เมื่อมีเงื่อนไขดังกล่าว บรรดาพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็สามารถหยิบฉวยมาเป็นอาวุธ ‘ทิ่มแทง’ หรือ ‘ปัดป้อง’ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทั้งนั้น แต่ใครจะคาดคิดว่า เหล่า ส.ว.จะลงมาเล่นเกมนี้ด้วย?
เพราะอยู่ดีๆ ส.ว.ตัวตึงอย่าง กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 158 ให้ยกเลิกวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ของนายกรัฐมนตรี เสีย หรือว่าง่ายๆ คือจับเลข 8 หงายลง ให้เป็นนายกฯ ได้แบบอินฟินิตี้!
ล่าสุด เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ตัวตึงอีกคน ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว ก็ได้แจงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป และ “ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่ทุกพรรคการเมืองก็ได้ประโยชน์ หาก แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ ก็ได้เป็นยาว”
ทันทีที่ข่าวนี้สะพัด พรรคการเมืองต่างๆ ก็เริ่มแบะท่าคัดค้าน แต่หากย้อนมองดูให้ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะทำได้จริงๆ หรือเป็นเพียงอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการเมืองกันแน่?
‘วอยซ์’ ได้สอบถามไปยัง ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ผู้เป็นรองประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ และนักกฎหมาย ซึ่งมาช่วย ‘ดับไฟ’ ด้วยการบอกว่า ข้อเสนอแก้ไขวาระนายกฯ นั้น เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของ ส.ว. 2 ท่าน เท่านั้น และเมื่อมองไปยังข้อปฏิบัติจริง ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายดาย
เมื่อกางรัฐธรรมนูญออกมาดูแล้ว ก็พบว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว.นั้น ต้องเผชิญอย่างน้อย 4 ด่านสำคัญ คือ
1) รวมชื่อเสนอญัตติ มาตรา 256 กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือจาก ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาฯ หรือจาก ส.ส.และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ในสองสภา
จากหลักเกณฑ์นี้จะเห็นได้ว่า ส.ว.ไม่สามารถเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองได้ แต่ต้องอาศัยเสียง ส.ส. มาร่วมได้ เท่ากับว่าต้องใช้พลังล็อบบี้พอสมควรเพื่อให้ได้รายชื่อ 1 ใน 5 ของสองสภา หรืออย่างน้อย 136 คน จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 680 คน (ส.ส. 432 8น ส.ว. 248 คน) ของสองสภาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2) ระยะเวลา หาก ส.ว.สามารถชวน ส.ส.มาลงชื่อเสนอญัตติจนได้บรรจุในวาระการประชุม แต่ต้องไม่ลืมว่าสภาฯ ชุดปัจจุบันก็ใกล้จะหมดวาระเต็มทีในวันที่ 23 มี.ค. 2566 และสมัยประชุมรัฐสภาครั้งสุดท้ายของปีที่ 4 ก็จะปิดสมัยในวันที่ 28 ก.พ. 2566 กว่าจะได้พิจารณาต้องรอกฎหมายที่คั่งค้างอยู่ให้ผ่านไปก่อน ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ในสภา ‘3 วันหนี 4 วันล่ม’ นี้
หรืออีกทางคือต้องรอหลังเลือกตั้งทั่วไป และได้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เอี่ยม ทว่าถึงคราวนั้นก็จะต้องลุ้นว่านายกฯ คนใหม่คือใคร และเมื่อนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังเป็นไปตามเจตนาของผู้เสนออยู่หรือไม่
3) ลงมติ ในการลงมติขั้นรับหลักการ ต้องใช้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา หรือ 342 เสียง โดยต้องใช้เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรือ 83 คน ซึ่งก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
แต่ความยากจะอยู่ที่การลงมติในวาระสุดท้าย ซึ่งต้องใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% ของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (พรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานหรือรองประธานสภาฯ) และ ส.ว. 1 ใน 3 เสียงของทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก ในเมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันตั้งแง่ประเด็นปลดล็อกวาระ 8 ปีนายกฯ กับ ส.ว.ถึงขนาดนี้
4) ต้องทำประชามติ มาตรา 256 ยังกำหนดไว้ด้วยว่า ในกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังที่ประชุมรัฐสภา ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ก่อนนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งต้องให้ประชาชนทั่วประเทศลงคะแนน และเมื่อผลประชามติเห็นชอบจึงจะดำเนินการต่อได้
อย่างไรก็ตาม การทำประชามติแต่ละครั้งก็ถือเป็นเรื่องยุ่งยาก ที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณสูงทีเดียว ทั้งยังไม่มีใครรับประกันได้ว่าคนไทยจะเห็นชอบด้วย
เจอ 4 ด่านมหาโหดเหล่านี้ไป คงดูออกไม่ยากว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้อาจจะตกไปอย่างรวดเร็ว หรือถึงอย่างไรก็ต้องใช้เวลานาน และอาจจะนานจน 2 ปีสุดท้าย ของ พล.อ.ประยุทธ์ หมดไปแล้วด้วยซ้ำ ซึ่ง ส..ว.เสรี เองก็เหมือนจะตระหนักถึงเรื่องนี้ดี แต่ก็ยังแสดงความเห็นแบบนี้ออกมา เพื่ออะไรกันแน่?
ขณะที่ ดิเรกฤทธิ์ มองว่า การเสนอยกเลิกระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ นั้น เป็นเรื่องของระบบ มากกว่าตัวบุคคล กล่าวคือหากนายกฯ เป็นคนเก่ง คนดี แต่ถูกจำกัดสิทธิด้วยระยะเวลา 8 ปี ก็น่าเสียดาย พร้อมยกตัวอย่างว่าในบางประเทศมองการจำกัดเวลาเช่นนี้เป็นเรื่องล้าสมัยเสียด้วยซ้ำ เพราะในประเทศที่ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง จะไม่มีเรื่องการผูกขาดอำนาจเพราะ ‘อยู่นาน’ เหมือนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกังวลอยู่
อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่า การจุดประเด็นต่ออายุนายกฯ ขึ้นมาเวลานี้ อาจเป็นใบสั่งจาก 1 ใน 2 ป. ผู้กุมเสียง ส.ว. เพื่อให้สอดคล้องกับการสวมเสื้อ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ พลิกโฉมมาเป็นนักการเมืองแบบเต็มตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ว่าจะเป็นใบสั่ง จาก ป.ไหน เท่านั้นเอง?
หากมาจาก ป.ประยุทธ์ นี่คงเป็นการ ‘ปั่นราคา’ ให้ตัวเอง โดยกลบจุดอ่อนคือเวลาที่เหลืออยู่เพียง 2 ปี และบงการ ส.ว.ให้หาทางแก้กฎหมายให้ตัวเองอยู่ยาวได้ พร้อมกันนั้นก็แสดงบารมีดึงดูดให้บรรดา ส.ส.ที่ยังชั่งใจว่าจะเข้าซุ้ม ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ดีหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘ลุงตู่’ ยังมีโอกาส ‘อยู่ยาว’
แต่หากมาจาก ป.ประวิตร ก็คงเป็นการ ‘เตะตัดขา’ น้องรัก พยายามดิสเครดิตให้เห็นสภาพดันทุรังอยากเกาะเก้าอี้นานๆ ของนายกฯ (เกือบ) 8 ปี
แต่ไม่ว่าจะมาจากทางไหนก็ตาม ก็สะท้อนความจริงได้ว่า ท้ายที่สุด ส.ว. ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเป็น ‘อาวุธ’ ทำลายฝั่งตรงข้าม ก็กลับถูก 2 ป. ใช้ ‘ทิ่มแทง’ กันเอง เพื่อผูกรัดอำนาจไว้กับตัวให้ยาวนานที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง