นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Confidence Index: CCI) เดือนพฤศจิกายน 2561 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 80.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ 81.3
จากผลสำรวจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงทุกหมวด ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมลดลงจากระดับ 68.4 ในเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 67.5 ความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันปรับตัวลดลงสอดคล้องกับเศรษฐกิจโดยรวม จากระดับ 50.5 ในเดือนก่อนสู่ระดับ 49.1 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต (ใน 6 เดือนข้างหน้า) ของเดือนพฤศจิกายน 2561 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.4 มาอยู่ที่ระดับ 85.8
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 76.5 สู่ระดับ 75.6 โดยผู้บริโภคเห็นว่าการหางานทำโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 50.9 จากผลการสำรวจสื่อว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานและมองว่าโอกาสในการหางานทำมีไม่มากนักตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกับทั้ง 2 ดัชนีความเชื่อมั่นก่อนหน้า โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 99.0 สู่ระดับ 98.4 จากผลการสำรวจ ผู้บริโภคยังคงเห็นว่ารายได้ของตนในอนาคตยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการใช้จ่าย แม้จะมีความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตก็ตาม
ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
จากปัจจัยลบข้างต้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 80.5 การที่ดัชนียังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมองว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
"ภาพของความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นตัวบ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นทุกรายการยังไม่กลับมาเป้นปกติ ชี้ว่าในมุมมองของประชาชนนั้น เศรษฐกิจยังไม่ดี" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจภาวการณ์ใช้จ่ายของผู้บริโภค ทั้งดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ การซื้อบ้านหลังใหม่ และความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอี ลดลงทุกรายการ แต่ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวกลับปรับตัวดีขึ้นในรอบ 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 75.6 จากเดิม 73.9
ด้านผลสำรวจภาวการณ์ทางสังคมของผู้บริโภคลดลงทุกด้าน อาทิ ความสุขในการดำเนินชีวิต ภาวะค่าครองชีพ ปัญหายาเสพติด และสถานการณ์ทางการเมือง โดยประเด็นการเมืองนั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในอนาคตยังคงมีเสถียรภาพดี แม้จะมีการปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีปัจจัยบวกมากขึ้น หลังจากรัฐบาลมีมาตรกรกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival และปัญหาสงครามการค้าเริ่มมีการเจรจากัน ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น และช่วงสิ้นปีประชาชนมีการเฉลิมฉลองตามเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งรัฐบาลออกมาตรการช้อปช่วยชาติกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลบวกต่อการจับจ่ายเพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวทั้งจีนจะเริ่มกลับมาและประเทศอื่น ๆ ก็มาเที่ยวไทยมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2561 กลับมาปรับตัวดีขึ้น
การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.5-4 ทำให้หอการค้าไทยยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ร้อยละ 4.2 แต่ยังต้องติดตามท่าทีกลุ่มโอเปคที่จะมีผลต่อราคาน้ำมันตลาดโลก และปัญหาสงครามการค้าจะยืดเยื้อหรือไม่ ขณะที่ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตเกินร้อยละ 4-4.5 โดยยังมีหลายปัจจัยที่ต้องตาม คือ ทางออกสงครามการค้า ราคาน้ำมัน เป็นต้น