ไม่พบผลการค้นหา
รมว.การค้า ญี่ปุ่น ปฏิเสธเจรจาเพื่อยกเลิกการคุมเข้มส่งออกวัตถุดิบการผลิตเทคโนโลยีให้เกาหลี หลังประธานาธิบดีเกาหลีเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการนี้ซึ่งไม่ส่งผลดีกับทั้งสองชาติ

วันที่ 9 กรกฎาคม ฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ปฏิเสธไม่เจรจากับเกาหลีเพื่อยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออก โดยชี้ว่าการใช้มาตรการล่าสุดเป็นไปเพื่อปรับปรุงกระบวนการควบคุมการส่งออกของญี่ปุ่น และไม่มีความคิดที่จะเพิกถอนมาตรการนี้

"นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะเจรจากันได้ และไม่สามารถเพิกถอนได้" เซโกะกล่าวพร้อมยืนยันว่ามาตรการของญี่ปุ่นไม่ขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม เซโกะชี้ว่าการเจรจาในระดับปฏิบัติการณ์นั้นอาจจะเป็นไปได้ และประเทศญี่ปุ่นพร้อมจะให้คำอธิบาย เนื่องจากทราบว่าทางรัฐบาลเกาหลีมีการขอข้อมูลยืนยันเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการนี้

รัฐมนตรีการค้าญี่ปุ่น ยังเผยโอกาสอีกว่ามีโอกาสที่มาตรการควบคุมการส่งออกจะเข้มงวดขึ้นอีก แต่หากจัดการการควบคุมการส่งออกได้ดีก็อาจจะผ่อนคลายลง มีความเป็นไปได้สองทาง "การที่ญี่ปุ่นจะบังคับใช้มาตรการเพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับท่าทีของเกาหลี" เซโกะกล่าว

การประกาศจุดยืนของรัฐมนตรีการค้าญี่ปุ่น ออกมาหลัง มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีได้เร่งให้ญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการคุมเข้มการส่งออกวัตถุดิบไฮเทคเมื่อวานนี้


abe-moon.jpg

คิมอินชุล โฆษกและผู้ช่วยฝ่ายประชาสัมพันธ์รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าการที่รัฐบาลทั้งสองชาติตอบโต้กันไปมาแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับความสัมพันธ์ของเกาหลีและญี่ปุ่นเลย เราจึงเรียกร้องให้มีการปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางการทูต และแนะนำให้ญี่ปุ่นถอนการใช้มาตรการนี้ไปโดยสมัครใจ

นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมเป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้สั่งคุมเข้มการส่งออกวัตถุดิบในการผลิตเทคโนโลยี 3 ชนิด คือ โฟโตรีซิสต์ ไฮโดรเจนฟลูออไรด์ และฟลูออริเนเตดพอลีไอไมด์ ซึ่งใช้ผลิตหน้าจอแสดงผลและเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในการผลิตชิป โดยเกาหลีพึ่งวัตถุดิบบางชนิดที่ถูกคุมเข้มจากญี่ปุ่นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การส่งออกสินค้าคุมเข้มจำเป็นต้องยื่นขออนุญาตก่อนทุกครั้ง โดยอาจกินเวลาถึง 90 วัน เป็นอุปสรรคต่อบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีต่างๆ อย่างสมาร์ตโฟนและโทรทัศน์ เช่น ซัมซุง เอสเค และแอลจี ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีวัตถุดิบเหล่านี้เหลืออยู่ในคลังไม่ถึง 90 วัน

ญี่ปุ่นออกมาตรการนี้หลังเกาหลีใต้จี้ให้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยการบังคับใช้แรงงานชาวเกาหลี สมัยญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมช่วงปี 1910-1945 แม้ญี่ปุ่นจะชี้ว่าได้ชำระเงินในส่วนนี้ไปแล้วในการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งมีการลงนามกันทั้งสองฝ่าย 1965 แต่เกาหลีชี้ว่านั่นไม่นับรวมถึงผลกระทบที่เกิดต่อประชาชนเกาหลีเป็นรายบุคคล สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลญี่ปุ่น นำมาสู่มาตรการควบคุมการส่งออกวัตถุดิบเทคโนโลยีที่เกาหลีต้องพึ่งพิงญี่ปุ่น

ที่มา: Yonhap News Agency / Nikkei Asian Review / Japan Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: