หลายปีผ่านมา ‘โรคซึมเศร้า’ เป็นเรื่องที่สังคมไทยเริ่มตระหนักรู้กันอย่างกว้างขวาง เพราะทั้งระดับประเทศ และระดับโลก ได้สูญเสียบุคคลเจ๋งๆ และมหัศจรรย์มากมาย ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะซึมเศร้า
สาเหตุของภาวะซึมเศร้ามีหลากหลาย ทั้งทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบเกินจะรับมือ ความเครียด พันธุกรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง เรามิอาจตัดสินได้ว่าการจากไปของเขาเป็นเรื่องผิด หรือถูก มันยืนอยู่บนทั้งเส้นด้ายของการวินิจฉัย ศีลธรรม และข้อถกเถียงไร้จบสิ้น
อย่างไรก็ตาม มีคนหลายกลุ่มพยายามหาทางป้องกัน อย่างบรรดานักพัฒนาเทคโนโลยี ที่มีการกำเนิดแอปพลิเคชั่นหลากหลาย มารับมือกับภาวะซึมเศร้าในแนวทางที่แตกต่างกันออกไป
ปัจจุบันมีแอปฯ ประเมินอาการซึมเศร้าคลอดออกมาให้เห็นหลากหลาย ตั้งแต่แอปฯ ตรวจจับภาวะซึมเศร้าผ่านพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน ทั้งการพิมพ์ การแท็บ การเลื่อนหน้าจอ อย่างมายด์สตรอง (Mildstrong) ตามมาด้วยแอปฯ ที่พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยซึมเศร้า ให้มีสภาวะทางอารมณ์ และความคิดดีขึ้นอย่าง มู้ดทูลส์ (MoodTools) ซึ่งผู้ป่วยสามารถเขียนไดอารีความรู้สึก และความคิดแต่ละวัน เพื่อนำมาวิเคราะห์แพทเทิร์นของกระบวนการคิดเชิงลบของตัวเอง โดยแอปฯ พัฒนาจากงานวิจัยของผู้เชี่ยวชาญ และผ่านการรองรับแน่นหนา
ซูเปอร์เบ็ตเตอร์ (SuperBetter) เป็นอีกหนึ่งแอปฯ เกมบนสมาร์ทโฟน ออกแบบให้ผู้เล่นรู้สึกรีแล็กซ์มากขึ้นหลังเกมจบ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียชี้ความสำเร็จว่า เมื่อผู้ป่วยเล่นเกมครบ 30 วัน อาการซึมเศร้าของพวกเขาเริ่มลดลง และกลับมาเชื่อมั่นในตัวเองมากยิ่งขึ้นจากการพิชิตเป้าหมายต่างๆ ได้
ส่วนทางด้าน MY3 เป็นแอปฯ ที่ออกแบบมาสำหรับคนซึมเศร้ารุนแรง และอาจนำไปสู่การอัตวินิบาตกรรม แอปฯ จะเทรนผู้ใช้ให้สังเกตพฤติกรรมที่เสี่ยงจะฆ่าตัวตาย ทั้งในตัวเอง และผู้อื่น มากไปกว่านั้น ผู้ใช้ยังสามารถออกแบบแผนความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย โดยอาศัยการระบุอาการ จับสังเกต กลยุทธ์การแก้ปัญหา ตลอดจนเชื่อมต่อกับบุคคลที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้
สำหรับแอปฯ แบบไทยๆ ที่น่าสนใจก็มีเช่นกัน อย่าง อูก้า (Ooca) คือแอปฯ ให้คำปรึกษา และการรักษาผ่านวิดีโอคอล เมื่อสมัครบริการ ระบุอาการ ข้อมูลการรักษา การใช้ยา ฯลฯ ทางแอปฯ จะแมตช์ผู้ป่วยกับแพทย์ตามความเหมาะสม เพื่อเช็คเรตราคาค่ารักษา และนัดหมายการวิดีโอคอลพูดคุย
เทคโนโลยีที่พัฒนามารับมือกับ ‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ได้แสดงตัวเพียงแค่รูปแบบของแอปฯ เท่านั้น นิตยสารสมิธโซเนียน (Smithsonian Magazine) เผยแพร่ผลการวิจัยจากแล็บวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ สถาบันวิจัยแมสซาชูเซตส์ ที่กำลังเทรนปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือเอไอเพื่อตรวจจับอาการซึมเศร้าผ่านน้ำเสียงของมนุษย์
การวิจัยดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การตรวจสอบอาการของ ‘โรคซึมเศร้า’ เป็นเรื่องไร้หลักฐานยืนยันชัดเจน เพราะมันไม่มีการตรวจเลือด การแสกน การตรวจชิ้นเนื้อ สิ่งที่พิสูจน์ ‘โรคซึมเศร้า’ มีแค่การพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการประเมินอาการเท่านั้น
ประเด็นสำคัญคือ หลายครั้งการพูดคุยแบบมีแพทเทิร์น ผ่านชุดคำถามที่แพทย์ตระเตรียมมา อาจจะไม่สามารถจับอาการได้ เพราะบางครั้งภาวะซึมเศร้าแสดงออกมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเพิกเฉย อารมณ์ปั่นป่วน การกินแบบสุดโต่ง หรือรูปแบบการนอนหลับ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน
ตูคา อัลฮานัย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแมสซาชูเซตส์ เจ้าของโปรเจ็กต์ ระบุว่า จากการทดสอบ ระบบปัญญาประดิษฐ์ตรวจ ‘โรคซึมเศร้า’ ได้แม่นยำมากกว่าการเข้าปรึกษาแพทย์ โดยการตรวจสอบของปัญญาประดิษฐ์จะไม่ตรวจจับความหมายของคำ หรือรูปแบบประโยค แต่เน้นการวิเคราะห์น้ำเสียง และเหตุผลว่า ทำไมถึงเลือกพูดคำนี้ โดยจากการพัฒนาระบบอัลฮานัยบอกว่า ปัญญาประดิษฐ์สามารถตรวจจับได้ว่า คำว่า “เศร้า” หรือ “รู้สึกจม” (Down) มักจะถูกพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ และโมโนโทน
อย่างไรก็ตาม อดัม ฮอฟแมนน์ นายแพทย์ชาวแคนาดา ได้เขียนวิพากษ์การวิจัยชิ้นดังกล่าวในเว็บไซต์วอชิงตัน โพสต์ ว่าท้ายที่สุดแล้ว ระบบปัญญาประดิษฐ์อาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาด และอาจจะชี้นำให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าเชื่อว่า พวกเขาซึมเศร้า เพราะโรคซึมเศร้ามีความซับซ้อนมากกว่าน้ำเสียง ทั้งในเรื่องของยีน กายภาพอื่นๆ และปัจจัยสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เครื่องมือเอไอนี้อาจจะถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจากนักลงทุนหรือนายจ้างก็ได้อีกด้วย
ที่มา :
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :