ไม่พบผลการค้นหา
'เสรี' รับ 'กมธ.พัฒนาการเมืองฯ' ชงแก้ รธน.รื้อ ม.158 ยกเลิกวาระ 8 ปี เปิดทางนั่งนายกฯไม่จำกัด 'ประยุทธ์' ลั่นไม่เกี่ยวกับผม

วันที่ 13 ม.ค. เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เปิดเผยว่า กมธ. การพัฒนาการเมืองฯ มีแนวคิดกำลังจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ครบวาระ 4 ปี ว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องของการเสนอประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ซึ่งมีอยู่ 5 หัวข้อใหญ่ โดยหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่ามีข้อที่ต้องพัฒนาแก้ไขอย่างไรหรือไม่ ซึ่งเป็นหัวข้อเดิมหลักของการรายงานในสภาฯ อยู่แล้ว สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือสถาบันพระปกเกล้า ที่จะเสนอมาหลายประเด็น แต่ทางกมธ. จะพิจารณาว่ามีประเด็นอื่นอีกหรือไม่

“เมื่อดูแล้ว ทางกมธ. จึงเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ที่รัฐธรรมนูญเดิมก่อนฉบับ พ.ศ.2550 ไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่ปัจจุบันเมื่อเรามาศึกษาดูพบว่าการกำหนดเวลา 8 ปี ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะบางประเทศยอมรับเสียงประชาชนเป็นผู้กำหนด ดังนั้นใครจะเป็นนานเท่าไหร่ หรือจะเป็นนานกี่ครั้ง อยู่ที่เสียงประชาชน ไม่จำเป็นต้องไปกำหนด 8 ปี ยกตัวอย่างจีน ที่สีจิ้นผิง ตอนแรกให้ 2 สมัย แต่ตอนนี้ให้ 3 สมัย ไม่ใช่เป็นกฎตายตัว เราจึงเห็นว่าเมื่อมีข้อเสนอจะแก้ไขเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่ใช้กับทุกพรรคการเมือง เพราะเรายังไม่รู้เลยว่า ใครจะชนะเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่าจะแลนด์สไลด์ แล้วจะมาบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพล.อ.ประยุทธ์ แสดงว่าพรรค พท. คิดจะเป็นฝ่ายค้านตลอดหรืออย่างไร ตอนนี้พรรค พท. กลัวพล.อ.ประยุทธ์ ไปเองหรือเปล่า”

เสรีกล่าวว่า หากมีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่จำกัดวาระ 8 ปีได้จริง ใครเป็นรัฐบาลในสมัยเลือกตั้งคราวต่อไป ก็ใช้กติกานี้ได้ หรือจะไปแก้ไขตอนหลังก็สามารถทำได้ ขณะนี้เป็นเพียงข้อศึกษาและข้อเสนอ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ว่ากมธ.เสนอแล้วจะแก้ได้เลยที่ไหน เพราะต้องใช้เสียงของทั้งสองสภาฯ อย่างน้อยต้องใช้เสียงส.ว. 1 ใน 3 และ เสียงส.ส. ฝ่ายค้าน ร้อยละ 20

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ ต้องใช้เวลานานเท่าใด และจะเสร็จในรัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลหน้า นายเสรี กล่าวว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเสียงในสภาฯ จะเอาอย่างไร ถ้าสภาฯ ไม่อยากได้ ก็ล่มไปล่มมา เมื่อถามว่ากังวลว่าสังคมจะกล่าวหาว่าส.ว.ทำงานรับใช้ เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่หรอก เราต้องยอมรับว่า ถ้ามีประเด็นกี่เรื่องเราต้องเสนอให้หมด และพรรค พท. ก็เสนอให้ลดอำนาจส.ว. ไม่ให้เลือกนายกฯ โดยไม่ห่วงว่าใครจะคิดอย่างไร ส่วนประเด็นไม่จำกัดวาระนายกฯ เป็นเพียงแค่เงา แต่พรรค พท. ก็กลัวแล้ว

เมื่อถามว่า จากรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เปิดตัวมา ใครพอที่จะมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เสรีกล่าวว่า ขณะนี้ส.ว.ยังไม่ได้พูดคุยกัน เพราะถ้าคุยกันจริงก็ไม่มีเหตุผล เพราะยังไม่รู้เลยว่าพรรคการเมืองใดที่ได้ ส.ส.อย่างน้อย 25 ที่นั่ง เพื่อมีสิทธิเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ว่าคิดกันไปเองว่า พล.อ.ประยุทธ์ หรือ คสช. เลือก ส.ว. มา ส.ว.ก็จะไปทางนี้

ส่วนหลักการที่บอกว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดของสภาฯ นั้น โดยหลักควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ที่ผ่านมาแต่ละพรรคการเมืองใหญ่ ถึงเวลาจริงยังไปเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเล็กเป็นนายกรัฐมนตรีเลย คือไม่ได้เอาเสียงของตัวเองเป็นหลัก คราวที่แล้วพรรค พท. ยังไปเสนอธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ดังนั้นวัฒนธรรมนี้ จึงไม่มีใครยึดเป็นแบบอย่างในแนวทางนี้ จึงอยู่ที่ว่าใครมีเสียงในสภาฯ เกินกว่ากึ่งหนึ่ง และสนับสนุนให้บุคคลนั้นเป็นนายกฯ ยกตัวอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อยู่พรรคกิจสังคม มี 18 เสียง สภาฯ ยังให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้เลย อานันท์ ปันยารชุน ไม่มี ส.ส. ก็เป็นนายกฯ ได้ การยกหลักการนี้ขึ้นมาพูด เป็นเพียงการกล่าวอ้างเป็นหลักการสำคัญเท่านั้น ถึงเวลาจริงเปลี่ยนแปลงได้หมด นี่คือการเมืองไทย


'ประยุทธ์' ลั่นผมไม่เกี่ยว

เมื่อเวลา 16.27 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวสั้นๆ ถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอประเด็นให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 โดยไม่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ว่า "ไม่เกี่ยวกับผม"