ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์การประท้วงในฮ่องกงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนจะเป็นตัวจุดชนวนให้ชาวฮ่องกงจำนวนมากออกมาต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและจีน แต่การประท้วงยิ่งทำให้ผู้ประท้วงกับตำรวจฮ่องกงเกลียดกันมากขึ้น ทัศนคติต่อความรุนแรงของชาวฮ่องกงก็เปลี่ยนไปด้วย

สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ลงบทความที่อธิบายให้ “เข้าใจจิตวิทยาเกี่ยวกับความเกลียดชัง” ระหว่างผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและตำรวจ โดยระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฮ่องกงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฮ่องกงได้แบ่งแยกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ระหว่างผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและตำรวจฮ่องกง และต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าการใช้ความรุนแรงของฝ่ายตนเองมีความชอบธรรม

กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้จีนแผ่นดินใหญ่เป็นชนวนที่ทำให้ชาวฮ่องกงนับล้านคนออกมาประท้วงตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา การประท้วงได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเริ่มแรกค่อนข้างมาก การเดินขบวนโดยสงบได้ยกระดับไปเป็นการบุกรัฐสภา ไปจนถึงการบุกไปประท้วงที่สนามบินนานาชาติฮ่องกง การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจฮ่องกงก็มีให้เห็นเกือบทุกสัปดาห์ ต่างฝ่ายต่างต่อว่าด่าทอใส่กัน ตำรวจใช้กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และกระสุนถุงตะกั่วในการสลายการชุมนุมบ่อยครั้ง จนกลายเกือบเป็นภาพชินตาไปแล้ว และคาดว่าการปะทะกันก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ความรู้สึกหวาดกลัวของผู้ประท้วงชาวฮ่องกงค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นความเกลียดชังต่อตำรวจ นับตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.ที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางลูกแรกใส่ผู้ชุมนุมอย่างสงบหน้าอาคารรัฐสภา โลกโซเชียลและสื่อต่างชาติได้ช่วยกันเผยแพร่ภาพ “ความโหดร้ายของตำรวจ” ซึ่งมีออกมาใส่เห็นอีกเรื่อยๆ หลังจากนั้น

จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในวันที่ 21 ก.ค. ที่ม็อบเสื้อขาวใช้ไม้ไผ่ไล่ตีผู้โดยสารรถไฟและผู้ประท้วงที่สถานีรถไฟใต้ดินหยุ่นหลง ซึ่งกว่าตำรวจจะไปถึงที่เกิดเหตุก็ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง ทั้งที่ขณะเกิดเหตุก็มีคนเห็นรถตำรวจอยู่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่เกิดเหตุ ทำให้หลายคนกล่าวหาว่าตำรวจสมรู้ร่วมคิดกับ 'ม็อบเสื้อขาว' หรืออย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า ตำรวจเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นคราวนั้น 

ฮ่องกง.jpg

แบ่งเขา แบ่งเรา

ความเกลียดชังได้แบ่งแยกสังคมฮ่องกงออกเป็น 2 ขั้ว คล้ายกับที่เกิดขึ้นช่วงการเคลื่อนไหวออคคิวพายเซนทรัล หรือที่เรียกว่าปฏิวัติร่มในปี 2014 แต่ความขัดแย้งรอบนี้ยิ่งย่ำแย่ลง และรอยร้าวนี้อาจต้องใช้เวลาเยียวยานานหลายปีกว่าจะหาย

สถานการณ์ที่ซับซ้อนทำให้ทัศนคติของชาวฮ่องกงเกี่ยวกับความรุนแรงเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ผ่านมา การชุมนุมในฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นการชุมนุมที่สงบสันติ แต่นักวิเคราะห์และการสำรวจหลายสำนักพบว่า ชาวฮ่องกงสามารถอดทนอดกลั้นต่อการใช้ความรุนแรงได้มากขึ้น โดย ดร.คริสเตียน ชาน รองศาสตราจารย์จากคณะจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า เป็นเรื่องง่ายมากที่ชาวฮ่องกงจะติดกับดักความคิดแบบ “แบ่งเขา แบ่งเรา” แม้ความขัดแย้งทางการเมืองส่วนใหญ่มักจะซับซ้อนและไม่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย เป็นฝ่ายดีและฝ่ายเลว

ข้อความที่ส่งต่อกันตามกรุ๊ปแชตบน WhatsApp แอปพลิเคชันยอดนิยมของฮ่องกงมักมีการส่งบทความ รูปภาพหรือวิดีโอที่แสดงภาพให้ผู้ประท้วงเป็นผู้สร้างความวุ่นวาย ก่อความรุนแรง จนเร้าอารมณ์ให้หลายคนรู้สึกว่า รัฐบาลควรปราบปรามการชุมนุมให้เด็ดขาด แม้จะต้องมีคนตายก็ตาม ขณะเดียวกัน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็มักแชร์ภาพความโหดร้ายของตำรวจ ทำให้ความรู้สึกโกรธแค้นตำรวจยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

ดร.พอล หว่อง นักวิชาการด้านการมีส่วนร่วมในสังคม จากคณะสังคมสงเคราะห์และการบริหารงานสังคมของมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า ผู้ประท้วงและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเองก็มักโพสต์ภาพที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ฝ่ายสนับสนุนตำรวจก็มักแชร์ภาพที่ผู้ประท้วงทำความผิด แม้ที่ผ่านมาเรามักจะบอกว่า ภาพถ่ายเป็นภาพแทนความจริง แต่ปัจจุบัน วิดีโอก็ไม่สามารถจะบอกเล่าความจริงทั้งหมดได้

110819 ประท้วงฮ่องกง ผู้หญิงถูกยิงตา Hong Kong Protest woman eye shot

ยกตัวอย่าง การชุมนุมปิดล้อมสถานีตำรวจไขว่ช้ง ซึ่งมีการคุมตัวผู้ประท้วงวันก่อนหน้าไป 45 คน โดยมีช่วงที่ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน แต่ทั้งสองฝ่ายกลับนำความจริงเพียงครึ่งเดียว โดยมีช่วงหนึ่งที่เจ้าหน้าที่เหมือนจะจ่อปืนสั้นบรรจุกระสุนถุงตะกั่วไปที่ผู้ชุมนุม ราวกับกำลังจะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม แต่วิดีโอที่ถ่ายช่วงเกิดเหตุแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ 2 นายในภาพถูกผู้ประท้วงยืนล้อมและขว้างปาสิ่งของใส่ รวมถึงใช้แสงเลเซอร์ยิงใส่ ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ จนเขาล้มลงกับพื้นแล้วถูกถอดหมวดป้องกันออก

จากข้อมูลของ Statista บริษัทวิจัยด้านการตลาด ระบุว่า ประชากร 4.4 ล้านคนจากทั้งหมด 7.5 ล้านคนในฮ่องกง หรือเกือบร้อยละ 60 ใช้เฟซบุ๊ก และ รศ. ฉ่อยลกหม่าน จากคณะวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงเห็นว่า อัลกอริธึมของเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ ทำให้คนเห็นสิ่งที่ตัวเองอยากเห็นเพื่อให้คนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มของตัวเองนานขึ้น ซึ่งทำให้คนยิ่งมีความเห็นแตกแยกขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอีกด้านหนึ่ง จึงไม่เข้าใจหรือหาจุดร่วมกับอีกฝ่ายไม่ได้ และเชื่อว่าฝั่งตัวเองเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง

ดร.คริสเตียน ชานยังระบุว่า อีกปัจจัยทางจิตวิทยาที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างยืนหยัดจะสู้ต่อไป คนรุ่นใหม่ก็มองเห็น “ศัตรูร่วมกัน” และมองว่าพวกเขามีภารกิจในปกป้องฮ่องกง ซึ่งเป็นบ้านของพวกเขา และต่อสู้ร่วมกับพี่น้องในสถานการณ์ที่อันตราย ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับคนรุ่นใหม่ ขณะที่ตำรวจก็รู้สึกว่าพวกเขากำลังปกป้องฮ่องกงที่เป็นบ้านของพวกเขา กำลังต่อสู้ปกป้องเพื่อนตำรวจที่ถูกด่าทอและถูกทำร้าย 

ดร.คริสเตียน ชานมองว่า ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและตำรวจก็เห็นว่าฝ่ายของตัวเองมีความชอบธรรม และสิ่งที่พวกตัวเองทำล้วนเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้องสำหรับฮ่องกง ปัญหาก็คือ ทุกคนมองเห็นความจริงที่แคบมาก แต่คิดว่าตัวเองได้เห็นความจริงอย่างรอบด้านแล้ว ทำให้เกิดสิ่งที่นักวิตวิทยาสังคมเรียกว่า out-group homogeneity effect ที่มองว่า “พวกเขาก็เหมือนกันหมดนั่นแหละ” เช่น มองว่า ตำรวจก็ใช้ความรุนแรงเหมือนกันหมดทุกคนนั่นแหละ หรือผู้ประท้วงก็ก่อความวุ่นวายเหมือนกันหมดนั่นแหละ แต่เมื่อเป็นพวกตัวเองแล้วก็จะมองเห็นความเป็นปัจเจกมากกว่า 


ยกระดับความรุนแรง

การชุมนุมยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ผู้ชุมุนมไปปิดล้อมสถานีตำรวจอย่างน้อย 12 แห่ง ขว้างปาอิฐและระเบิดเพลิง พ่นสเปรย์ข้อความด่าทอหยาบคาย และเมื่อต้นเดือน ส.ค. ตำรวจจับกุม 8 คน ในจำนวนนี้ มีแอนดี้ ชาน นักเคลื่อนไหวอิสระ พร้อมกับยึดไม้เบสบอล 10 อัน ไม้เท้าเหลาปลายแหลม 20 อัน คันธนู 2 คัน ลูกธนู 6 ดอก และลูกเหล็ก

ฮ่องกง.jpg

ด้านตำรวจก็ถูกวิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนว่า ใช้แก๊สน้ำตาปราบปรามผู้ชุมนุมโดยไม่เหมาะสมกับระดับการชุมนุมโดยสันติ และไม่คำนึงถึงคนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงคนแก่ที่อยู่ในบ้านพักคนชราบริเวณนั้นด้วย โดยก่อนการปราบปรามการชุมนุมช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีรายงานว่า นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาไปแล้วมากกว่า 1,800 ลูก กระสุนยาง 300 นัด และกระสุนหัวปลายฟองน้ำ 170 นัด

ความเกลียดชังทำให้ชาวฮ่องกงจำนวนมากเริ่มมองว่า การประท้วงโดยใช้ความรุนแรงมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องค่านิยมทางการเมืองของชาวฮ่องกงที่มักยึดแนวทางสันติมาตลอด โดยการศึกษาร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยแบพทิสต์ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง และมหาวิทยาลัยหลิ่งหนาน พบว่า ผู้ประท้วงมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประท้วงที่ตอบแบบสอบถาม 555 คน ที่ไปประท้วงวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา เห็นว่า พวกเขาจะยกระดับการชุมนุมอีก หากรัฐบาลยังไม่อ่อนข้อ มากกว่าร้อยละ 88.8 เห็นด้วยกับการผสมผสานการเดินขบวนประท้วงอย่างสันติกับการปะทะกับตำรวจเพื่อเพิ่มแรงกระเพื่อมให้กับการเคลื่อนไหว 

ที่ผ่านมา การประท้วงมักจะเริ่มต้นอย่างสันติโดยมีคนหลากหลายวัยเข้าร่วมหลายหมื่นคน แต่เมื่อมีการประจัญหน้ากับตำรวจ ผู้ประท้วงฝ่ายฮาร์ดคอร์ที่มักเป็นชายวัย 20 ปีกว่าๆ จะออกมากอยู่แนวหน้า ส่วนผู้ชุมนุมอย่างสันติจะคอยให้กำลังใจอยู่ด้านหลัง โดยพวกเขามองว่า การใช้วิธีการประท้วงที่หลากหลายจะช่วยให้การประท้วงมีประสิทธิภาพ มากกว่าการโทษคนที่ใช้วิธีประท้วงที่แตกต่างออกไป ตราบใดที่ยังมีเป้าหมายเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เอเวอรี อึง นักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยเตือนว่า การจัดหาทุนและอุปกรณ์ให้ฝ่ายฮาร์ดคอร์ไปปะทะกับตำรวจจะทำให้มีคนบาดเจ็บเพิ่มขึ้น และอาจทำให้หลายคนไม่อยากเข้าร่วมการประท้วงอีกในอนาคต เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะตำรวจมีอุปกรณ์และทรัพยากรในการรับมือผู้ประท้วงมากกว่า ตำรวจมีกระสุน แต่ผู้ประท้วงมีเพียงอิฐ ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับฝ่ายผู้ประท้วงมากกว่าอยู่ดี 

ทั้งนี้ อึงมองว่า ความเกลียดชังระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจเป็นวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลปล่อยให้โศกนาฏกรรมย่ำแย่กว่าที่ควรเป็น ผู้ประท้วงไม่เชื่อมั่นว่า ตำรวจฮ่องกงจะบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมอีกต่อไป และการกระทำของตำรวจจะถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประท้วงเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไปที่พวกเขาจะทำตามกฎหมายอย่างไม่ลืมหูลืมตา ในขณะที่ตำรวจที่กระทำผิดไม่ได้รับบทลงโทษ

อ่านเพิ่มเติม: