วันที่ 13 ม.ค. 2566 ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา คนที่สาม เปิดเผยผ่าน ‘วอยซ์’ ต่อกระแสข่าวที่ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เผยว่า คณะกรรมาธิการดังกล่าว เตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องขยายอายุการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีให้เกิน 8 ปี
โดย ดิเรกฤทธิ์ ระบุว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในทางการ หรือในวาระของประชุมของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องเลย อาจเป็นแนวคิดของ ส.ว. บางท่าน แต่ในทางการยังไม่ปรากฏในนามของวุฒิสภา
"น่าจะเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในบรรดาเพื่อนฝูงหรืออะไรมากกว่า เพราะทั้ง 2 ท่าน (กิตติศักดิ์ และ เสรี) ในเรื่องของความเห็นตอนวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านก็มีความเห็นของท่าน และในทางแนวคิดทางการเมือง ท่านก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะไปจำกัดเวลาดำรงตำแหน่ง เขาดีไม่ดีประชาชนก็เป็นคนตัดสินใจอยู่แล้ว เป็นแนวคิดของ 2 ท่านนั้น แต่ยังไม่ได้นำเรื่องนี้ประชุมกันอย่างเป็นทางการ" ดิเรกฤทธิ์ กล่าว
โดย ดิเรกฤทธิ์ ให้ความเห็นต่อการกำหนดวาระในฐานะนักกฎหมายว่า ต้องขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและวัฒนธรรมการเมืองของแต่ละประเทศ บางประเทศก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดอายุการดำรงตำแหน่งของผู้นำ และมองว่าเป็นเรื่องล้าสมัย กีดกัน หรือดูหมิ่นประชาชนด้วยซ้ำ เพราะมีระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งแล้ว ไม่มีการสืบทอดอำนาจ ขณะที่บางประเทศซึ่งให้ความสำคัญ เพราะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนหมู่มาก ควรให้เกิดการสร้างผู้นำทางการเมือง ไม่ใช่การผูกขาด
"ผมไม่เห็นความจำเป็นนะที่ต้องไปกำหนด ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้อย่างนี้แล้ว คนที่เห็นต่างก็มีมุมมองว่าอาจเป็นการกีดกัน และไม่เคารพประชาชน ถ้าประชาชนจะเลือกคนดีซ้ำเข้ามาก็เป็นการจำกัดสิทธิ ก็มีมุมแบบนี้อยู่เหมือนกัน จึงมีความเห็นได้ 2 ฝ่าย ซึ่งผมก็มองว่า คงไม่ใช่เรื่องการโน้มเอียง อคติ เชียร์ไม่เชียร์ใคร ช่วยไม่ช่วยใครนะ ผมคิดว่าในสังคมเราก็ต้องรับฟังเหตุผลทุกฝ่าย"
อย่างไรก็ตาม ดิเรกฤทธิ์ ย้ำว่า หากต้องการเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ โดยหารือกันในรัฐสภา เพราะฝ่ายที่เห็นด้วยให้แก้อาจไม่ได้หวังผลทางการหาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงอย่างเดียว ตนเห็นว่าควรเอาเรื่องความดี ความสามารถของนายกฯ มาเป็นตัวตั้งดีกว่า อย่าใช้เรื่องวาระ 8 ปี มาเป็นประเด็น เพราะเป็นบทบัญญัติที่คนเขียนขึ้นมา คนก็ย่อมแก้ได้ แต่ความเห็นของ ส.ว. 2 คน ไม่สามารถไปสรุปเป็นวุฒิสภาทั้งหมดไม่ได้
ทั้งนี้ ดิเรกฤทธิ์ ระบุว่า แม้จะมีการเสนอแก้ไขจริง ก็คงแก้ได้ไม่ทันเวลา เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากต้องขอความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของรัฐสภาแล้ว ยังมีเงื่อนไขว่าต้องมีเสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว. และเสียง 20% ของฝ่ายค้านมาร่วมด้วย
รวมถึงเมื่อเข้าเงื่อนไขของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ จึงต้องไปทำประชามติทั่วประเทศด้วย ในกระบวนการไม่ได้ง่าย เนื่องจากขั้นตอนการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งนี้ก็บัญญัติขึ้นด้วยเหตุผล และประชามติเช่นกัน ดังนั้น การจะแก้ไข ก็ต้องมีเหตุผลที่ดีพอมาหักล้างให้สภาเห็นด้วย และต้องให้ประชาชนที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญมา มีประชามติให้แก้ไขด้วยเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องยาก
เมื่อถามว่าวาระของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เหลือ 2 ปี จะส่งผลต่อการยกมือเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ครั้งต่อไปหรือไม่ ดิเรกฤทธิ์ ระบุว่า ส.ว. เป็นปลายน้ำ ต้องดูกันต่อไปว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ต้นน้ำคงไม่ถึงปลายน้ำ หากประชาชนเลือกตั้งได้ ส.ส.เสียงข้างมาก เสนอใครเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้มีตำหนิเป็นที่ประจักษ์จริงๆ ว่าไม่เหมาะสมกับคู่แข่ง ก็เป็นไปไม่ได้ที่ ส.ว. จะไปเลือกคนที่ประชาชนและคนที่ ส.ส.เสียงข้างมากไม่ได้เลือกมา