ทว่า ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่รัฐบาลฮ่องกงกำลังเร่งผลักดันให้ผ่านภายในเดือนกรกฎาคมนี้ อาจทำให้ฮ่องกงถูกกลืนกลายเป็นเพียงเมืองๆ หนึ่งของจีน
ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งเป็นที่ถกเถียง มีที่มาจากคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในไต้หวัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018
ชาน ถ่ง-ไก หนุ่มชาวฮ่องกงวัย 19 ปี ก่อเหตุฆาตกรรมพูน หิว-หวิง แฟนสาววัย 20 ปี ที่ตั้งท้องได้ 3 เดือน ขณะทั้งสองเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในไต้หวัน หลังมีปากเสียงกัน และพูนเผยว่าเธอตั้งท้องกับแฟนเก่า พร้อมแสดงคลิปร่วมเพศกับชายอื่นให้ชานดู
ชาน เดินทางกลับมาฮ่องกงเพียงคนเดียวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2018 และถูกตำรวจฮ่องกงจับกุมในวันที่ 13 มีนาคม วันเดียวกับที่ทางไต้หวันพบศพของพูน
ชานสารภาพว่าถอนเงินจากบัญชีของอดีตแฟนสาวเพื่อจ่ายค่าบัตรเครดิต จึงถูกตั้งข้อหาฟอกเงินและรับโทษจำคุกในเดือนเมษายน มีกำหนดปล่อยตัวในเดือนตุลาคมปีนี้
อย่างไรก็ตาม ชานไม่ได้รับโทษจากการฆาตกรรม เนื่องจากก่อเหตุในไต้หวัน และแม้ว่าไต้หวันจะขอความร่วมมือให้ส่งตัวชานไปดำเนินคดีที่ไต้หวัน ทว่าฮ่องกงก็ไม่มีข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับไต้หวัน รวมถึงมาเก๊า และจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย
เดิมทีฮ่องกงมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกับ 20 ประเทศ รวมถึง สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย โดยไม่ทำข้อตกลงกับบางประเทศ เนื่องจากมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มาตรฐาน
คดีดังกล่าวจึงเป็นที่ต้นเหตุที่สำนักข่าว Hong Kong Free Press เรียกว่าเป็นโอกาสงามของรัฐบาลฮ่องกงซึ่งสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ ให้เสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2018 รัฐบาลของแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง ได้เสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการอุดช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อรักษาความสงบ และป้องกันไม่ให้ฮ่องกงกลายเป็นที่หลบหนีกบดานของอาชญากร
หากร่างกฎหมายที่เป็นข้อถกเถียงนี้ผ่าน จะเป็นการอนุญาตให้ฮ่องกงส่งตัวอาชญากรหลบหนีข้ามแดนที่ต้องโทษจำคุก 7 ปีขึ้นไป ให้ประเทศที่ขอความร่วมมือ แต่ไม่มีข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกงอยู่รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยศาลจะพิจารณาเป็นรายคดี และผ่านการลงนามรับรองโดยผู้บริหารสูงสุด ซึ่งก็คือ แคร์รี หล่ำ เอง
ทว่าทางด้านพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ด้วยความกังวลว่าอาจเป็นกฎหมายที่เปิดช่องให้รัฐบาลจีนสามารถเพ่งเล็งผู้เห็นต่าง และยัดข้อหาให้ฮ่องกงส่งตัวไปขึ้นศาลจีน
คลอเดีย โหม่ จากพรรคสนับสนุนประชาธิปไตย (pro-democracy camp) ชี้ว่าร่างกฎหมายนี้เป็นเหมือนม้าโทรจันที่อาจเข้ามาบ่อนเซาะเส้นแบ่งระหว่างระบบกฎหมายฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่
"เห็นชัดว่าชาวฮ่องกงไม่ไว้ใจระบบตุลาการของจีนแผ่นดินใหญ่ และเราก็กังวลว่าชาวฮ่องกง รวมถึงผู้เห็นต่างที่อาศัยในฮ่องกงอาจเผชิญกับการยัดข้อหาได้"
ประชาชนจำน้อยไม่น้อยก็ดูจะไม่ต้อนรับร่างกฎหมายนี้เช่นกัน โดยในวันที่ 28 เมษายน มีการประท้วงใหญ่ครั้งแรก ผู้จัดการชุมนุมระบุว่ามีคนมาร่วมแสดงพลังถึง 130,000 คน และวันที่ 7 มิถุนายน นักกฎหมายจำนวน 3,000 คน ซึ่งรวมถึงอดีตสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง ก็สวมสูทดำเดินประท้วงด้วย กระนั้นทางรัฐบาลยังคงยืนยันว่าสาเหตุที่มีผู้คัดค้านเป็นเพราะไม่เข้าใจกฎหมายนี้ กระทั่งในวันที่ 9 มิถุนายน ชาวฮ่องกง 1.03 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 1 ใน 7 ของประชากรฮ่องกงได้ลงถนนชุมนุมประท้วงเป็นทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร ยาวนานเกือบ 10 ชั่วโมง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชน
ทว่า แคร์รี หล่ำ ยังคงยืนกรานจะอภิปรายร่างกฎหมายนี้ตามกำหนดการเดิมในวันที่ 12 มิถุนายน เป็นผลให้ชาวฮ่องกงนับหมื่นคนออกมาชุมนุมปิดทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการเลื่อนอภิปรายอย่างไม่มีกำหนด แต่การชุมนุมยังคงยืดเยื้อเนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงอยู่ ในที่สุดจึงเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งสลายการชุมนุมด้วยสเปรย์พริกไทย ท่อฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนถุงตะกั่ว และกระสุนยาง
สาเหตุหลักที่ทำให้ชาวฮ่องกงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นเพราะประเทศจีนมีชื่อเสียงด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ดีนัก และกฎหมายนี้อาจเปิดช่องให้หมายหัวชาวฮ่องกงไปขึ้นศาลจีนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และประชาชนก็ไม่ไว้ใจว่าพรร��รัฐบาล ซึ่งให้การสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่นั้น จะขัดขืนต่อ ‘การขอความร่วมมือ’ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นอกจากความไม่ไว้วางใจจีนโดยทั่วไปแล้ว ยังมีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสั่นคลอนความรู้สึกปลอดภัยของชาวฮ่องกงโดยตรง คือ เหตุการณ์การหายสาบสูญร้านหนังสือคอสเวย์เบย์บุ๊กส์ (Causeway Bay Books) ซึ่งเจมส์ ถู สมาชิกสภาฮ่องกงเองก็ได้ยกกรณีเป็นตัวอย่างเมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสู่สภา
คดีนี้เป็นคดีที่ทำให้ทั้งชาวฮ่องกงเกิดความกังวลว่าการปกครองแบบหนึ่งประเทศ สองระบบจะสิ้นสุดลง เมื่อเส้นแบ่งเลือนหาย และชาวฮ่องกงถูกตัดสินโดยระบบตุลาการของจีนโดยรัฐบาลไม่อาจคุ้มครอง
คอสเวย์เบย์บุ๊กส์ เป็นร้านหนังสืออิสระในฮ่องกง ที่เป็นแหล่งของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเสาะหาหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและนักการเมืองจีน ซึ่งหาซื้อไม่ได้ในจีน ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคมปี 2015 พนักงานร้านคอสเวย์เบย์บุ๊ก 5 ราย ถูกลักพาตัวไปขึ้นศาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหนึ่งในนั้นถูกอุ้มหายที่เมืองพัทยา ประเทศไทย
กุ้ยหมินไห่ นักวิชาการชาวจีน ซึ่งภายหลังเปลี่ยนสัญชาติเป็นสวีเดน เป็นหนึ่งในสามหุ้นส่วนร้านคอสเวย์เบย์บุ๊ก และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและนักการเมืองจีน หายตัวไปจากเมืองพัทยา ประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2015 และทางรัฐบาลจีนก็ปิดปากเงียบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะคุมขังกุ้ยหมินไห่ ก่อนที่ 3 เดือนให้หลังเขาปรากฏตัวอีกครั้งทางสถานีโทรทัศน์ของทางการจีน วันที่ 17 มกราคม 2016 โดยถูกตั้งข้อหาว่ากระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลจีน และถูกนำตัวมาสารภาพความผิดผ่านรายการโทรทัศน์จีน ทั้งนี้ ลูกสาวกล่าวว่าพ่อของเธอน่าจะถูกบังคับให้พูดเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม ทางไต้หวันซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมต้นเรื่องของกฎหมายนี้ ชี้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการส่งตัวฆาตกร หากเป็นเหตุทำให้ชาวไต้หวันเสี่ยงต่อการถูกส่งตัวไปจีนแผ่นดินใหญ่
คณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่แห่งไต้หวัน ชี้ว่าต่อให้ร่างกฎหมายของฮ่องกงผ่านจนมีผลบังคับใช้ ก็จะไม่มีการส่งตัวอาชญากรใดๆ เกิดขึ้น ไต้หวันจะไม่ยอมรับการพิจารณาส่งตัวเป็นรายคดีของฮ่องกง หากไม่มีการกำจัดความเสี่ยงที่ชาวไต้หวันซึ่งเดินทางไปหรืออาศัยอยู่ในฮ่องกงจะถูกจับและส่งตัวไปยังจีนแผ่นดินใหญ่
"เราอยากให้ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่รัฐบาลไต้หวันไม่อาจเพิกเฉยต่อความเสียหายที่จะเกิดต่อสิทธิมนุษยชนของชาติเราได้" ชู่ฉุยเจิ้ง รองประธานคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่แห่งไต้หวัน กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮ่องกงยังคงตั้งเป้าหมายจะผ่านกฎหมายนี้ให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา: Hong Kong Free Press / SCMP / Bloomberg