สำนักข่าว Asian Correspondent รายงานว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการใช้บอท หรือโปรแกรมสนทนาอัตโนมัติ ในการจัดการบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นมากจนผิดสังเกต หรือที่มีคนเรียกว่าปรากฏการณ์ #Botmageddon
คนแรกที่เริ่มตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้คือ มายา กิลลิส-แชปแมน ผู้ก่อตั้ง Cambodians in Tech องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านเทคโนโลยีเปิดเผยว่านับตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เธอมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์มากขึ้นกว่า 1,000 คน และหลังจากที่เธอดูรายชื่อผู้ติดตามของเธอก็พบว่า ผู้ติดตามส่วนใหญ่เป็นบัญชีที่เพิ่งสมัครใหม่ที่น่าจะเป็นบอท
บอทเหล่านี้มักไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวใดๆ ไม่มีรูปโปรไฟล์ ชื่อจริง หรือแทบไม่ทวีตหรือรีทวีตอะไร ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าบัญชีเหล่านี้เป็นบัญชีปลอมหรือบอทเท่านั้น จากนั้น ก็มีรายงานว่า คนดังหลายคนจากไทย เวียดนาม เมียนมา ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย รวมถึงศรีลังกา สังเกตเห็นว่ามีบอทกดติดตามมากขึ้น
หลายคนรู้สึกกังวลว่าบอทเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างข่าวลวงก่อนจะมีการเลือกตั้งในกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ช่วง 2 ปีต่อจากนี้ โดยมีชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้ทวิตเตอร์จัดการกับบอทที่ทวีตข่าวปลอมเพื่อใส่ร้ายผู้สมัครบางคนหรือสนับสนุนผู้สมัครบางคน
หลังจากที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่ามีบอทในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทวิตเตอร์ได้ชี้แจงว่าจะตรวจบัญชีผู้ใช้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบอท และจะดำเนินการลบบัญชีผู้ใช้ที่ละเมิดกฎของทวิตเตอร์ อย่างไรก็ตาม โฆษกของทวิตเตอร์ยืนยันว่าการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของบัญชีผู้ใช้ใหม่ เกิดขึ้นจากกระบวนการสมัครตามปกติ
ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียหลายคนมองว่ามาตรการจัดการบอทโดยหน่วยงานรัฐของแต่ละประเทศจะไม่สร้างความแตกต่างหรือมีประสิทธิภาพมากเท่ากับทวิตเตอร์จัดการบอทด้วยตัวเอง ดังนั้น หน่วยงานรัฐของประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องกดดันให้ทวิตเตอร์ออกมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมบอทและการปล่อยข่าวปลอม
อย่างไรก็ตาม หากภูมิภาคนี้ไม่สามารถทำได้ สภาคองเกรสของสหรัฐฯ อาจเป็นผู้กดดันทวิตเตอร์เอง หลังนายชัค แกรสลีย์ ส.ว.ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า อาจเรียกนายแจ็ก ดอร์ซีย์ ซีอีโอของทวิตเตอร์ไปสอบสวนเกี่ยวกับมาตรการด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และมาตรการปราบปรามการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งที่ผ่านมา
ที่มา: Asian Correspondent
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: