วันที่ 22 มิ.ย. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2565 ว่า ที่ประชุมได้รายงานเรื่องพลังงานในภาพรวม รวมทั้งการปรับรูปแบบการใช้พลังงานให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อหาแหล่งพลังงานอื่นทดแทน หลังค่าแก๊สและน้ำมันแพงขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาพลังงงานเกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้นพลังงานที่แพงขึ้นจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจว่า มาจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศอย่างไรบ้าง ตนขอยืนยันว่าทุกประเทศที่มีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศย่อมได้รับผลกระทบ ซึ่งทราบอยู่แล้วว่ามีพลังงานทั้งทางบกและทะเลเท่าไหร่ โดยรัฐบาลกำลังพยายามหาแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง 3 มาตรการในการแก้ปัญหาพลังงาน ข้อแรกจะต้องดูแลความมั่นคงและเสถียรภาพเพื่อไม่เกิดการขาดแคลน การประกอบการทางเศรษฐกิจและธุรกิจต้องยังเดินหน้าต่อไปได้ ข้อ 2.) เราต้องดูแลราคาพลังงานไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนมากเกินไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มที่ทีผลต่อประชาชนในวงกว้าง โดยวันนี้ราคาน้ำมันของไทยหากเทียบกับเพื่อนบ้านยังต่ำอยู่ในลำดับที่ 7-8 จาก 10 ประเทศในอาเซียน
ข้อ 3.) เราจะดูแลช่วยเหลือครอบครัวและกลุ่มผู้เปราะบางผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือเป็นกิจกรรมรายผู้ประกอยการ พร้อมรักษาสมดุลการใช้เงินเพื่อประคับประคองราคาพลังงานกับเสถียรภาพการเงินการคลังให้เติบโตได้ในอนาคต เพื่อไม่เป็นภาระในวันข้างหน้าจึงต้องระมัดระวัง
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทำ แม้จะถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ซึ่งเราต้องรับฟังการจัดลำดับความน่าเขื่อถือจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันจัดลำดับด้านพลังงาน โดยการเงินการคลังของไทยอยู่ที่ BBB+ เหมือนกับก่อนเกิดโควิด-19 และวิกฤตพลังงานซึ่งสะท้อนว่าเราดำเนินการมาได้ดีพอสมควร
ผู้สื่อข่าวถามว่า การดำเนินการแก้ไขพลังงานมาถูกทางใช่หรือไม่ นายกฯ ปฏิเสธตอบคำถาม โดยเดินออกจากโพเดียมทันที เมื่อถามต่อว่า พรรคคภูมิใจไทย (ภท.) ได้พูดถึงการปรับคณะรัฐมนตรีเข้ามาหรือไม่ นายกฯ ก็ปฏิเสธตอบคำถามก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า