การเข้าคลุกคลีตีวงใน และประสบการณ์กว่าทศวรรษในอุตสาหกรรมเพลงนอกกระแส เราชวนเขาคุยถึงธุรกิจโปรโมเตอร์วงดนตรีอินดี้ในปัจจุบัน เทรนด์เพลงนอกกระแสของไทย และตลาดแต่ละประเทศ ว่าเป็นอย่างไร ไปถึงไหน และ (น่าจะ) ไปยังไงต่อ ซึ่งบอสใหญ่ของ ‘ซีน ซีน สเปซ’ เปิดปูมเล่าให้ฟังอย่างหมดเปลือก


เหมือนปัจจุบันเราได้ฟังเพลงนอกกระแสกันมากขึ้น แล้วคุณมองว่าวงการดนตรีอินดี้ในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ปูม : ค่อนข้างจะกลับมาอีกแล้ว

มันมีช่วงหนึ่งเหมือนกันที่ โห...คนฟังอินดี้อย่างเดียว ถ้าจำยุคเพลงอินดี้ได้ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ที่แฟตเรดิโอ (Fat Radio) รุ่งเรือง ทุกคนต้องไปแฟตเฟสติวัล (Fat Festival) เพลงอินดี้เกิดใหม่มากมายจนมาถึงปัจจุบันนี้ แล้วมันก็หายไป แพ้ไป เพลงอินดี้เหมือนจะกลายเป็นเพลงอันเดอร์กราวน์ไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าวงอินดี้ใหม่ที่เหมือนจะมาดังได้แบบวงสครับบ์ (Scrubb) วงสควีซ แอนิมอล (Sqweez Animal) เริ่มไม่มีแล้ว

แต่ตอนนี้มันใกล้เคียงยุคนั้นแล้ว ด้วยความที่เราเข้าสู่ยุคสตรีมมิ่งอย่างเต็มเปี่ยม เราไม่ต้องไปพูดถึงเทป ซีดี เอ็มพีสาม ทุกคนสามารถฟังเพลงอะไรก็ได้จากมือถือของเรา ในยูทูปเองก็มีเรคคอมเมนต์เพลงทุกสิ่งอย่าง ฉะนั้นมันก็เลยง่ายมากต่อวงอินดี้วงหนึ่งที่จะเผยแพร่เพลงตัวเอง เราทำเพลงออกมาปุ๊บ เปิดแฟนเพจเฟซบุ๊ก อัพเพลงลงยูทุป ลงสตรีมมิ่งต่างๆ

มันก็เลยเหมือนกับว่า วงการเพลงอินดี้กำลังจะกลับมา อย่างเช่นตอนนี้ ก็จะมีเทศกาลดนตรีในไทย ที่เชิญวงอินดี้ไปเล่นมากขึ้น


ถ้ามองว่าสตรีมมิ่งคือ ‘โอกาส’ แต่ก็เป็นความยากของศิลปินเกิดใหม่ด้วยไหม

ปูม : ทุกอย่างมันง่ายขึ้น แม้กระทั่งราคาในการทำเพลง แต่ก่อนคนต้องไปเช่าสตูดิโอ แต่เดี๋ยวนี้โฮมสตูดิโอถูกๆ อุปกรณ์ง่ายๆ ทำที่บ้านก็ได้ ทุกคนทำเพลงกันกระจุย ได้ตังค์บ้างไม่ได้ตังค์บ้าง แล้วก็อัพขึ้นระบบทั้งยูทูป หรือสตรีมมิ่งต่างๆ ก็เลยเกิดคู่แข่งมากมาย มันก็เกิดความยาก

แต่ความยากนี่มันก็ยังเป็นโอกาสเหมือนกัน เพราะว่าทำให้คนที่เขาเก่งจริงๆ เขาก็ต้องพยายามอย่างหนักหน่วงที่จะสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมาให้มันโดดเด่นไม่เหมือนชาวบ้าน และก็มีพื้นที่ของตัวเองให้ได้

จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าเกิดเราทำเพลงขึ้นมาใหม่แต่หาจุดไม่ซ้ำใคร ทำแบบนี้แหละ คนต้องชอบแน่ๆ ก็คิดว่าน่าจะไม่ยาก น่าจะทำได้ หลายๆ วงก็ทำมาแล้ว


