ไม่พบผลการค้นหา
มีความกังวลว่า แอปพลิเคชันข่าวสารทางการเมือง ‘Narendra Modi’ ของนายกฯ อินเดีย เป็นตัวการสนับสนุน ‘ข่าวปลอม’ โดยมีเป้าหมายโจมตีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และกลุ่มมุสลิม ซึ่งซ้ำเติมปัญหาความรุนแรงในอินเดีย

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย นเรนทรา โมที (Narendra Modi) มีแอปฯ ข่าวสารการเมืองชื่อเดียวกับตัวเอง หรือเรียกโดยย่อว่า แอปฯ นาโม (NaMo) ซึ่งถูกดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 10 ล้านครั้ง โดยเหล่าผู้สนับสนุนพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party) หรือพรรคบีเจพี

ภายในแอปฯ ผู้ใช้สามารถซื้อสินค้า ทำแบบสำรวจทางการเมือง บริจาคเงินให้พรรค รวมถึงมีฟังก์ชันโซเชียลอย่าง มายเน็ตเวิร์ก (My Network) ซึ่งมีลักษณะคล้ายทวิตเตอร์ที่มีแต่ผู้สนับสนุนพรรคบีเจพี และมีระบบเหมือนการเล่นเกมที่ให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลนี้เก็บแต้มได้ด้วยการมีส่วนร่วมกับโพสต์ในโซเชียล รวมถึงชวนคนอื่นมาใช้งานแอปฯ หรือแชร์คอนเทนต์จากแอปฯ นาโม ไปยังแอปฯ อื่น เช่น วอตส์แอปป์ (ซึ่งเป็นที่นิยมในอินเดีย) หรือเฟซบุ๊ก โดยผู้ใช้งานที่มีแต้มการมีส่วนร่วมสูงจะได้ยศอย่างแฟนพันธุ์แท้หรือผู้รอบรู้เป็นการตอบแทน


namo4.jpg
  • หน้าตาภายในแอปฯ Narendra Modi

ความน่าเป็นห่วงหนึ่งคือ แอปฯ นาโมไม่ใช่ช่องทางการติดตามข่าวสารการเมือง หรือรัฐบาล แต่เป็นแอปฯ ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่กับตัวบุคคลๆ เดียว นอกจากนั้น สามารถ บันซาล (Samarth Bansal) ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักข่าวฮินดูสถานไทมส์ (Hindustan Times) ชี้ว่าภายแอปฯ เต็มไปด้วยข่าวปลอมทางการเมือง โดยอาศัยความขัดแย้งระหว่างศาสนา เพื่อโจมตีพรรคฝ่ายตรงข้าม และศาสนาอิสลาม

ข่าวปลอมข่าวหนึ่งแอปฯ เป็นโพสต์ภาพตัดต่อของราหุล คานธี (Rahul Gandhi) หัวหน้าพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) พรรคคู่แข่งของพรรคบีเจพี โดยเป็นภาพของคานธีนั่งอยู่ ณ สำนักงานใหญ่ของพรรค และมีรูปของจักรพรรดิออรังเซพ (Aurangzeb) ราชวงศ์โมกุล ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ประดับอยู่เบื้องหลัง

ทว่าภาพดังกล่าวถูกเปิดเผยแล้วว่าเป็นภาพข่าวปลอม ซึ่งเว็บบูมไลฟ์ (BOOM Live) เว็บตรวจสอบข่าวลวงเผยว่า รูปที่แท้จริงในห้องดังกล่าวไม่ใช่รูปของจักรพรรดิ์ราชวงศ์โมกุล แต่เป็นภาพของมหาตมา คานธี นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพชาวอินเดีย


https://www.boomlive.in/wp-content/uploads/2017/12/Rahul-Gandhi.jpg
  • ภาพจากเว็บ BOOM Live

อีกโพสต์หนึ่งระบุว่า การแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐในรัฐกรณาฏกะ เป็นเพราะชาวฮินดูออกเสียงเลือกตั้งกันน้อย ทั้งที่ความเป็นจริงคณะกรรมการเลือกตั้งอินเดียไม่เคยมีการเปิดเผยจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยแยกตามศาสนา

ข่าวหนึ่งถึงกับให้ข้อมูลเท็จโจมตีทั้งพรรคการเมือง และศาสนาอิสลามโดยตรงว่า จากคดีข่มขืน 40,000 คดีในอินเดียช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 39,000 คดีนั้นก่อโดยชาวมุสลิม แต่พรรคคองเกรส และราหุล คานธี กล่าวหาว่า ชาวฮินดูเป็นคนข่มขื่น และเป็นผู้ก่อการร้าย

อามิต มัลวิยา (Amit Malviya) หัวหน้าไอทีเซลล์ (IT Cell) หรือทีมดิจิทัลมีเดียของพรรคบีเจพี โต้ตอบข้อสังเกตของบันซาลเกี่ยวกับมายเน็ตเวิร์กผ่านทางอีเมลว่า เมื่อเนื้อหาจำนวนมากถูกโพสต์อย่างอิสระโดยผู้ใช้งาน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะมีข้อมูลผิดๆ บ้างอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ฟังดูเหมือนข้อมูลผิดพลาดจากผู้ใช้ก็เป็นปัญหาในแอปฯ โซเชียลทุกแอปฯ แต่สำหรับแอปฯ นาโม ข้ออ้างดังกล่าวไม่ใช่ข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักเพียงพอ ประติก สินหา (Pratik Sinha) ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บตรวจสอบข้อมูลเท็จอัลต์นิวส์ (AltNews) ชี้ว่า ข่าวปลอมที่แชร์กันในโซเชียลมายเน็ตเวิร์กของแอปฯ นาโม มาจากบัญชีผู้ใช้ที่ถูกตั้งค่าให้ทุกคนติดตามอัตโนมัติเมื่อดาวน์โหลดแอปฯ มา

นอกจากจะติดตามรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคคนสำคัญของพรรคบีเจพีไว้ให้แล้ว ค่าเริ่มต้นของแอปฯ ยังติดตามบัญชีอย่าง The India Eye, Modi Bharosa, และ Social Tamasha ซึ่งจะลงเนื้อหาเดียวกันกับในเพจเฟซบุ๊กชื่อเดียวกัน โดยเพจทั้งสามขึ้นชื่อเรื่องการแชร์ข่าวปลอมที่มักถูกแฉโดยเว็บตรวจสอบข่าวอย่างบูมไลฟ์ และอัลต์นิวส์ อาทิ มีข่าวปลอมหนึ่งจากโพสต์ของ The India Eye อ้างว่าบีบีซีรายงานว่าพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียเป็นพรรคการเมืองที่คอร์รัปชันมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก แม้ว่าบีบีซีจะไม่เคยรายงานข่าวดังกล่าวมาก่อน

บันซาลระบุอีกว่า 20 โพสต์ที่มีคนแชร์มากที่สุดจากเพจ The India Eye ในช่วงกันยายน-พฤศจิกายนปี 2558 มีอย่างน้อย 6 โพสต์ที่ข้อมูลผิด โดย 4 โพสต์ผิดอย่างชัดเจน และ 2 โพสต์ชี้นำให้เข้าใจผิด

ทางด้านสินหา กล่าวกับสำนักข่าวควอตซ์ (Quartz) ว่าการที่แอปฯ ยังคงจัดให้เนื้อหาจากเพจแบบนี้เป็นเพจตั้งต้นที่แอปฯ ติดตามให้โดยอัตโนมัตินั้นบ่งชี้ว่า พวกเขาสนับสนุนข้อมูลเท็จ “กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเจาะจงมาให้คนทุกคนเห็น จะอ้างว่านี่เป็นเนื้อหาที่มาจากผู้ใช้งานเองไม่ได้หรอก”

สงครามข่าวปลอมในอินเดียมีความน่ากังวลเป็นพิเศษ เพราะนอกจากผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสร้างความเกลียดชังที่นำไปสู่ความรุนแรง โดยนอกจากกลยุทธ์แอปฯ นาโมของพรรคบีเจพีแล้ว ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม พรรคการเมืองในอินเดียต่างทุ่มเม็ดเงินในการสร้างกลุ่มวอตส์แอปป์นับแสนกลุ่ม

พรรคบีเจพีเองก็มีแผนที่จะจัดตั้งกลุ่มวอตส์แอปป์ 3 กลุ่มต่อหนึ่งหน่วยเลือกตั้งซึ่งมีทั้งหมด 927,533 หน่วยทั่วประเทศ โดยกลุ่มวอตส์แอปป์หนึ่งกลุ่มมีสมาชิกได้สูงสุด 256 คน รองรับสมาชิกสูงสุดได้กว่า 700 ล้านคน จากจำนวนประชากรอินเดียทั้งหมดราว 1,300 ล้านราย

ปัญหาข่าวปลอมที่ส่งต่อๆ กันในอินเดียมีความรุนแรงสูง กระทั่งในเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาวอตส์แอปป์ต้องออกนโยบายให้ในอินเดียส่งต่อข้อความให้ผู้อื่นได้ครั้งละไม่เกินครั้งละ 5 คน จากเดิมสูงสุดครั้งละ 100 คน เนื่องจากข่าวลือที่ส่งต่อกันผ่านโซเชียลเกี่ยวกับโจรลักพาตัวเด็ก ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในชุมชนต่างๆ ทั่วอินเดีย และนำไปสู่เหตุรุนแรง เช่น ในกรณีที่เกิด ณ รัฐมหาราษฏระ กลุ่มคนพเนจร 5 คน ถูกชาวบ้านรุมทำร้ายจนเสียชีวิต เพราะถูกสงสัยว่าเป็นโจรลักพาตัว

แอปฯ นาโม จึงเป็นที่น่ากังวลเมื่อข่าวปลอมได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมืองนั้นแฝงไปด้วยความเกลียดชังต่อคู่ตรงข้ามทางการเมือง รวมถึงกลุ่มผู้นับถือศาสนาอื่น ซึ่งซ้ำเติมปัญหาความรุนแรงและการแบ่งแยกในสังคมอินเดีย

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog