ไม่พบผลการค้นหา
การแชร์ข้อมูลปลอม เรื่องใส่ร้ายป้ายสี หรือข้อความสร้างแรงบันดาลใจที่อ้างอิงบุคคลมาผิดๆ อาจทำให้เกิดความเสียหายกับสังคมแวดล้อมมากกว่าที่คิด และผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อย้ำว่าการป้องกันที่ดีสุดต้องเริ่มจาก 'ผู้ใช้สื่อ'

หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหา 'ข่าวปลอม' ถูกแพร่กระจายไปยังผู้ใช้สื่อออนไลน์ และทำให้เกิดความขัดแย้งหรือข้อพิพาทในสังคม ทำให้มีการรณรงค์เรื่อง Online Media Literacy หรือความรู้เท่าทันสื่อออนไลน์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังต้องย้ำเรื่องนี้กันบ่อยๆ เพราะกลุ่มคนที่เสพสื่อออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงอาจมีคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่มีความรู้ที่จะวิเคราะห์หรือแยกแยะข้อมูลออนไลน์ได้

เว็บไซต์เอ็นบีซีนิวส์รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของรองศาสตราจารย์ เจนี ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนในสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ แต่มักจะมาจากเพื่อนฝูง คนรู้จัก หรือบุคคลมีชื่อเสียงที่อาจจะไม่ได้มีความรู้เท่าทันสื่อ แต่กฎเพียงไม่กี่ข้อจะช่วยให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์รอดพ้นจากการแชร์ข้อมูลปลอมหรือข้อมูลใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นได้

กฎข้อที่ 1: 'ไม่มีลิงก์' อย่าเพิ่งแชร์

รองศาสตราจารย์ลี ระบุว่ามากกว่าครึ่งของข้อมูลที่ไม่มีลิงก์กลับไปยังต้นตอ มักจะเป็น 'ข่าวปลอม' แต่ข้อมูลที่มีลิงก์แนบมาด้วย ก็ใช่ว่าจะจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องกลับไปดูยังลิงก์ข่าวต้นตอว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์เลียนแบบสำนักข่าวหรือมีการแอบอ้างตัวเป็นบุคคลอื่นๆ อยู่เต็มไปหมด

ข้อสังเกตง่ายๆ ว่าเว็บไซต์เป็นของแท้หรือเทียม อาจดูได้จากข้อมูลที่เผยแพร่ว่ามีลักษณะชวนให้กดเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมแบบ 'คลิกเบท' หรือไม่ และแม้เว็บไซต์จะดูน่าเชื่อถือก็ต้องดูไปถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เผยแพร่ก่อนหน้านั้นด้วย รวมถึงเปรียบเทียบกับข้อมูลในเว็บไซต์อื่นๆ ว่ามีผู้รายงานเรื่องดังกล่าวไว้บ้างหรือไม่

ถ้าไม่มีข้อมูลจากแหล่งอื่น ก็ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลน่าสงสัยที่ยังไม่ควรแชร์ต่อ

facebook03.jpg

กฎข้อที่ 2: สิ่งที่เราชอบ อาจไม่ใช่สิ่งที่ 'ควรเชื่อ'

ระบบจัดการข้อมูลในสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิล จะเรียงลำดับข้อมูลตามความนิยม สิ่งที่ผู้ใช้สื่อมองเห็นเป็นอันดับแรกจึงมักเป็นสิ่งที่เราแสดงความรู้สึกเชิงบวกหรือข้อมูลที่ค้นหาบ่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลที่ชอบจะเป็นความจริงเสมอไป เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ตั้งคำถามกับข้อมูลที่ตัวเอง 'ถูกใจ'

ไมเคิล เจ โซโคลอว์ อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเมนในสหรัฐฯ เผยแพร่บทความในนิวยอร์กไทม์ส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยชี้ให้เห็นว่า 'คนฉลาด ก็พลาดได้' โดยเฉพาะการแชร์สิ่งที่ตัวเอง 'ถูกใจ' ในสื่อออนไลน์ แต่เมื่อแชร์ข่าวหรือข้อมูลไปแล้ว กลับส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ เพราะสิ่งที่แชร์เป็นข่าวปลอมหรือข้อมูลลวงโลก

ความผิดพลาดเหล่านี้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะผู้ใช้สื่อจำนวนมากมักจะลืมไปว่าระบบจัดการสื่อสังคมออนไลน์จะประมวลจากพฤติกรรมการใช้งานของเราเอง สิ่งที่เราชอบหรือมักจะมีปฏิสัมพันธ์ด้วยจะปรากฎให้เห็นเป็นอันดับแรก เช่นเดียวกับคนในแวดวงที่เราตั้งค่าให้เป็นอันดับแรกก็มักจะบุคคลที่คิดเห็นหรือสนใจในเรื่องเดียวกันกับเรา

เมื่อมีเพื่อนในสื่อออนไลน์แชร์ข้อมูลเรื่องเดียวกันซ้ำๆ เป็นจำนวนมาก ก็อาจทำให้คนฉลาดไขว้เขว และ 'ลืมตรวจสอบ' ความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าวไปได้ง่ายดาย ทำให้คนมีการศึกษาสูงๆ หลายรายแชร์ข่าวปลอมโดยไม่รู้ตัว

