ไม่พบผลการค้นหา
อย.สหรัฐฯ ประกาศรับรองแอปพลิเคชันคุมกำเนิด ขณะที่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้งานจริงยังคงเป็นข้อถกเถียง

เมื่อพูดถึงวิธีการคุมกำเนิด เรามักนึกถึงการใช้เครื่องมือที่จับต้องได้อย่างถุงยางหรือยาคุม แต่องค์การอาหารและยา (อย.) สหรัฐ เพิ่งประกาศรับรองแอปฯ คำนวณรอบเดือนสตรีในฐานะแอปฯ คุมกำเนิด

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) อนุญาตให้แอปฯ เนเชอรัลไซเคิลส์ (Natural Cycles) แอปตรวจสอบประจำเดือนสัญชาติสวีเดน สามารถทำการตลาด และโฆษณาตัวเองในฐานะแอปคุมกำเนิดได้เป็นแอปฯ แรก

natural-cycles-5.jpg
  • ภาพแอปพลิเคชันเนเชอรัลไซเคิลส์ (Natural Cycles) สำหรับตรวจสอบประจำเดือนสัญชาติสวีเดน จากเว็บไซต์ www.techcrunch.com

แม้จะดูเหมือนวิธีคุมกำเนิดทั่วไปอย่างการนับวันปลอดภัย แต่ทางอย.สหรัฐฯ ระบุว่า ทางบริษัทผู้พัฒนาแอปฯ เนเชอรัลไซเคิลส์อ้างอิงงานวิจัยประเมินประสิทธิภาพของแอปฯ จากกลุ่มตัวอย่างเพศหญิง 15,570 รายที่เฉลี่ยใช้แอปฯ นาน 8 เดือน

ผลปรากฏว่า ผู้ใช้แอปฯ อย่างถูกต้องสมบูรณ์ (Perfect Use) ตลอดระยะเวลา มีอัตราการล้มเหลวในการคุมกำเนิดร้อยละ 1.8 นั่นหมายความว่า ใน 100 คนที่ใช้แอปฯ อย่างถูกต้องจะเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ 1-2 คน

ด้านผู้ใช้งานตามปกติ (Typical Use) ซึ่งอาจเกิดการใช้งานผิดพลาด เช่น บันทึกคลาดเคลื่อน ลืมบันทึก หรือมีเพศสัมพันธ์ในวันที่แอปฯ บอกว่า ‘ไข่ตก’ จะมีโอกาสตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจร้อยละ 6.5

ขณะที่ การคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยมีโอกาสพลาดตั้งครรภ์เมื่อใช้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ร้อยละ 2 และโอกาสพลาดเมื่อใช้งานตามปกติร้อยละ 18 ซึ่งอาจเกิดจากการสวมถุงยางผิดวิธี หรือไม่ได้สวมถุงยางตลอดเวลามีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ การใช้แอปฯ ดังกล่าวอย่างถูกต้องสมบูรณ์นั้นต้องบันทึกอุณหภูมิร่างกาย โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิร่างกายขณะพัก (Basal Body Temperature) ซึ่งแสดงอุณหภูมิเป็นเลขทศนิยมสองหลัก และมีความเที่ยงตรงกว่าเทอร์โมมิเตอร์ปกติ วัดอุณหภูมิร่างกายหลังตื่นนอนทันที รวมถึงระบุข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องลงในแอปฯ เช่น เวลาที่รอบเดือนมา และเวลามีเพศสัมพันธ์

เดือนมกราคมปีเดียวกัน โรงพยาบาลโซเดอร์ควูคิวเซ็ต (Södersjukhuset) เมืองสตอกโฮล์มพบว่า ในระยะเวลา 4 เดือน ผู้หญิง 37 รายจากทั้งหมด 668 รายที่ใช้แอปฯ เป็นวิธีการหลักในการคุมกำเนิด มาใช้บริการทำแท้งกับทางโรงพยาบาลเนื่องจากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

ทางด้านบริษัทผู้พัฒนาแอปฯ ชี้แจงว่า สัดส่วนการตั้งครรภ์ 37 จาก 668 คน คิดเป็นร้อยละ 5.5 ซึ่งอยู่ในขอบเขตความเสี่ยงที่แอปฯ ระบุไว้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เทอร์รี คอร์เนลิสัน (Terri Cornelison) ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการสุขภาพสตรีของศูนย์เครื่องมือและรังสีวิทยาเพื่อสุขภาพ ในสังกัด อย.สหรัฐฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้เทคโนโลยีในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้น และแอปฯ นี้ก็สามารถช่วยคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพหากใช้อย่างถูกต้อง และระมัดระวัง

“อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ใช้แอปฯ ควรตระหนักด้วยว่า ไม่มีวิธีการคุมกำเนิดวิธีใดได้ผลสมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้นแม้จะใช้แอปฯ อย่างถูกต้องแล้วก็ยังอาจเกิดการตั้งครรถ์โดยไม่พึงประสงค์ได้” คอร์เนลิสัน กล่าว

ปัจจุบัน แอปฯ ตรวจสอบรอบเดือนถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้ผู้หญิงสามารถเตรียมตัวรับมือกับการมาของประจำเดือน และอาการปวดท้องที่ตามมา รวมถึงวางแผนเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ แต่ยังไม่เคยมีแอปฯ ใดได้รับการรับรองในฐานะเครื่องมือคุมกำเนิดอย่างเป็นทางการมาก่อน การรับรองของอย.สหรัฐ ในครั้งนี้จึงทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

ลอเรน สไตรเกอร์ (Lauren Streicher) ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University's Feinberg School of Medicine) ถึงกับออกปากว่า แอปฯ แบบเนเชอรัลไซเคิลส์นั้นเป็นปัญหา ขณะที่มนุษย์เราได้พัฒนาวิธีการคุมกำเนิดที่ปลอดภัย และเชื่อถือได้ขึ้นมามากมายหลายวิธีแล้ว แอปฯ นี้กลับทำให้ผู้หญิงก้าวถอยหลังกลับไปสู่ยุคโบราณ

สไตรเกอร์ชี้ว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของวิธีการคือ การพึ่งผู้ใช้มากเกินไป ลำพังแค่การต้องใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิร่างกายหลังจากตื่นนอนทุกวันก็เสี่ยงต่อการได้ผลลัพธ์ที่ไม่เที่ยงตรงแล้ว เพราะปัจจัยจำนวนมากอย่างการมีไข้ การจิบกาแฟ หรือแม้แต่การเข้าห้องน้ำก่อนวัดก็ส่งผลต่ออุณหภูมิร่างกาย

การใช้งานถุงยางอนามัยผิดส่งผลให้อัตราการคุมกำเนิดสำเร็จลดลงจากร้อยละ 98 เป็นร้อยละ 82 การใช้แอปฯ ที่พึ่งผู้ใช้ในการตรวจสอบ และระบุข้อมูลอย่างถูกต้องเที่ยงตรงทุกวันนั้นจึงเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เพราะความผิดพลาดจากตัวผู้ใช้เอง

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าวิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ นั้นได้มีการศึกษาวิจัยกันมาเป็นเวลานาน ในขณะที่งานวิจัยที่เนเชอรัลไซเคิลส์อ้างอิงมีเพียงไม่กี่ชิ้น และพื้นฐานมาจากงานวิจัยที่ให้ทุนสนับสนุนโดยบริษัทเอง อีกทั้งยังมีกลุ่มตัวอย่างที่ถอนตัวระหว่างการวิจัยจำนวนมากถึงราวหมื่นราย เนื่องจากความยุ่งยากในการบันทึกข้อมูลตลอดเวลา จากเดิมที่กลุ่มตัวอย่างในตอนแรกมีจำนวนถึง 22,785 ราย

ที่มา:

On Being
198Article
0Video
0Blog