ไม่พบผลการค้นหา
‘ธีรรัตน์’ ยัน เพื่อไทยไม่ทำตนอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ชี้เสียงส่วนใหญ่ในสภาเป็นของรัฐบาลและวุฒิสภา อย่าโยนความผิดฝ่ายค้าน ยัน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์หารเท่าไหร่พร้อมสู้ทุกสูตร

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ (10 ส.ค.65) เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันสุดท้าย ก่อนจะถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 180 วัน ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...)พ.ศ.... วาระต่อเนื่อง ให้แล้วเสร็จ หากครบกำหนดแล้วถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ร่างหลักที่ใช้ในการพิจารณาวาระ 2 คือการสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ ‘หาร 100’ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 132(1) ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะทำให้ดีที่สุด และขอยืนยันว่า 

1. พรรคเพื่อไทยมีข้อสรุปร่วมกันว่า ในวันนี้จะเข้าร่วมประชุมในการประชุมร่วมรัฐสภาดังที่ดำเนินการมาโดยตลอด โดยจะเป็นองค์ประชุมในร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมให้แล้วเสร็จ

2. พรรคเพื่อไทยทำงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่ปฏิบัติตนอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นขั้นตอนการดำเนินงานจะคำนึงถึงบทบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

3. พรรคเพื่อไทยยืนยันว่ามีความพร้อมสู้ศึกการเลือกตั้งในทุกกติกา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งพรรคยังคงยืนยันในเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายแรกที่ได้นำเสนอมาตั้งแต่ต้นและเป็นไปตามบทบัญญัติในธรรมนูญ 

ธีรรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยถูกโยนความผิด กล่าวหาว่าทำลายการประชุมสภา ทั้งที่องค์ประชุมเสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภา ซึ่งเป็นนั่งร้านของรัฐบาล ควรจะเข้าร่วมการประชุมในทุกการประชุม พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันในหลักการและยึดมั่นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งหากย้อนไปจะพบว่าร่างแก้ไขฯ ที่พรรคได้นำเสนอไปโดยให้ใช้สูตรหาร 100 ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) พุทธศักราช 2564 มาตรา 91 ว่า “ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองต้องเป็นสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม” และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เราทำตามเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ต้องมีที่มาเดียวกันเท่านั้น 

“เพื่อไทยถูกผลักให้เป็นฝ่ายรับผิดชอบทั้งที่เรายืนยันหารที่ 100 มาตลอด และเมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า 500 เราก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย เพราะเคารพเสียงส่วนใหญ่ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่กลุ่มคนที่กลับไปกลับมา ไม่มั่นใจ กลัวจะทำผิดรัฐธรรมนูญ หรือต้องการยื้อเวลาเพื่ออยู่ต่อ กลับลอยตัวเหนือปัญหา เราไม่เล่นนอกกติกา และยังคงยึดมั่นในหลักการมาโดยตลอด ยืนยันว่าจะไม่วนกลับไปที่เดิมอีก เพราะตอบสังคมไม่ได้ว่าเหตุใดเรายังกลับไปถกเถียงกันที่หาร 500 ทั้งที่ขัดรัฐธรรมนูญ” ธีรรัตน์ กล่าว