ไม่พบผลการค้นหา
แม้วัฒนธรรมการบริโภคอาหารของประเทศแถบตะวันตกจะอุดมด้วยเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบหลักมาช้านาน ทว่าหากต้องการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ชาวตะวันตกต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงให้ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า หากชาวตะวันตกต้องการช่วยลดปัญหาโลกร้อน พวกเขาต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงให้ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และ 80 เปอร์เซ็นต์สำหรับประชากรประเทศอื่นๆ โดยหันมาทดแทนพื้นที่บนจานอาหารด้วยถั่ว และธัญพืชประเภทต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ตัวงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การผลิตอาหารเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โลกกำลังเดือดร้อนมากจากก๊าซเรือนกระจกที่ฟาร์มปศุสัตว์ปล่อยออกมา รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มเนื้อที่ฟาร์ม หรือการเกษตรที่ต้องใช้น้ำจำนวนมากเพื่อเลี้ยงดูสัตว์อีกต่อหนึ่ง

คุณรู้ไหม? กว่าจะได้เนื้อวัวครึ่งกิโลกรัมต้องใช้น้ำมากถึง 6,800 ลิตร และ 2,180 ลิตร สำหรับเนื้อหมู ขณะที่ถั่วเหลืองครึ่งกิโลกรัมต้องการน้ำเพียง 985 ลิตร และ 400 ลิตร สำหรับข้าวโพด ซึ่งปริมาณน้ำจืดสำหรับอุปโภค และบริโภคทั้งหมดบนโลกมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

จากการใช้น้ำปริมาณมหาศาลแลกไปกับผลผลิตในปริมาณเท่ากัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำ และอาหารในอนาคต โดยเฉพาะในอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อประชากรโลกจะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 2,300 ล้านคน

มาร์โก สปริงแมนน์ (Marco Springmann) เจ้าของงานวิจัยบอกว่า “พวกเรากำลังอยู่บนความเสี่ยง เมื่อระบบการผลิตอาหารทั้งหมดพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนเมนูอาหารทันทีคงเป็นเรื่องยาก สปริงแมนน์จึงแนะนำว่า เราสามารถเริ่มต้นจากการทานเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ให้น้อยลง กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า ‘Flexitarian Diet’ ปรับตัวเข้าหาสิ่งที่เป็นไปได้ และไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดแบบมังสวิรัติ จำนวนเนื้อสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับสปริงแมนน์คือ 1 มื้อต่อสัปดาห์ 

ในอดีตการเกษตรของฝั่งตะวันตกมุ่งเน้นการปลูกธัญพืช และข้าวโพด แต่อนาคตเกษตรกรจำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการสารอาหารที่หลากหลาย

งานวิจัยบอกด้วยว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามมองหาวิธีการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการตรวจสอบ และนำปุ๋ยกลับมาใช้ใหม่ เพราะปุ๋ยส่วนมากมักจะละลายลงสู่แหล่งน้ำ แล้วไหลไปสร้างความเสียหายกับระบบนิเวศน์ทางทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แม้ปัญหาปากท้องของประชากรโลกในอนาคตดูจะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง แต่ทางด้าน โจฮาน ร็อคสตอร์ม (Johan Rockstorm) หนึ่งในทีมงานวิจัยกลับไม่กังวลถึงภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะเขาเชื่อมั่นว่า การเลี้ยงประชากร 10,000 ล้านคน เป็นไปได้ ถ้าปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภค และการผลิตอาหารให้แตกต่างจากเดิม โดยพืชผลทางการเกษตรเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยครอบคลุมโลก เมื่อส่วนผสมทุกอย่างลงตัว ผลลัพธ์จะออกมาเป็นสุขภาพที่ดีขึ้นของโลก และประชากร 

ที่มา:

On Being
198Article
0Video
0Blog