วันที่ 16 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า ในการประชุมกรรมาธิการฯ ในวันพรุ่งนี้ 17 ม.ค. โดยหนึ่งในวาระการพิจารณา คือเรื่องรายงานการปฏิรูปประเทศและรายงานจากสถาบันพระปกเกล้า เรื่องการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมทั้งประเด็นการแก้มาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี มาตรา 159 เรื่องคุณสมบัติของนายกฯต้องมาจาก ส.ส. และมาตรา 272 เกี่ยวกับยกเลิก ส.ว. ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องการแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่ม โดยย้ำว่า ที่ประชุมจะศึกษาทุกประเด็นอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา
เสรี ย้ำว่า ประเด็นในการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้เจาะจงหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่เป็นเพียงประเด็นการศึกษา และนำสู่สาธารณะเพื่อแสดงความเห็นการวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองและประชาชน โดยจะยังไม่ได้มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญในเวลานี้ และเห็นว่ากระบวนการแก้ไม่ได้ดำเนินการได้โดยง่าย เพราะมีขั้นตอนตามที่เงื่อนไขกำหนดไว้ ทั้งเสียงวุฒิสภาเห็นชอบ 1 ใน 3 รวมถึงเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 20%
เสรี กล่าวต่อไปว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นแก้ยาก และหากต้องการแก้ให้สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องหันหน้าพูดคุยกัน ตกลงกัน สร้างความสามัคคีปรองดองในมวลหมู่การเมืองและประชาชน เพราะไม่สามารถที่จะเสนอเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และการเสนอต้องมีความตั้งใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หากมีการพูดจาเสียดสี ด่าทอ ให้ร้าย หรือเอาแต่ประโยชน์ของพรรคการเมืองตัวเองก็คือการทะเลาะกัน จะไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลยแม้ประเด็นเดียว
"ในกระบวนการของการจะแก้ให้เป็นประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเกิดเป็นประเด็นนี้ขึ้นมา ก็เป็นที่สนใจและวิพากษ์วิจารณ์ แต่เรียนด้วยความเคารพ ไม่ได้เสนอเพื่อจะแก้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียว และก็ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่รู้พรรคไหนจะได้เสียง ส.ส. จำนวนเท่าไหร่" เสรี กล่าว
เสรี ยังเชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ คุณสมบัตินายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ตามร่างฯ ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน และเชื่อว่า ข้อเสนอนั้นเป็นประเด็นเป้าหมายสำหรับการหาเสียงของพรรคการเมือง สร้างความด่างพร้อยให้วุฒิสภา สร้างปัญหาให้รัฐบาล
อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นสิทธิของแต่ละพรรคการเมือง หากจะนำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญแก้วาระ 8 ปีนายกฯ เป็นนโยบายหาเสียง เพราะสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก เพราะก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แม้นโยบายหาเสียงค่าแรง 600 บาท ทำได้ในปี 2570 ก็ยังนำมาเสียงได้ อยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละพรรค และไม่ห่วงว่า ส.ว.จะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งกลยุทธ์หาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ทำตามหน้าที่ และทุกพรรคการเมืองก็จะได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประโยชน์คนเดียว เพราะหาก แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้เป็นนายกฯ ก็สามารถที่จะดำรงตำแหน่งได้ยาวเช่นกัน
"เลือกตั้งครั้งหน้ายังไม่รู้เลยว่าพรรคไหนจะได้เท่าไหร่ พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ ส.ส. กี่คนก็ไม่รู้ จะไปกังวลทำไม ถ้ากังวลเท่ากับว่ากลัว หรือคิดว่าจะเป็นฝ่ายค้านไปตลอดหรือ" เสรี กล่าว
เสรี ยังกล่าวถึงหลักการแก้วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี กำหนดไว้เพื่ออะไร ซึ่งหลักก็คือเพื่อไม่ให้เป็นนานเกินไป แต่เมื่อผ่านมาแล้วบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 ก็เห็นปัญหาว่าการกำหนดเช่นนี้ หากมีคนดี มีความสามารถ มีความรู้ และสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ ก็ถูกจำกัดสิทธิ ประเด็นนี้จึงเห็นว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
เสรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า ส.ว. มีการแบ่งเป็นฝั่งเลือกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเลือกสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
เสรี ยอมรับว่า ส.ว. มีการแบ่งเป็น 2 ฝั่งจริง และยอมรับตามสภาพว่า ส.ว.ชุดนี้มาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใน คสช. มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน เพราะฉะนั้น การเสนอชื่อเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากคนคนเดียว ซึ่งขณะนี้อาจมีแนวทางความเห็นหลายกลุ่ม หลายพวก แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุด จะมีเสียงแตกออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งโดยรวมส่วนใหญ่วุฒิสภาจะต้องเอาประเทศ เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การที่จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ว. ซึ่งมีวาระ 5 ปี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมาทำหน้าที่นี้
ดังนั้น ต้องมีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ หากเสนอคนดีเข้ามาก็ต้องสนับสนุน แต่หากดูแล้วมีปัญหาสร้างความแตกแยก อยู่ในกลุ่มทุจริตคอรัปชั่น เล่นการเมือง ไม่ได้เห็นผลประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจ พร้อมย้ำว่าส่วนใหญ่เสียง ส.ว.จะเป็นไปในทางทิศทางเดียวกัน
สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการแข่งกัน ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร หรือไม่นั้น เสรี กล่าวว่า เมื่อเป็นพรรค แยกกันแล้ว อย่างไรก็แข่งกันทำงานทั้งนั้น แต่เวลาแข่งกันแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าสามารถที่จะเอาฝ่ายการเมืองของแต่ละพื้นที่มาอยู่ที่พรรคตนเองได้มากน้อยแค่ไหน
“คนเก่งอย่างไร คนดีอย่างไร ถ้าไม่มีหัวคะแนน ไม่มีพรรคไม่มีพวก ไม่เคยสร้างคุณงามความดีมาก่อน ก็ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ เมื่อแยกกันเดินแล้ว แต่ละคนก็ต้องหาคนที่มีคะแนนเสียงมาอยู่กับพรรคของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่ามากน้อยแค่ไหน และวิธีไหน และนั่นคือคำตอบว่าพรรคไหนได้คะแนนมากแค่ไหน”
เสรี ชี้ว่า บางพรรคการเมืองมีนโยบายดี ประชาชนสนใจ ก็จะได้คะแนน แต่หากเสนอประเด็นเอาแต่สร้างความแตกแยก ปฏิรูปสถาบัน โดยไม่ได้ดูว่าวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้คะแนนเสียงจากประชาชน แต่ละพรรคการเมืองจึงต้องมีกลยุทธ์และทิศทางของตนเอง เพื่อซื้อใจ ซื้อเสียงของประชาชนด้วยผลงานและนโยบายของตนเอง
เสรี ยังเผยว่า จากการที่ ส.ว. ลงไปสังเกตการณ์ การเลือกตั้งซ่อมแต่ละครั้ง มีการใช้เงินจำนวนมาก แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐาน ประชาชนก็ไม่กล้าไปเป็นพยาน มองว่ามีโอกาสสูงที่จะใช้เงินในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปดูกฎหมายว่าจะทำอย่างไร
“ไปๆ มาๆ คนที่กล้าซื้อเสียง กล้าทำผิดกฏหมาย สุดท้ายชนะทุกที ต้องกลับมาดูกฎหมาย เพราะกฎหมายผิดทั้งคนให้และคนรับ จึงไม่มีใครกล้าแสดงตัวออกมาเป็นพยาน”
เสรี เสนอว่า ผู้ที่ซื้อเสียงถือว่าผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่รับเงินถือว่าไม่ผิดกฎหมาย จึงจะทำให้มีหลักฐานเอาผิดคนที่ซื้อเสียงได้ แต่ยังไม่มีใครกล้าทำ เพราะมองว่าเมืองไทยเก่งที่สร้างกลไกในการเอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้