แสดงว่าตอนนี้มีหลายวง หรือหลายคน ที่เป็นศิลปินนอกกระแส และได้รับความนิยมจากตลาดคนฟังเพลงหลัก

ปูม : ถ้าให้พูดถึงที่มาแรงในตอนนี้ก็ ภูมิ วิภูริศ ที่ถ้าใครยังไม่รู้จักก็ควรไปทำความรู้จักเขา เขาเพิ่งจะมาดังไม่นานนี้เอง ซึ่งจริงๆ เขาไม่ได้เพิ่งทำ (เพลง) ด้วย เขาทำเพลงมา...รู้สึกจะมีอัลบัมหนึ่งแล้ว นี่น่าจะอัลบัมที่ 2 ก็... (นิ่งคิด) น่าจะ 4-5 ปีแล้วล่ะครับ ตอนนี้อยู่ค่ายแร็ตส์ เรคคอร์ด (Rats Records)

จากเดิมที่เขา (ภูมิ) ทำเพลงภาษาอังกฤษอย่างเดียว และไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ กลายเป็นไปดังเมืองนอกก่อน ไปดังที่เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตอนนี้ทัวร์อเมริกาอยู่ แล้วเดี๋ยวก็จะทัวร์ยุโรป ทัวร์เอเชีย กลายเป็นระดับโลกไปแล้วตอนนี้

จากค่ายปริณามมิวสิก ก็จะมี จิม แอนด์ สวิม ที่ได้ไปเล่นต่างประเทศมาหลายมากมาย คนก็จะนิยาม จิม แอนด์ สวิม ว่าเป็นทรอปิคัลพ็อพ มันก็คือเพลงพ็อพแบบหนึ่งอะครับ แต่แค่มันจะมีซาวด์ หรือคาแรกเตอร์บางอย่างที่อาจจะไม่เหมือนคนอื่น และมีความสนุกในการร้องตามง่าย ถ้าได้ดูคอนเสิร์ตก็มีจะความเอนเตอร์เทน ก็เลยเข้าถึงง่ายขึ้น เพลงเขาจะเป็นเพลงภาษาอังกฤษด้วย


ฟังจากที่เล่ามา คำว่า ‘เพลงอินดี้’ ดูจะไม่ใช่เรื่องของแนวเพลงเท่าไหร่นัก เพราะศิลปินที่ยกตัวอย่างมาเพลงก็ดูเข้าถึงง่าย แล้ว ‘เพลงอินดี้’ คืออะไรกันแน่

ปูม : มันมีความเข้าใจผิดที่คนชอบคิดว่า อินดี้เป็นแนวเพลง แต่จริงๆ ไม่ใช่นะครับ ถ้าพูดแบบตรงๆ มันคือ ‘อินดีเพนเดนต์’ แปลว่าอิสระ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อยู่ค่ายอิสระ อยู่สังกัดอิสระ แล้วเป็นอินดี้ ไม่ใช่แบบนั้นอีก

มันอยู่ที่ “กระบวนการทำงาน” และ “อิสระในการทำงาน” เช่น วงๆ นี้แต่งเพลงเขียนเพลงเอง ทำเพลงเอง คิดเพลงเอง ทุกสิ่งอย่างเลย ไม่มีใครมาครอบ มากรอบ มาอยู่ภายใต้กฎของมาร์เกตติ้ง ก็เรียกว่าตัวเองเป็นอินดี้ได้แล้ว ถึงแม้ว่ากูจะทำเพลงที่เป็นแมส (กระแสหลัก) ก็ตาม

แต่กระบวนการเป็นอิสระ ไม่มีใครมาบังคับอะไร ฉันทำที่ตัวเองต้องการ ชอบ ก็สามารถเรียกตัวเองเป็นอินดี้ได้


เป็นแนวเพลงอะไรก็ได้

ปูม : เพลงอินดี้เป็นทั้งร็อค พ็อพ แจ๊ซ ฮิปฮอป อาร์แอนบี ได้หมดเลย


หลายๆ คนบอกว่า เพลงนี้ ‘อินดี้’ ว่ะ ฟังยากจัง เพลงอินดี้นี่ฟังยากจริงรึเปล่า

ปูม : อย่างที่บอกว่าเพลงอินดี้เนี่ย มันมีทุกแนว ถ้าเข้าใจคำว่าอินดี้ มันไม่ใช่ใช้กับเพลงอย่างเดียว แต่ใช้กับคนด้วย อย่างที่เราเรียกว่าไอ้คนนี้มันเด็กแนวว่ะ มันก็คือคนอินดี้ จะทำอะไรก็ได้ตามใจ

ทีนี้มันก็เลยมาสู่การทำเพลงของเขาด้วย ว่าเขาจะทำอะไรก็ไม่รู้ขึ้นมา มันก็เลยมาสู่แนวเพลงที่แบบว่า โอโห...ยิ่งลึก ยิ่งดาร์ก ยิ่งหม่น เป็นเพลงบรรเลงที่เล่นกีตาร์คอร์ดเดียวทั้งเพลง กลองก็ตีไม่เป็นจังหวะ แบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ในเพลงอินดี้นะครับ เพราะมันไม่มีกรอบเลย


แนวเพลงที่แปลกๆ หลุดๆ ไปเลย ก็มีใช่ไหม

ปูม : ก็มีครับ แนวทดลองก็มี ที่เรียกว่า ‘เอ็กเปอริเมนทัล’ (Experimental music) ทีนี้ยังมีเพลงที่ไม่มีแก่นสาร ไม่มีสาระ แบบดนตรีฟังไม่ยาก แต่เนื้อร้องพูดตลก เลอะเทอะ ล้อการเมืองก็มี


พูดได้ไหมว่า ‘เพลงอินดี้’ ถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เพลงไทยไปไกลกว่าเพลงรัก

ปูม : คิดว่ามันก็ไปได้เหมือนกันนะ ถ้าพูดถึงเนื้อเพลงในวงการเพลงอินดี้มันค่อนข้างกว้างมากเลย ถ้าพูดถึงในค่ายปริณัมมิวสิค แต่ละเพลงแทบไม่มีคำว่า ‘รัก’ หรือมีน้อยมาก เราจะเล่นกับประเด็นอื่นๆ มากมาย ถ้าเป็นคำตอบของคำถาม ก็ใช่นะครับ

เพราะชีวิตจริงเราสามารถเล่าอะไรได้หลายเรื่องมากๆ เลย เช่น ในค่ายมีวงเวฟ แอนด์ โซ (Wave and So) แต่งเพลงชื่อ ‘วันนี้เรานัดกัน’ เนื้อหาของเพลงก็มีแค่ว่า เรานัดกัน เราต้องเจอกัน แต่ฉันตื่นสาย ทำไงดีน้า คือเป็นมุมชีวิตเล็กๆ แต่มันดันทำให้พูดถึงได้


18582574_1357383251042958_3908098414193370915_n.jpg
  • WAVE AND SO @ DYGL LIVE IN BKK ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Seen Scene Space

หรือวงซีล พิลโลว (Seal Pillow) มีเพลงชื่อว่า ‘รองเท้าผ้าใบ’ พูดถึงว่าฉันชอบผู้หญิงคนนี้จังเลย เพราะว่าเธอใส่รองเท้าผ้าใบแล้วดูเท่ดี


แล้วจากประสบการณ์ 4 ปีของการจัดคอนเสิร์ตวงดนตรีอินดี้จากต่างประเทศ ‘ซีน ซีน สเปซ’ มีจุดยืนในการเลือกศิลปินยังไง

ปูม : ธีมสำหรับ ‘ซีน ซีน สเปซ’ ด้วยความที่เรามองวงอินดี้ วงที่ขึ้นบิลบอร์ดชาร์ตไปแล้ว เราก็คงไม่เอามา ก็อาจจะมีเจ้าอื่นที่เอามาอยู่แล้ว ฉะนั้น มันก็เลยเริ่มต้นจากที่ทั้งเรา และตัวทีมทั้งหมดชอบก่อน ทุกคนก็จะเสนอมา เฮ้ย! มีวงนั้นน่าสนใจ วงนี้น่าสนใจ น่าเอามา แล้วเขาเองก็กำลังมีกระแสอยู่ หรือบางวงอาจจะไม่มีกระแสเท่าไหร่ มีนิดหนึ่ง เป็นกลุ่มเล็กแต่เราอยากนำเสนอให้คนอื่นรู้จัก น่าเอาเข้ามาให้คนไทยได้ดู ซึ่งหลักๆ จะเป็นวงจากในเอเชียครับ


วงไหนที่นำเข้ามาแล้วได้รับการตอบรับที่ดีที่สุด

ปูม : ก็ถ้าเห็นชัดๆ ก็คือวงฮย็อกโอ (Hyukoh) จากเกาหลี นี่ก็คืออินดี้เกาหลีเลย ไม่ใช่เค-พ็อพ (K-Pop วงการเพลงกระแสหลักของเกาหลีใต้) แต่เขาอยู่ในหมวดเค-อินดี้ (K-Indy)


20106625_1415195608595055_5613285211419131127_n.jpg
  • HYUKOH Live in BKK 2017 ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Seen Scene Space

ที่เกาหลีวงการเพลงเขาค่อนข้างใหญ่โตมาก เพราะว่าเค-พ็อพเขาค่อนข้างแข็งแรง เขาเลยแยกเซ็กชั่นเลยว่า อันนี้เค-พ็อพ ก็จะเป็นวงไอดอลไป เค-อินดี้ก็คือวงอินดี้ ตอนนี้ก็เริ่มแตกไลน์เป็นเค-ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี ต่างๆ นาๆ

ฮย็อกโอก็เป็นวงเค-อินดี้ที่ดังมาก จนไปเข้าชาร์ตเค-พ็อพ จริงๆ เขาก็แอบมีแฟนเพลงในไทยประมาณหนึ่งเหมือนกัน


ฟังดูเหมือนว่าวงการเค-พ็อพ และเค-อินดี้ มีความแตกต่างกันมากเลย

ปูม : เค-พ็อพ ที่เรารูจักกันอย่างแบล็กพิงค์ (BLACKPINK) เกิร์ลเจเนอเรชั่น (Girl’s Generation) หรือก็อตเซเว่น (GOT7) บีทีเอส (BTS) แนวเพลงเขาก็เเมสเลย รากดนตรีเขามาจากฝรั่ง ฝั่งอเมริกา แม้กระทั่งว่าบางเพลงก็ไปซื้อดนตรีเขามาแล้วก็ใส่เนื้อเพลงเกาหลี

อย่างที่บอก ชื่อมันก็คือเค-พ็อพ มันก็จะเข้าใจง่าย ทีนี้พอเป็นเค-อินดี้ วงการเขามันก็จะคล้ายๆ อินดี้บ้านเราน่ะครับ แต่ถ้าฟังดีๆ เค-อินดี้ของเกาหลีก็อาจจะมีวงที่เพลงไม่ลึกมากเท่าบ้านเรา สายทดลองอาจจะไม่มีเยอะเท่าบ้านเรา อาจจะเป็นเพราะว่ากระแสเค-พ็อพเขาใหญ่มากจนบดบังแทบทั้งวงการเพลง

แต่เค-อินดี้มันก็มีประมาณนึง แต่ก็โตมากนะครับ ก็มีวงดังๆ ประสบความสำเร็จมากมาย อย่างเช่น ฮย็อกโอ


เห็นเหมือนกันว่า ‘ซีน ซีน สเปซ’ นำวงอินดี้จากญี่ปุ่นมาแสดงหลายวงมาก

ปูม : ญี่ปุ่นก็นำเข้ามาเยอะน่าจะเป็นสิบวงแล้ว ที่ผ่านมาที่มาแล้วประสบความสำเร็จก็คือ ลัคกี้ เทปส์ (LUCKY TAPES) เดอะ ฟิน. (The fin.) ที่มากัน 3 ครั้งแล้วครับ แล้วก็โยกี นิว เวฟส์ (Yokee New Waves)


29351500_1676989399082340_7631228413401778324_o.jpg
  • The fin. + Yogee New Waves Live in Bangkok ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Seen Scene Space
ทำไม เดอะ ฟิน. มากันตั้ง 3 ครั้ง

ปูม : เป็นวงที่โตมากับ ‘ซีน ซีน สเปซ’ เลยครับ คือเทศกาลดนตรีแรกที่จัดแล้วมีวงต่างชาติ ตอนนั้นก็ชวนเขามาเพราะอยากให้งานนี้มีวงเมืองนอกหรืออะไรสักอย่างที่ทำให้งานนี้น่าสนใจ พอชวนเขามาแล้วเขาก็ยอมซะงั้น ก็เลย อะ...แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนไทยจะรู้จักเขาเยอะ

แต่วันนั้นค้อนข้างประสบความสำเร็จ มีแฟนเพลงของ เดอะ ฟิน. มาเยอะมาก แล้วก็เริ่มมีฟีดแบ็กมาว่า “โห! เอามาได้ไงเนี่ย” “ไปขุดมาจากไหน ได้ไง” คือส่วนใหญ่เขาจะฟังในยูทูป พวกสตรีมมิ่งต่างๆ

ตอนนั้นคือช่วง 4 ปีก่อน ช่วงนั้นวงนี้ก็ไม่ได้ดังอะไรมากหรอก ก็ไม่ได้มีผู้จัดจำหน่ายไทยที่จะเอาเขาเข้ามา หรือเอาเพลงเขามาขาย จากนั้นเขาก็ออกอัลบัมใหม่ในปีต่อมา ก็ถามให้เขามาคอนเสิร์ตใหญ่เลย

แล้วจากนั้นก็เว้นปีหนึ่งเขาก็ออกอัลบัมใหม่อีก จากนั้นผู้จัดการซึ่งซี้กันแล้วครับ เขาก็บอกว่า “เฮ้ ยู ไออยากมาอีก” เราก็บอกมาเลย

ค่ายปริณัมก็ได้ขอสิทธิ์เขามาจัดจำหน่ายในไทยด้วย ในนามของปริณัมมิวสิก มันเลยเหมือนเดอะ ฟิน. กลายเป็นหนึ่งในศิลปินในค่าย คือเขาจะมากี่ครั้งก็ได้ขอเพียงบอกมา


เพลงในกระแสของญี่ปุ่นกับเพลงอินดี้ญี่ปุ่น มีความแตกต่างกันเยอะไหม เพราะเพลงญี่ปุ่นกระแสหลัก ที่ก็เป็นที่นิยมในบ้านเรา ก็มีดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอยู่แล้ว

ปูม: วงการเพลงญี่ปุ่นนี่คือยิ่งใหญ่มาก ยิ่งในเอเชียนี่คือ น่าจะโตที่สุดแล้วมั้งครับ เพราะว่าซีดีเขาก็ยังขายได้ด้วยนะ

ความเจ๋งคือประเทศอื่นซีดีตายหมดแล้ว คือประเทศเราตายแล้ว อเมริกาก็ยังแทบไม่รอด แต่ญี่ปุ่นยังมีทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ (Tower Records) อยู่ เวลาเราไปเที่ยวญี่ปุ่นก็จะขอทุกคนหนึ่งวันว่าขอใช้ชีวิตในทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ ก็จะได้ซีดีกลับมาสิบกว่าแผ่นตลอด ทำให้รู้สึกว่าวงการเพลงเขาใหญ่โตมาก

และนอกจากทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ เขายังมีไลฟ์เฮ้าส์ (Live house) คือสถานที่เพื่อให้คนไปจัดคอนเสิร์ต เล่นดนตรี อาจจะจุคนได้แค่ ร้อยคน สองร้อยคน หรืออาจจะมีขนาดเป็นพันก็มีนะครับ ซึ่งมีเยอะมากทุกเมือง ทุกเมืองในญี่ปุ่นต้องมีไลฟ์เฮ้าส์ให้คนได้เล่น


นั่นเป็นเหตุผลทำให้ศิลปินนอกกระแสญี่ปุ่นมีพื้นที่ที่จะขึ้นจัดแสดง และเติบโตกว่าประเทศอื่น

ปูม : คือวงญี่ปุ่นสามารถทัวร์ทั่วประเทศได้สบายๆ ก็แค่โทรไปจองไลฟ์เฮ้าส์ แล้วแบ่งส่วนแบ่งกัน ทำให้วงการเพลงของเขาเจริญเติบโตมาก เพราะนอกจากจะยังซื้อซีดีได้ สตรีมมิ่งเดี๋ยวนี้ก็พัฒนาครบครันแล้ว ตกเย็นยังจะไปดูคอนเสิร์ตที่เขามาเล่นก็ได้อีก

อย่างโตเกียวคือ... โอโห น่าจะเกือบพันไลฟ์เฮาส์ได้ โอซากาเองก็เยอะมาก


สนใจวงดนตรีนอกกระแสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้บ้านเราบ้างไหม

ปูม : เคยเอาวงจากอินโดนีเซียเข้ามา ซึ่งเดี๋ยวจะเอามาอีกหนึ่งวงเร็วๆ นี้

ที่อินโดฯ วงการเพลงเขาทั้งกระแสหลัก นอกกระแส คล้ายๆ บ้านเรา ซึ่งไม่รู้ดี หรือไม่ดี (หัวเราะ) ตอนไปอินโดฯ ก็ตะลุยเจอกับพวกค่ายอินดี้ เพื่อทำความรู้จักกัน แล้วก็เห็นว่า เออ เขามีความคล้ายไทย ที่มีทุกแนว สายลึกก็มี เผลอๆ อาจจะใหญ่กว่านิดนึงด้วย ด้วยความที่ประชากรเยอะกว่าเรา แล้วก็มีบ้านเมืองหลายที่เป็นหมู่เกาะ เขาเลยจัดเทศกาลดนตรีตามหมู่เกาะได้ ทำให้คนอินโดฯ เข้าถึงดนตรีต่างๆ มากขึ้น ทำให้เพลงนอกกระแสไปได้กว้างขึ้นเหมือนกัน

ตอนนี้เล็งวงฟิลิปปินส์ไว้ชื่อ เมลโล เฟลโล (Mellow Fellow) กำลังมาแรงมาก คือฟังมานานแล้วในยูทูป นึกว่าเขาเป็นวงจากอเมริกา หรือมาจากตะวันตกเสียอีก เพราะในยูทูปมันมีเรคคอมเมนต์ก็ฟังไปเรื่อยๆ เพิ่งมารู้เมื่อไม่นานมาว่าเป็นวงฟิลิปปินส์นี่หว่า เพราะเพิ่งได้คุยกับเพื่อนโปรโมเตอร์ คนจัดคอนเสิร์ตที่เกาหลีใต้ เขาก็บอกว่า เขาสนใจวงนี้นะ จะชวนมาอยู่ ได้เอาเข้าไปรึยัง ก็เฮ้ย! นี่มันวงที่ไอฟังมาตั้งนาน วงฟิลิปปินส์หรอกหรอ ก็เลยเล็งๆ อยู่ครับ คิดว่าน่าจะได้ดูกัน


คิดว่าคนไทยคงได้ดูคอนเสิร์ตที่จัดโดย ‘ซีน ซีน สเปซ’ ไปเรื่อยๆ

ปูม : เรื่อยๆ ครับ แพลนยาวถึงกลางปีหน้าแล้ว


ถ้าพูดถึงเรื่องความคุ้มทุนของการจัด ถือว่ากราฟดีขึ้นไหม

ปูม : (หัวเราะ) เอาจริงๆ การทำอะไรในแง่ของอินดี้ ทุกสิ่งอย่างไม่ใช่แค่เพลง มันต้องมาจากแพสชั่นตัวเองเป็นหลักเลย ซึ่งเราพยายามใช้แพสชั่นตัวเองเป็นหลักในการทำสิ่งที่สนุก และแฮปปี้กับมัน

ตั้งแต่ทำค่ายเพลงมา 11 ปี ถ้าในมุมมองธุรกิจ หรือเศรษฐศาสตร์ ถือว่าล้มเหลวครับ (หัวเราะ) คือแค่พออยู่รอดเท่านั้นเอง 4 ปีที่ผ่านมาเราถึงเริ่มแตกไลน์มาทำ ‘ซีน ซีน สเปซ’ จัดคอนเสิร์ตกัน

มีบางงานได้บ้าง บางงานก็เจ๊ง อย่างบางงานเห็นวงแล้ว หรือดูแนวเพลงของวงแล้วเจ๊งแน่นอนก็มี แต่มันก็อยากจัดอะ อยากให้คนไทยได้ดู เฮ้ย! วงแบบนี้ต้องเล่นในเมืองไทยดิวะ ทำไมต้องบินข้ามหัวเราตลอดเลย ดังนั้น ถ้ามองมุมธุรกิจก็คิดว่า พออยู่รอดแล้วกัน

On Being
198Article
0Video
0Blog