การหายตัวไปอย่างลึกลับของนายจามาล คาชอกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย ที่เดินทางไปทำเอกสารในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูลของตุรกีเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลตุรกีและซาอุดีอาระเบีย โดยตุรกีได้กล่าวหาว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียสั่งฆ่านายคาชอกกีภายในสถานกงสุล แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
ทางการตุรกีได้เปิดเผยรายละเอียดคลิปเสียงที่นายคาชอกกีอัดและอัปโหลดขึ้นระบบคลาวด์ ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า ทันทีที่เขาเข้าไปในสถานกงสุล เขาก็ถูกรวบตัวไปทรมาน ตัดอวัยวะต่างๆ และตัดศีรษะภายในสถานกงสุลนั้น โดยที่กงสุลเองก็รู้เห็นเรื่องนี้ ส่งผลให้ทั่วโลกตื่นตะหนกกับการสังหารที่อุกอาจและโหดเหี้ยมของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และกลับมาสนใจการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบียและเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุด
จามาล คาชอกกีเป็นใคร?
จามาล คาชอกกี เป็นคอลัมนิสต์ชาวซาอุดีอาระเบียที่เคยเขียนข่าวและบทความให้กับสำนักข่าวชั้นนำของโลกหลายสำนัก แต่เมื่อปี 2017 คาชอกกีออกจากซาอุดีอาระเบียและเดินทางไปอาศัยในสหรัฐฯ เพราะต้องการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้อย่างเสรีกว่าการอยู่ในประเทศ จนได้รับสถานะผู้อยู่อาศัยถาวรแล้ว
ที่ผ่านมา คาชอกกีมักวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย และที่ผ่านมา เขาวิจารณ์นโยบาย 'ปฏิรูป' ประเทศให้ทันสมัยขึ้นของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุด ว่าเป็นเพียงนโยบายที่พระองค์ทรงนำมาบังหน้านโยบายอื่นๆ เช่น การลงทุนหลายล้านล้านดอลลาร์ไปกับการสร้าง 'เมืองแห่งอนาคต' หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ
บทความล่าสุดที่เขาเขียนให้กับสำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ก่อนจะหายตัวไปมีชื่อว่า สิ่งที่โลกอาหรับต้องการมากที่สุดคือเสรีภาพในการแสดงออก โดยอธิบายว่า ประเทศอาหรับส่วนใหญ่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือได้รับข่าวสารที่บิดเบือนจากความเป็นจริง
เกิดอะไรกับคาชอกกี?
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. เวลา 13.14 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายคาชอกกีเดินเข้าไปในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในนครอิสตันบูลของตุรกี ตามนัดหมายเพื่อทำเอกสารการหย่ากับภรรยาชาวซาอุดีฯ ของเขา ก่อนที่เขาจะไปแต่งงานใหม่กับคู่หมั้นชาวตุรกี หลังจากวันนั้นก็ไม่มีใครพบนายคาชอกกีอีกเลย
คู่หมั้นของนายคาชอกกี ซึ่งรออยู่หน้าสถานกงสุลอยู่หลายชั่วโมง จึงเข้าไปสอบถาม แต่เจ้าหน้าที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบียระบุว่า คาชอกกีเข้าไปทำเรื่องหย่าเสร็จไม่นานก็ออกไปทางประตูหลังของสถานกงสุล แต่ทางการตุรกีออกมาแถลงว่า ข้อมูลที่ทางการตุรกีได้รับมาระบุว่า นายคาชอกกียังไม่ออกมาจากสถานกงสุล และเชื่อว่านายคาชอกกีถูกทางการซาอุดีอาระเบียสังหารแล้ว
คลิปเสียงและคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์
เยนี ซาฟัก สื่อท้องถิ่นตุรกีได้เปิดเผยรายละเอียดคลิปเสียงที่นายคาชอกกีอัดและอัปโหลดไว้ในคลาวด์ระหว่างที่เขาอยู่ในสถานกงสุลก่อนหายตัวไป โดยคลิปเสียงได้เปิดเผยว่า เมื่อเขาเดินเข้าไปในสถานกงสุล ทีมสังหารของซาอุดีฯ ก็รวบตัวเขาทันที และมีช่วงหนึ่งที่ได้ยินเสียงของนายโมฮัมหมัด อัล-โอไทบี กงสุลซาอุดีอาระเบียประจำนครอิสตันบูลพูดขึ้นว่า "หากอยากมีชีวิตอยู่ ให้เงียบซะ" และ "ไปทำที่อื่น พวกนายจะทำให้ฉันลำบาก" ซึ่งบ่งบอกว่า กงสุลอัล-โอไทบีรู้เห็นกับการสังหารนายคาชอกกี
แหล่งข่าวซึ่งไม่อาจเปิดเผยชื่อ บอกกับเยนี ซาฟักว่า นายคาชอกกี ถูกทรมานและถูกตัดนิ้วระหว่างการสอบสวนในออฟฟิศของกงสุล ก่อนจะถูกนำตัวไปอีกห้อง และนายคาชอกกีกรีดร้องอยู่นานก่อนจะสิ้นเสียง เมื่อถูกฉีดยาไม่ทราบชนิด จากนั้น นายซาลาห์ มูฮัมหมัด อัล-ทูไบกี หัวหน้าฝ่ายนิติเวชของซาอุดีอาระเบียก็เริ่มหั่นร่างของนายคาชอกกีแม้เขาจะยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม โดยเขาสวมเฮดโฟนฟังเพลง พร้อมแนะนำให้คนอื่นที่อยู่ในทีมทำเช่นเดียวกัน โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า นายคาชอกกีเสียชีวิตภายใน 7 นาที
นอกจากนี้ ทางการตุรกียังพบว่า ทีมสังหารจากซาอุดีอาระเบียเดินทางมายังอิสตันบูลก่อนวันที่นายคาชอกกีจะหายตัวไปเพียงไม่นาน และภาพจากกล้องวงจรปิดยังเผยให้เห็นว่า หลังนายคาชอกกีเข้าไปในสถานกงสุลสักพัก รถของทีมสังหารก็ขับออกจากสถานกงสุล แล้วกลับประเทศไป ส่วนนายอัล-โอไทบีและนายอัล-ทูไบกีก็เดินทางกลับไปยังซาอุดีฯ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน
สลายภาพลักษณ์ 'หัวก้าวหน้า' ของราชวงศ์ซาอุดีฯ
นายเดวิด เอ แอนเดลแมน คอลัมนิสต์ลงบทความบนเว็บไซต์ Channel News Asia แสดงความเห็นว่า การหายไปของคาชอกกีสะเทือนบัลลังก์ของมกุฏราชกุมารซาอุดีฯ โดยเขามองว่า การกวาดล้างศัตรูทางการเมืองด้วยข้อหาคอร์รัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในซาอุดีอาระเบียในช่วง 16 เดือนที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นมกุฏราชกุมาร ถูกคนทั่วไปมองข้าม เพราะพระองค์ทรงขายนโยบายปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยขึ้น และสร้างภาพลักษณ์ว่ามีนโยบาย 'หัวก้าวหน้า'
ในขณะที่พระองค์อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและเพื่อสิทธิมนุษยชนกลับถูกจับกุมจำนวนมาก การส่งทหารซาอุดีฯ เข้าไปทำสงครามในเยเมนก็ทำให้พลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 10,000 ราย และมีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 2 ล้านคน แต่การหายไปของนายคาชอกกี ทำให้ทั่วโลกหันกลับมาสนใจการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้มากขึ้น และลืมภาพลักษณ์ 'หัวก้าวหน้า' ของมกุฏราชกุมารไปได้
นายแอนเดลแมนกล่าวว่า คดีนายคาชอกกีอาจสะเทือนถึงบัลลังก์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานด้วย เพราะแม้พระองค์จะเป็นพระราชโอรสองค์โปรดของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน มีตำแหน่งมกุฏราชกุมารอยู่แล้ว และมีรัฐบาลสหรัฐฯ หนุนหลัง แต่ผู้ที่จะเลือกกษัตริย์องค์ต่อไปอย่างเป็นทางการก็คือสภาราชวงศ์ และคดีคาชอกกีอาจทำให้เห็นว่าพระองค์ไม่มีความสุขุมพอจะเป็นกษัตริย์ในวัย 33 พรรษา
ท่าทีเฉยเมยของสหรัฐฯ ต่อคดีคาชอกกี
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประชาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยว่า เขาขอให้ตุรกีส่งคลิปเสียงที่ตุรกีอ้างว่าเป็นหลักฐานสำคัญของคดีนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า นายคาชอกกีถูกทรมานอย่างรุนแรงในสถานกงสุลซาอุดีฯ ในนครอิสตันบูล "หากหลักฐานนั้นมีอยู่จริง" และก่อนหน้านี้ นายทรัมป์ก็เคยแสดงความเห็นว่า เขาเชื่อว่าทางการซาอุดีฯ ไม่ได้สังหารนายคาชอกกี ซึ่งตรงกับที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงปฏิเสธ
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า ซาอุดีอาระเบียโอนเงินให้กับทางการสหรัฐฯ 100 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เข้าพบกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ดที่กรุงริยาด โดยก่อนหน้านี้ ทั้งสองประเทศตกลงว่า ซาอุดีฯ จะโอนเงินก้อนนี้ให้สหรัฐฯ เพืื่อช่วยเหลือปฏิบัติการสร้างเสถียรภาพในซีเรีย หลังกลุ่มไอเอสพยายามยึดครองเมืองเพื่อตั้งรัฐอิสลาม
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาการโอนเงินก้อนนี้ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คดีนายคาชอกกียังไม่มีความชัดเจน ซึ่งหลายฝ่ายก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ กดดันทางการค้าและการทูตซาอุดีอาระเบียที่เป็นประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่า การตอบโต้ทางการค้าอาจกระทบสหรัฐฯ มากกว่าซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ สำนักข่าว Axios ได้รับข้อมูลว่า นายปอมเปโอได้กล่าวกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ดว่า ซาอุดีฯ มีเวลา 72 ชั่วโมงในการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ให้เสร็จสิ้น ไม่เช่นนั้น ซาอุดีอาระเบียอาจสูญเสียสถานะของตัวเองในเวทีโลก
ที่มา : BBC, Yeni Safak, Channel News Asia, Washington Post, Al Jazeera, The Guardian, The New York Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :