“คุณเองที่เป็นคนบอกเราว่าการประท้วงโดยสันติใช้ไม่ได้ผล”
นี่เป็นข้อความที่ถูกพ่นด้วยสเปรย์สีดำบนเสาของอาคารรัฐสภาฮ่องกง ส่วนด้านหน้าอาคารรัฐสภาก็มีป้ายผ้าที่เขียนด้วยหมึกสีแดงเป็นภาษาอังกฤษว่า “If we burn, you burn with us” หากจะล่มจมก็ล่มจมไปด้วยกันทั้งหมด ข้อความเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงในรอบนี้ได้เป็นอย่างดี
ในวันที่1 ก.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 22 ปีที่อังกฤษส่งคืนฮ่องกงกลับคืนสู่อ้อมอกของจีน ชาวฮ่องกงหลายจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่กันตั้งแต่เช้าที่ศูนย์ประชุมฮ่องกง ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีเชิญธงจีนและฮ่องกงขึ้นสู่ยอดเสา การปิดถนนฮาร์คอร์ทที่มุ่งหน้าไปสู่อาคารที่ทำการรัฐบาลฮ่องกง จนถึงการบุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินในอาคารรัฐสภาในช่วงบ่ายและช่วงกลางคืน รั้วเหล็กของอาคารรัฐสภาถูกดึงทิ้ง ประตูกระจกถูกทุบทำลาย กำแพงทั่วอาคารถูกพ่นด้วยสเปรย์สีดำ เพื่อต่อต้านการครอบงำของจีนแผ่นดินใหญ่
เจมส์ กริฟฟิธส์ บรรณาธิการอาวุโสของสำนักงานซีเอ็นเอ็น ตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิวัติร่มในปี 2014 ขับเคลื่อนด้วยความหวังการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อการปฏิวัติร่มจบไปแล้ว การเคลื่อนไหวต่อต้านการแทรกแซงของจีนแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกงได้เปลี่ยนไปเป็นการประท้วงที่ขับเคลื่อนด้วยความสิ้นหวัง
เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ชาวฮ่องกงนัดกันเดินขบวนประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่หลายครั้ง โดยมีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางยิงให้ผู้ชุมนุมในวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งทำให้รัฐบาลฮ่องกงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่มาประท้วงอย่างสงบ ไร้อาวุธ และไม่มีท่าทีคุกคามใดๆ จนชาวฮ่องกงออกมาร่วมชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนของตัวเองอีกครั้งมากกว่า 2 ล้านคน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แนวทางการต่อสู้ที่แตกต่างกันในกลุ่มผู้ประท้วง
การเคลื่อนไหวในวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่แตกต่างกันในหมู่ของผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ออกไปร่วมกันปิดถนนและเดินขบวนประท้วงกันอย่างสงบไปยังหน้าที่ทำการรัฐบาลฮ่องกง ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกส่วนก็เข้าไปปะทะกับตำรวจ และพยายามจะบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาตั้งแต่ช่วงบ่าย จนสามารถเข้าไปได้สำเร็จในช่วงกลางคืน
หลังจากบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสำเร็จแล้ว ผู้ประท้วงในอาคารรัฐสภาบางส่วนก็เข้าไปทำลายทรัพย์สินหลายอย่างในอาคาร พ่นสเปรย์สีดำทับตราสัญลักษณ์บริเวณที่เขียนว่า “สาธารณรัฐประชาชนจีน” และพ่นข้อความต่อต้านรัฐบาลจีน รวมถึงเรียกร้องให้คืนอำนาจให้กับประชาชนชาวฮ่องกงทั้ง 7 ล้านคน
ส่วนผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางส่วนก็แชร์ภาพที่ผู้ประท้วงแปะป้ายเตือนผู้ประท้วงด้วยกันเองไม่ให้ทำลายหนังสือและของประดับ รวมถึงให้วางเงินทิ้งไว้เมื่อหยิบเครื่องดื่มออกมาจากตู้เย็น และบางส่วนก็พยายามพูดจูงใจให้ผู้ชุมนุมออกจากอาคารรัฐสภา
หลังจากที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาไม่นาน รัฐบาลฮ่องกงออกก็แถลงการณ์ย้ำว่า รัฐบาลได้ระงับการเสนอกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ไปแล้ว และรัฐบาลยังอ้างว่าไม่เคยเรียกการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาเป็น "การจลาจล" แม้สื่อหลายสำนักจะรายงานเช่นนั้น นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกงยังประณามการใช้ความรุนแรงในวันนี้ว่า "เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคม
เช้าวันนี้ (2 ก.ค.) รัฐบาลจีนก็ออกแถลงการณ์ประณามกลุ่มผู้ประท้วงชาวฮ่องกงที่บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาฮ่องกงว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจทนได้ โดยระบุว่า ความสุดโต่งและการใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็นในการบุกอาคารรัฐสภาเป็นเรื่องน่าตกใจ น่าโมโห และทำให้หัวใจสลาบ “ความรุนแรงของผู้ชุมนุมเป็นการท้าทายหลักนิติธรรมของฮ่องกงอย่างมาก และยังทำลายสันติภาพและเสถียรภาพของฮ่องกง
ความสิ้นหวังบีบให้ต้องใช้ความรุนแรง?
ความรู้สึกสิ้นหวังของชาวฮ่องกงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนรุ่นใหม่ 3 คนรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตของฮ่องกงจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจำนวนมากรู้สึกว่าจีนแผ่นดินใหญ่และรัฐบาลของแคร์รี หล่ำได้พรากชีวิตของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของพวกเขา และพวกเขารู้สึกมีส่วนต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้
การฆ่าตัวตายของทั้ง 3 คน ทำให้ผู้ประท้วงคนอื่นๆ รวมถึงคนดังที่สนับสนุนการประท้วงต้องออกมาปรามว่า ไม่ควรยกย่องให้คนที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้พลีชีพ เพราะอาจทำให้คนฆ่าตัวตายตามกันมากขึ้น พร้อมย้ำว่า ทุกคนควรอยู่ต่อสู้ร่วมกันต่อไป ซึ่งก็อาจเป็นคำอธิบายได้ว่า การชุมนุมอย่างสงบสันติยกระดับขึ้นมาเป็นการบุกอาคารรัฐสภาและทำลายทรัพย์สินของรัฐ ก็เพราะต้องตอบสนองความรู้สึกสิ้นหวังนี้ด้วยวิธีอื่น นอกเหนือจากการฆ่าตัวตาย
เฟอร์นานโด เจิง ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยฮ่องกงออกมาให้สัมภาษณ์อย่างผิดหวังหลังจากที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภาว่า "นี่เป็นกับดักชัดๆ ผมเสียใจที่ประชาชนเล่นตาม" โดยเขาบอกว่า ตำรวจน่าจะเคลียร์ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ได้ง่ายๆ ตั้งนานแล้ว เนื่องจากทางการฮ่องกงประกาศเตือนภัยระดับสีแดงเป็นครั้งแรกที่บริเวณอาคารรัฐสภา โดยเป็นการห้ามทุกคนอยู่ภายในอาคารและบริเวณใกล้เคียงโดยเด็ดขาด แต่ตำรวจกลับปล่อยให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในอาคารรัฐสภาได้ เพื่อให้ประชาชนคนอื่นรู้สึกต่อต้านผู้ประท้วง
เจิง กล่าวโทษรัฐบาลฮ่องกงที่เพิกเฉยต่อเสียงของประชาชนตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา แคร์รี หล่ำ ผู้ว่าเขตบริหารพิเศษฮ่องกงพยายามหลบหน้าสื่อและสาธารณะ และระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยของฮ่องกงก็พยายามจะขอเจรจากับรัฐบาลฮ่องกง แต่แคร์รี หล่ำก็ปฏิเสธที่เจรจา
การชุมนุมไร้แกนนำ ไร้การควบคุม
แม้สื่อมักจะไปถามความคิดเห็นของโจชัว หว่อง อดีตแกนนำปฏิวัติร่มและเลขาธิการพรรคเดโมซิสโต และส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยคนอื่นๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่และต่อต้านการแทรกแซงจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เหล่าอดีตแกนนำปฏิวัติร่มและส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ไม่สามารถจะชี้นำการเคลื่อนไหวของชาวฮ่องกงในรอบนี้ได้
แม้อดีตแกนนำการประท้วงในช่วงที่ผ่านมาจะพยายามควบคุมทิศทางการประท้วงอยู่บ้าง แต่ก็ล้มเหลว โจชัว หว่องเองออกมายอมรับว่า เขาไม่มีความกล้าหาญพอที่จะบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเหมือนผู้ประท้วงคนอื่นๆ เพราะหลังจากที่เขาต้องเข้าเรือนจำมาหลายครั้ง เขาก็เห็นว่าการบุกรัฐสภาจะต้องเจอกับอะไร แต่เขาก็ไม่ได้ประณามการกระทำดังกล่าว มีเพียงการชี้แจงให้สื่อและต่างชาติเข้าใจว่า การบุกรัฐสภาของผู้ประท้วงคนอื่นเกิดจากความคับข้องใจที่รัฐบาลไม่ฟังเสียงของประชาชน
ด้านผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงเองก็ชอบการต่อสู้แบบไม่มีแกนนำในครั้งนี้มากกว่าการมีองค์กรหรือมีบุคลลใดขับเคลื่อนการต่อสู้เหมือนครั้งการปฏิวัติร่ม โดยพวกเขายึดสโลแกนของบรูซ ลี นักแสดงบู๊ระดับตำนานของฮ่องกงที่ว่า “จงเป็นดั่งน้ำ” สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้
แม้การไม่มีแกนนำจะมีข้อดีตรงที่ไม่มีใครตกเป็นเป้าชัดเจนให้รัฐบาลเล่นงาน จับเข้าคุกหรือดำเนินคดี แต่การไม่มีแกนนำก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้ผู้ชุมนุมที่มีอารมณ์โกรธแค้น หากยังยกระดับการเคลื่อนไหวไปสู่ความรุนแรง เมื่อถูกกดดันหรือถูกยั่วยุ อย่างเช่นการบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา
ที่มา : CNN, The Guardian, BBC
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: