วันที่ 14 ส.ค. 2565 ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงแสดงจุดยืนของพรรคฯ ต่อการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ ( 15 ส.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะสามารถพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะครบกำหนด 180 วัน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยยินดีพร้อมสู้ทุกกติกา แต่จากหารือพูดคุยกับสมาชิก 2-3 วันที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมด้วย ซึ่งเป็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้สามารถทำได้ และยังเรียกร้องให้เพื่อนสมาชิกเห็นตรงกันกับการใช้สูตรคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100
ทั้งนี้ หาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ลงชื่อและสภายังสามารถเปิดประชุมได้ ก็จะมีตัวแทน ส.ส.เพื่อไทยร่วมประชุมและจะดำเนินการอภิปรายเพื่อคัดค้านต่อต้านสูตรหาร 500 อย่างถึงที่สุด แต่ถ้าหากหลังจบการอภิปรายหากเกิดอะไรขึ้น ส.ส.เพื่อไทย จะไม่ขอเป็นองค์ประชุมในการลงมติดังกล่าว
"ยืนยันว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้านี้และทำงานเพื่อประชาชน แต่สิ่งที่ทำนี้เพื่อหยุดยั้งกฎหมายที่บิดเบี้ยว" ธีรรัตน์กล่าว
โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยอีกว่า ถึงแม้กฎหมายนี้ผ่านวนวันพรุ่งนี้ แต่การลงคะแนนในวาระต่อไปพรรคอื่นๆจะไม่สนับสนุน เพราะเท่าที่ทราบมีหลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับสูตรนี้เหมือนกัน
ส่วนการชี้แจงประชาชนถึงท่าทีของเพื่อไทยวันพรุ่งนี้นั้น ธีรรัตน์ เชื่อว่า ประชาชนจะเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องต่อต้านไม่ยอมรับกฎหมายที่จะขัดหลักรัฐธรรมนูญ และขัดต่อหลักการแรกแน่นอน โดยวันพรุ่งนี้พรรคเพื่อไทยก็จะจับตาดูอยู่ตลอด
ส่วนจะมีพรรคอื่นไม่เข้าร่วมเหมือนเพื่อไทยหรือไม่ ธีรรัตน์ กล่าวว่า ตนหวังพรรคว่าที่ไม่แสดงตนในการประชุมครั้งที่แล้ว จะยังคงยึดมั่นในหลักการเดิม พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้มีการชักชวนพรรคอื่น รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมย้ำว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยคุยกับพรรคใหญ่อื่นๆ เลย
นอกจากนี้ ธีรรัตน์ กล่าวถึงกรณีเกิดวิวาทะของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ในการลงพื้นที่ภาคใต้ ว่า ถือเป็นแนวทางการเมืองที่แต่ละพรรคต้องการช่วงชิงมวลชนซึ่งอาจปะทะคารมกันบ้าง แต่ในส่วนพรรคเพื่อไทยก็มีแนวทาง และกำลังวางแผนลงไปพื้นที่ภาคใต้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นความหวังที่ดีมากกว่าอาจทำให้ผู้เที่เคยทำให้เศรษฐกิจดีกลับมาทำงานให้ ส่วนจะเจาะพื้นที่ภาคใต้ได้หรือไม่ ไม่สามารถตอบใต้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีวิถีแนวทางชัดเจน
"แต่เราจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องชนะทุกเขต หรือประกาศว่าจะต้องให้ตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ใช้หาเสียง แต่เราต้องมองในสภาพความเป็นจริงด้วยว่าเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งเพื่อไทยจะไม่พูดอะไรที่ทำไม่ได้ และเชื่อว่าประชาชนได้เรียนรู้แล้วและอยากให้ถึงวันเลือกตั้งเร็วๆ" โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว
ส่วนความคืบหน้าการยื่นตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม วันที่ 17 ส.ค.นี้ นั้น โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า คณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กำลังตรวจสอบร่างคำร้องก่อนที่จะยื่นต่อประธานสภาและเข้าสู่กระบวนการต่อไป แต่ยืนยันว่าถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ หลุดจากตำแหน่ง คนที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนต้องเป็นแคนดิเดตจากพรรคการเมืองเท่านั้น คือ ชัยเกษม นิติสิริ ,ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ,คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ,อนุทิน ชาญวีรกูล ,อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น และไม่ได้อยู่ในสมการตามรัฐธรรมนูญนี้