คณะผู้เชี่ยวชาญด้านวาทศิลป์จากมหาวิทยาลัยทูบิงเงิน (University of Tübingen) ของเยอรมนี ลงมติยกให้สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล ซึ่งแถลงผ่านเครือข่ายสถานีโทรทัศน์เมื่อ 18 มี.ค. ในการเรียกร้องให้ชาวเยอรมัน เคารพในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เป็นสุนทรพจน์แห่งปี 2563
คณะผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลว่า นายกหญิงของเยอรมนี ได้แสดงให้เห็นอย่างน่าประทับใจที่กระตุ้นให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ ส่งเสริมความรู้สึก และความสามัคคีของชุมชนจนประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ระบาดระลอกแรก
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำประเทศ มีความสำคัญยิ่งในแง่บันทึกทางประวัติศาสตร์ และสุนทรพจน์ที่แมร์เคล กล่าวในคืนวันที่ 18 มี.ค. นั้น มีอิทธิพลโดยตรงต่อชาวเยอรมนีในแบบที่ไม่มีคำปราศรัยอื่นใดในช่วงปีที่ผ่านมาเทียบได้
แถลงการณ์ถูกร่างขึ้นมาอย่างสมดุล ด้วยถ้อยคำที่เป็นกลางแต่แฝงไปด้วยความเร่งด่วน ชัดเจน ไม่ซับซ้อน โปร่งใส และตรงไปตรงมา แมร์เคลสามารถอธิบายข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนในรูปที่เข้าใจง่าย ซ้ำไปมา รวมถึงแนวคิดของรัฐบาลกลาง เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมต่อประชาชน อย่างไม่ปิดบัง
แมร์เคล เริ่มต้นก่อนเข้าประเด็นสำคัญ ด้วยประโยคง่ายๆ แต่จริงใจ ว่า "ขออนุญาตให้ดิฉัน พูดถึงการระบาดนี้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤตการเงิน และท้าทายสุดนับตั้งแต่สงครามโลกที่เราเคยเผชิญ ... โปรดให้ความสำคัญและต้องจริงจังกับเรื่องนี้ด้วย"
เธอยังเปรียบเทียบตัวเลขยอดผู้เสียที่อาจสูงขึ้นในอนาคตว่า "สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขนามธรรมในเชิงสถิติ แต่นั่นคือพ่อ แม่ ปู่่่่ย่า หรือคู่ชีวิตของพวกเขาที่เป็นคน เราเป็นชุมชนที่ทุกชีวิตและทุกคนมีความหมาย"
โอลาฟ เครเมอร์ หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ทันทีที่สุนทรพจน์ถูกออกอากาศ ชาวเยอรมันพร้อมใจเปลี่ยนพฤติกรรม และให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เยอรมนีีผ่านสถานการณ์ระบาดทั้งในระลอกแรก และรอบสอง
ทุกถ้อยคำแถลงของเธอ ไม่มีท่อนใดที่กล่าวโทษประชาชน โอ้อวดผลงาน หรือเรียกร้องความเห็นใจต่อรัฐบาล ต่างกับผู้นำชาติเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส ที่ประกาศจะใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดลงโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรค หรือแถลงของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ยังมองไม่เห็นถึงอันตรายของการระบาดในขณะนั้น