แคนทาร์ (Kantar) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล สำรวจผู้บริโภคกว่า 65,000 คน ในหลายทวีปเกี่ยวกับมุมมองต่อสิ่งแวดล้อม พบว่าราว 1 ใน 3 ของผู้ทำแบบสำรวจ แสดงความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มผู้บริโภคที่ตื่นตัวและพยายามลดปัญหาสิ่งแวดล้อม (eco actives) มีสัดส่วนเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคทั่วโลก
แคนทาร์ เผยในรายงานอีกว่า พบว่ามีการใช้เงินจับจ่ายเพื่อบริโภคเนื้อ เครื่องดื่มบรรจุขวด และสินค้าบางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์เช็ดเครื่องสำอาง ลดลงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการจับจ่ายของคนกลุ่มที่ตื่นตัว โดยคิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ของผู้ซื้อเนื้อสด และ 17 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ซื้อเนื้อแช่แข็ง โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้ใช้จ่ายเงินในการซื้อเนื้อลดลงปีละ 6 เปอร์เซ็นต์
การสำรวจผู้บริโภคกว่า 65,000 คน จาก 24 ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชีย ชี้ว่าผู้บริโภคในแถบยุโรปตะวันตกมีแนวโน้มจะพยายามลดผลกระทบที่ตัวเองมีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด โดยสัดส่วนผู้บริโภคที่ตื่นตัวและพยายามลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในแถบยุโรปตะวันตกมีจำนวน 21 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในเอเชียมีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์
รายงานการสำรวจนี้ชี้ว่า ประชากรส่วนใหญ่ในทวีปเอเชียและละตินอเมริกานั้นสนใจเพียงเล็กน้อยหรือไม่ใส่ใจการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย โดยชาวเอเชีย 67 เปอร์เซ็นต์ และชาวละตินอเมริกา 63 เปอร์เซ็นต์ไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะที่โดยรวมแล้วจากแบบสำรวจนี้ประชากรโลกไม่สนใจสิ่งแวดล้อมมีสัดส่วนคิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ประเทศที่ตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมักเป็นประเทศที่มีจีดีพีสูง
อย่างไรก็ตาม แม้ในทวีปละตินอเมริกาจะไม่ตื่นตัวนัก แต่ชิลีถือเป็นข้อยกเว้น และเป็นประเทศที่มีผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลกตามรายงานนี้ โดย 37 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสำรวจ ระบุว่าได้พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งขัน
สำหรับประเทศที่ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อมรองลงมา คือ ออสเตรีย เยอรมนี ตามด้วยอังกฤษ ทางแคนทาร์ระบุ พร้อมคาดการณ์ว่า ยอดขายเนื้อสดในอังกฤษอาจลดลงถึง 4 เปอร์เซ็นต์ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า หากแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังคงแพร่หลาย
แคนทาร์ ชี้ว่าผลการศึกษานี้เผยให้เห็นว่ามีอุปสงค์อยู่มาก สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีราคาเหมาะสม และพร้อมให้หาซื้อได้ นอกจากนี้ แคนทาร์ระบุอีกว่า 48 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภค ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ลดการใช้พลาสติกลง
"ในขณะที่ตลาดโตขึ้น ความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมและพลาสติกก็เพิ่มขึ้นด้วย ในอนาคตเราอาจเห็นสัดส่วนตลาดผู้บริโภคอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น ในประเทศที่มีการเติบโตของจีดีพี" แคนทาร์ ระบุในรายงาน
เมื่อเดือนก่อน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (U.N.'s Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุว่าปริมาณการบริโภคเนื้อของคนทั่วโลกจำเป็นต้องลดลง เพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน และอาหารจากพืชก็ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เนื่องจากการเลี้ยงปศุสัตว์อย่างวัวนั้น มีการปล่อยก๊าซมีเทนจากการเรอและผายลม 200 ถึง 500 ลิตรต่อวัน
ปัจจุบัน มีบริษัทหลายรายที่พยายามนำเสนอเนื้อเทียมเป็นทางเลือก เช่น บียอนด์มีต (Beyond Meat) และอิมพอสซิเบิลฟู้ดส์ (Impossible Foods) ในขณะที่แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดอย่างเคเอฟซีและเบอร์เกอร์คิง ก็เริ่มให้ความสนใจกับเนื้อทางเลือกเหล่านี้และทดลองปล่อยเบอร์เกอร์เนื้อเทียมกันออกมา
ที่มา: Independent / Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: