ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อให้ คทช. จัดระเบียบที่ดินทำกินตามนโยบาย โดยที่ผ่านมาแนวทางของ คทช. ขัดต่อรูปแบบการรับรองสิทธิชุมชน จนชาวกะเหรี่ยงในหลายพื้นที่ ออกมายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมป่าไม้ และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อคัดค้านเนื่องจากทำให้ชุมชนสูญเสียสิทธิและกลายเป็นผู้บุกรุก

8 ต.ค. 2566 ผศ.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมเชิญนักกฎหมายมาพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวกะเหรี่ยง อ.แม่วาง และ อ.แม่แจ่ม ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องความเข้าใจในสิทธิที่ดินทำกิน กับ คทช. หลังจากมีการลงพื้นที่ไปในชุมชนและพบว่ามีเจ้าหน้าที่เอาเอกสารคล้ายหนังสือรับรองให้ชาวบ้านเซ็น สร้างความสับสนและทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

“เราได้ไปทำงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ PM2.5 มุ่งเป้าไปที่การตรวจวัดคุณภาพฝุ่นควัน มีคนบอกว่าคนบนดอยเป็นต้นเหตุของฝุ่นควัน ปีแรกที่ไปทำวิจัยเราก็ได้อธิบายว่า คนบนดอยมีภูมิปัญญาในการเผาไร่ที่มีการควบคุม ทำแนวกันไฟ ดูทิศทางลม ช่วงเวลา แยกแยะระหว่างไฟป่ากับการเผาไร่ แต่พอรัฐเข้ามากำหนด 60 วันอันตรายห้ามเผา ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวของเรา ความจริงก็เป็นการทำเกษตรหมุนเวียน ทำการเกษตรแล้วดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมกับมีรายได้ ไปเก็บข้อมูลมา 4 หมู่บ้าน ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งทำไร่หมุนเวียนเหลืออยู่ 5 หลัง ชาวบ้านไม่ได้ปลูกข้าวโพด แต่ปลูกไม้ดอก เป็นพื้นที่ของโครงการหลวงบ้าง ที่บ้านเฮาะ ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม ปลูกข้าวโพดทำไร่หมุนเวียน แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาไปตรวจแล้วเจอสารเคมีเยอะ ชาวบ้านก็อยากจะเปลี่ยน และอีกหมู่บ้านคือดาราอั้ง เป็นกลุ่มที่อพยพมาใหม่ เดิมปลูกข้าวโพดแต่ตอนหลังหันมาปลูกไม้ยืนต้น ลำไย น้อยหน่า มีโฮมสเตย์” ผศ.ดร.มาลี กล่าว

อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ฯ มช. กล่าวอีกว่า กระทั่งวันหนึ่งชาวบ้านมาบอกว่ามี คทช.เข้ามานำเอกสารมาให้เซ็นชื่อ ในขณะที่ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ ถ้าชาวบ้านไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินหรือมีข้อถกเถียงแบบนี้ เศรษฐกิจสีเขียวจะเกิดขึ้นมาอย่างไร เราก็เลยถือโอกาสนี้จัดประชุมให้กับชาวบ้าน วันที่ 10 ตุลาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 08.30น. ที่ห้องประชุม ศูนย์ศึกษาพัฒนา เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านก็ไม่รู้ข้อมูล คทช. ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในพื้นที่ที่เราไปทำวิจัย อ.แม่แจ่ม มีการปลูกข้าวโพดทั้งอำเภอเยอะมาก เป็นพื้นที่เป้าหมายให้ทำ คทช. แต่ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ 

“ชาวบ้านที่ห้วยอีค่างก็ไปเซ็นรับรองที่ดินหรืออะไรสักอย่าง ซึ่งก็เซ็นไปแล้วโดยที่ไม่รู้ว่าเซ็นอะไร ไม่ได้อ่านด้วย เมื่อเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วมาเจออำนาจรัฐแบบนี้อีก ชาวบ้านก็งงไม่รู้จะไปอย่างไร เราก็เลยจัดเวทีให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ได้ฟังจากทนายแย้-นายสุมิตรชัย หัตถสาร และ กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายก อบต.แม่ทา จ.ลำพูน มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เราก็อยากให้เขาได้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้วไปตัดสินใจ ว่าเขาจะเอาหรือไม่เอา กำหนดท่าทีอย่างไร ที่ชาวบ้านเอามาให้ดูเหมือนมีใบรับรอง และข้อมูลที่ดินโดยให้ชาวบ้านเซ็นชื่อว่าเป็นความจริงทุกประการ ที่ชาวบ้านเซ็นเพราะเจ้าหน้าที่เอามาให้เซ็นบอกว่ามันจะหมดเวลาแล้ว ชาวบ้านก็กลัวว่าถ้าไม่เซ็นจะไม่ได้สิทธิหรือเปล่า เลยเซ็นภายใต้ข้อมูลไม่พร้อม เจ้าหน้าที่รัฐเป็นแบบนี้ตลอด ไม่ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ให้เวลาได้คิด รัฐก็คงกลัวเพราะมันเป็นนโยบายมาแล้ว“ ผศ.ดร.มาลี กล่าว

ในขณะที่พฤ โอโดเชา นักกิจกรรมชาวปกากะญอ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบายจัดการที่ดิน ของ คทช. ตอนนี้ปัญหาคือชาวบ้านไม่รู้ขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาทำเป็นอย่างไร 

“พอเขามาลงพื้นที่เอกสารของเราทำไมเป็น 1 แล้วทำไมคนนี้เป็น 2 ทำไมคนนี้มาอยู่ก่อนแล้วเอกสารบอกว่ามาอยู่หลัง เขาแปลกอะไร อย่างไรจากเดิม เราก็นึกว่าเขาจะเอาที่ชาวบ้านออกจากเขตป่าแล้วให้ชาวบ้านทำกิน ไม่ต้องกังวลอะไรถูกกฎหมายทุกอย่าง ใช้ชีวิตหรือปลูกไร่หมุนเวียนก็ได้ เขาจะได้แก้ปัญหาให้เราสักที พอชาวบ้านไปเซ็น เราก็ไม่เลยรู้ว่าเขาแบ่งเป็นสีๆ เซ็นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร บางข้อบอกว่าถ้าเซ็นแล้วต้องรับรองข้อมูลทั้งหมดแล้วยอมรับกติกาของกรมป่าไม้หรือ คทช.ทั้งหมด” ตัวแทนชาวบ้านป่าคาใน อ.สะเมิง กล่าว

พฤ กล่าวด้วยว่า มีบางคนบอกว่าถ้าไม่อยู่ในเขตป่าเป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน คือ คทช. แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ป่า ขึ้นอยู่กับกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะแก้กฎหมายในป่าต้องทำตามแนวของกรมป่าไม้หรืออุทยานฯ

“ก็เลยใช้กฎหมายเดิมๆที่เป็นปัญหากับชาวบ้านมาเป็นเกณฑ์ยัดเข้าไปในกระบวนการแก้ไขปัญหาของ คทช. เพราะฉะนั้น กฎหมาย คทช. ที่ออกมาโดยรัฐบาลประยุทธ์ ก็คือกฎหมายปกติชองกรมป่าไม้ นี่ความเข้าใจของผมนะนอกจากนี้ ยังมีคนบอกชาวบ้านอีกว่า ถ้าเอาที่ดินไปเข้า คทช. จะสามารถทำถนนได้ พัฒนาแหล่งน้ำได้ เจ้าหน้าที่ไม่มาจับกุม อีกทั้งของบประมาณจากรัฐได้ พอเราเข้าไปดูปรากฎว่าแปลงที่ได้นั้นมีนิดเดียว ทำไมแปลงนี้เป็นสีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู แล้วเราถามชาวบ้านก็ไม่รู้ ถามต่ออีกว่าแล้วมาเซ็นชื่อทำไม เขาบอกว่าก็ อบต.บอกให้เซ็นก็เซ็น” พฤ กล่าว

แกนนำเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ กล่าวอีกว่า การแบ่งแยกประเภทที่ดินของชาวบ้านด้วยการใช้สีต่างๆ มีระเบียบและเงื่อนไขในการใช้ที่ดินไม่เหมือนกัน แต่ละประเภทที่เรายังหาไม่เจอคือระเบียบการใช้ที่ดินและเงื่อนไขของแปลงสีประเภทนั้นๆ อันนี้ชาวบ้านไม่รู้ แล้วสิทธิในที่ดินเป็นของใคร ระเบียบเงื่อนไขเขากำหนดหมดแล้วไม่ได้บอกว่าทำไร่หมุนเวียนได้ยังมีกฎหมายป่าสงวน อุทยานฯ มีกฎหมายลุ่มน้ำ คำสั่ง คสช. แล้วมีมติ ครม.อีก ชาวบ้านงง พอเซ็นไปแล้วก็เริ่มกลัว” ชาวปกากะญอ อ.สะเมิง กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ศึกษาชาติพันธ์ มช. จะจัดสัมมนา “เศรษฐกิจสีเขียว ที่ดิน และนโยบายรัฐ” ในวันอังคารที่ 10 ต.ค. 2566 เวลาตั้งแต่ 9.00-15.00น. ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มช. โดยกิจกรรมจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงเช้า นำเสนอ เศรษฐกิจสีเขียวในชุมชนชาติพันธุ์ ปัญหาและอุปสรรค กรณีบ้านห้วยอีค่าง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โดย หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง และทีมวิจัยบ้านห้วยอีค่าง นอกจากนี้ยังมีกรณีบ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โดย ศิวกร โอ่โดเชา และทีมวิจัยบ้านหนองเต่า และกรณีบ้านแม่จอน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดย จ๋าม คำเหลือง และทีมวิจัยบ้านแม่จอน กรณีบ้านเฮาะ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดย อินจัน ศักดิ์โชติธิติกุล และทีมวิจัยบ้านเฮาะ

ส่วนในภาคบ่ายนั้น จะเป็นการให้ความรู้กับชาวบ้าน หัวข้อสัมมนา “คทช. กับ สิทธิที่ดินทำกิน” โดย สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น , กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา และ พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนชาวบ้านป่าคาใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ดำเนินรายการ โดย ผศ.ดร.มาลี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