กฎข้อที่ 3: คิดก่อนแชร์ ปลอดภัยกว่า

สื่อออนไลน์อยู่ได้ด้วยการมีปฎิสัมพันธ์กับผู้ใช้ ยิ่งมีคนกดไลก์หรือตอบโต้มากเท่าไหร่ ยิ่งกระตุ้นให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกแชร์ไปไกลขึ้น ผู้ที่ต้องการหาผลประโยชน์จากสื่อออนไลน์จึงมักจะใช้พฤติกรรมเช่นนี้ของผู้ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เพราะการเผยแพร่ข้อมูลปลอมเพื่อกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึก ทั้งเรื่องอื้อฉาวหรือประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งในสังคม รวมถึงข้อความสร้างแรงบันดาลใจที่อ้างอิงมาแบบผิดๆ จะช่วยปั่นกระแสให้มีการแชร์ต่อไปมากขึ้น

โซโคลอว์จึงแนะนำผู้ใช้สื่อออนไลน์ว่า "ก่อนจะแชร์ ควรหยุดคิดสักนิด" แล้วถามตัวเองอีกครั้งว่า "แชร์ข้อมูลนี้แล้วได้อะไร และถ้าไม่แชร์แล้วจะเป็นยังไง" ถ้าข้อมูลที่อยากแชร์ไม่มีที่มาที่น่าเชื่อถือ ก็ไม่ควรแชร์ โดยเฉพาะข้อมูลที่ถูกใจแต่ตรวจสอบไม่ได้ หรือข้อมูลที่เพื่อนในสื่อออนไลน์แชร์กันเป็นจำนวนมาก

การแชร์โดยอาศัยปฏิกิริยาอัตโนมัติอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ เพราะถ้าสิ่งที่แชร์เป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลที่เป็นการใส่ร้ายป้ายสี อาจทำให้ผู้ถูกพาดพิงเสียหาย และผู้แชร์ข้อมูลอาจมีความผิด

มือถือ

"โลกแห่งข้อมูลข่าวสารกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว"

สำนักข่าวบีบีซีซึ่งเป็นสื่อสาธารณะของสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งสถาบันเก่าแก่ที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อข่าวปลอมที่มีต่อสังคม จึงเสนอแนวทางอบรมและให้ความรู้ผู้ใช้สื่อออนไลน์ตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน เพื่อให้ตระหนักรู้และสามารถรับมือกับโลกยุคปัจจุบันที่ข่าวสารข้อมูลค่อนข้างจะล้นเกินความจำเป็น โดยบีบีซีระบุว่าวัยที่ควรจะเริ่มเรียนรู้เรื่องการวิเคราะห์สื่อออนไลน์จะอยู่ที่ 12-15 ปี

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวปลอมเป็นเรื่องที่รัฐบาลหลายประเทศตระหนักและพยายามหาทางป้องกัน เพราะไม่ใช่แค่เยาวชนที่เริ่มต้นเข้าสู่วัยรุ่นเท่านั้นที่จะตกเป็นเหยื่อของข้อมูลปลอม แต่มีกรณีตัวอย่างมาแล้วว่าบุคคลสำคัญระดับ 'ผู้นำประเทศ' ก็พลาดมาแล้วหลายครั้ง โดยสื่อสหรัฐฯ เคยรายงานว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน อ้างข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเดโมแครตก็เคยมีประวัติแบบเดียวกัน และสิ่งเหล่านี้คือ 'ปัญหาร่วม' ที่ประชาคมโลกต้องหาทางแก้ไข


"ถ้าคนสัก 320 ล้านคนเชื่อในข่าวลือหรือข่าวปลอมจนปฏิเสธข้อเท็จจริง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะร้ายแรงยิ่งกว่าข้อมูลของรัฐบาลถูกแฮกเสียอีก"

เรนดัล ไมนัส จูเนียร์ อาจารย์ด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สัมภาษณ์กับเอ็นบีซีนิวส์เพ่ิมเติมว่าการแชร์ข้อมูลปลอมหรือข้อมูลใส่ร้ายป้ายสี ทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมมากกว่าที่หลายคนคาดคิด โดยเฉพาะข้อมูลที่ทำให้เกิดความแตกแยกหรือการเลือกปฏิบัติเพราะความเกลียดชัง ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของข้อมูลเหล่านี้ต้องเริ่มจากผู้ใช้งานสื่อออนไลน์เป็นอันดับแรก

สิ่งที่ต้องทำเมื่อแยกแยะได้ว่าสิ่งที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ไม่ใช่เรื่องจริง ก็คือการบอกกล่าวหรือเตือนคนในเครือข่ายที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยให้ได้รับรู้ข้อเท็จจริง แม้บางคนจะยังเลือกเชื่อสิ่งที่เขาอยากจะเชื่อ แต่อย่างน้อยก็จะมีการบันทึกไว้ว่าข้อมูลเรื่องใดบ้างที่ไม่ใช่เรื่องจริง เพื่อลดโอกาสที่จะมีผู้แชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม: