ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าชายมหาเศรษฐีซาอุดีอาระเบียที่ถูกจับกุมในข้อหาคอรัปชั่น ถูกรัฐบาลเรียกร้องให้จ่ายเงิน 6 พันล้านดอลลาร์ แลกกับอิสรภาพ แต่เจ้าชายไม่ทรงยินยอม เนื่องจากเกรงว่าจะเท่ากับเป็นการยอมรับว่าทำผิดจริงตามข้อหา

หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษรายงานว่าเจ้าชายอัล-วาลีด บิน ทาลาล มหาเศรษฐีอันดับ 57 ของโลกชาวซาอุดีอาระเบียที่ถูกจับกุมในข้อหาคอรัปชั่นร่วมกับเจ้าชายและบุคคลสำคัญอื่นๆในประเทศอีกกว่า 300 ราย ถูกรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเรียกร้องเงินจำนวน 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 196,000 ล้านบาท เพื่อแลกกับอิสรภาพ

อย่างไรก็ตาม หนังสทอพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัลของสหรัฐฯรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดเจ้าชายอัล-วาลีด ว่าพระองค์ไม่ทรงยืนยอมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะเท่ากับเป็นการยอมรับว่าทรงทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา แต่ทรงต้องการให้มีการสอบสวนเรื่องนี้อย่างโปร่งใสมากกว่า นอกจากนี้ยังทรงเกรงว่าการเรียกเงินจำนวนมหาศาลเช่นนี้จะเป็นความพยายามในการบ่อนทำลายอาณาจักรธุรกิจมูลค่า 18,700 ล้านดอลลาร์ที่พระองค์ทรงสร้างมา 

ในบรรดาเจ้าชายและบุคคลระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย 320 รายที่ถูกจับกุมในข้อหาคอรัปชั่น และถูกกักขังไว้ที่โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน โรงแรมหรูใจกลางกรุงริยาดห์ เมืองหลวงของประเทศ มีเจ้าชายจำนวนมากถูกเรียกร้องให้จ่ายเงินเพื่อแลกกับอิสรภาพ เช่นเจ้าชายมูเทบ บิน อับดุลลา พระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลา กษัตริย์พระองค์ก่อน และผู้บัญชาการหน่วยทหารราชวัลลภ ที่ต้องทรงจ่ายเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 32,000 ล้านบาทแลกกับอิสรภาพ อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่รัฐบาลเรียกร้องจากเจ้าชายอัล-วาลีด เป็นหนึ่งในจำนวนเงินที่สูงที่สุดที่มีการเรียกร้องมา

ผู้ที่ผลักดันการจับกุมครั้งนี้คือเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ทรงเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สเมื่อเดือนที่ผ่านมา ว่าทุกๆปีนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา เงินประมาณร้อยละ 10 ของงบประมาณรัฐรั่วไหลไปกับการคอรัปชั่น และเจ้าชายผู้ถูกจับกุมในครั้งนี้ เป็นผู้ที่รู้เห็นกับการรั่วไหลดังกล่าว และในจำนวน 320 รายที่ถูกจับ มีประมาณร้อยละ 1 ที่พิสูจน์ได้ว่าตนเองบริสุทธิ์และได้รับการปล่อยตัว แต่มีอีกร้อยละ 4 ที่ยืนยันว่าตนเองไม่มีความผิด และต้องการไปต่อสู้ในชั้นศาล

การปราบปรามการคอรัปชั่นครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการกำจัดศัตรูทางการเมืองของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เพราะผู้ถูกจับกุมล้วนเป็นผู้ทรงอำนาจทางการเมือง ที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการขึ้นครองราชบัลลังก์ของพระองค์ เช่นเจ้าชายมูเทบ ที่ทรงกุมอำนาจ 1 ใน 3 ของกองทัพ และเจ้าชายอัล-วาลีด ซึ่งเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจทางการเงินอันดับต้นๆในซาอุดีอาระเบีย ทรงถือหุ้นของซิตี้แบงค์ ดิสนีย์ ทวิตเตอร์ และโรงแรมซาวอยในกรุงลอนดอน นอกจากนี้ยังทรงมีอิทธิพลทางการเมืองในฐานะเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และทรงมีบทบาทใน ARAMCO บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้เจ้าชายยังทรงเป็นหนึ่งในผู้ต่อต้านอิสราเอล ในขณะที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงโอนเอียงไปทางสหรัฐฯในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ มีท่าทีผ่อนปรนให้อิสราเอลมากขึ้น

เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช