ไม่พบผลการค้นหา
"ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม" รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กสงสัย ใครเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน"คดีเปรมชัย" ย้อนถามถ้า"พล.ต.อ.ศรีวราห์" ไม่ใช่พนักงานสอบสวน แล้วเข้าไปทำอะไร ขณะผบ.ตร.ยืนยันยังไม่พบพิรุธการทำคดี

จากที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามานำทีมในการดำเนินคดี กับนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่นำทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขออนุมัติหมายศาลเข้าตรวจค้นบ้านนายเปรมชัย ที่ซอยศูนย์วิจัย 3 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ จนมาสู่กรณีปรากฏภาพขณะไหว้นายเปรมชัยอย่างนอบน้อม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียล พร้อมมีการแชร์พร้อมติดแฮชแท็กไม่เอา "ศรีวราห์" กันอย่างครึกโครม

ล่าสุด นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความสงสัยเรื่องหน้าที่การดำเนินการสอบสวนคดีโดยตั้งข้อสงสัยว่า ใครเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ เนื่องจากผู้ที่จะทำความเห็นว่า "ควรสั่งฟ้อง" หรือ "ควรสั่งไม่ฟ้อง" ต้องเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 140 เนื่องจาก มาตรา 18 วรรคท้ายกำหนดว่า "ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน การดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้นหรือผู้รักษาการแทน" ดังนั้นหาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แล้วท่านเข้าไปทำอะไร

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การสอบสวน กับ การบังคับบัญชา นั้นแตกต่างกัน ซึ่ง"พนักงานสอบสวน" ต้องมีความเป็นอิสระพอสมควร และการเข้าไปสั่งมากเท่าใดประชาชนยิ่งสงสัยมากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรม






10-3-2561 11-10-45.jpg

ขณะที่เมื่อวานนี้ ( 9 มี.ค.61 ) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า ได้ติดตามดูคดีนี้อย่างใกล้ชิดซึ่งขณะนี้ยังไม่พบพิรุธในการทำงานของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ หากพบพิรุธต้องปรับหน���าที่และลงไปแก้ไขทันที ทั้งนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ไม่ได้ทำสำนวน เพียงแต่ควบคุมกำกับดูแล ไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวน เป็นผู้กำกับดูแลในส่วนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เท่านั้น

กรมอุทยานฯ โต้ศรีวราห์ไม่ได้ทำหลักฐานฆ่าเสือดำปนเปื้อน

ด้าน ดร.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Kanita Ouitavon” ชี้แจงรายละเอียดการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากวัตถุพยานคดีล่าสัตว์ป่า โดยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พล.ต.อ.ศรีวราห์ อ้างว่า มีการตรวจพบดีเอ็นเอเสือดำที่มีดพก มีดอีโต้ และเขียง แต่ไม่สามารถระบุดีเอ็นเอผู้ใช้ได้ เพราะกรมอุทยานฯ นำไปตรวจหาดีเอ็นเอเสือดำก่อน ทำให้ไม่พบดีเอ็นเอของผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย

โดย ดร.กณิตา ระบุว่า การให้ข้อมูลลักษณะดังกล่าว เป็นการให้ข้อมูลที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมดูแลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอสััตว์ป่าในคดีนี้ จึงขอชี้แจงดังนี้

 1.กรมอุทยานฯ โดยหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ได้รับตัวอย่างวัตถุพยาน ซึ่งมีมีด 6 เล่ม และชิ้นส่วนของเขียงรวมอยู่ด้วย จาก สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งมีการระบุว่า ได้ผ่านการตรวจลายนิ้วมือและดีเอ็นเอของมนุษย์จากตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานมาเรียบร้อยแล้ว ในนั้นมีอุจจาระที่ตรวจแล้วว่าเป็นดีเอ็นเอของ นายเปรมชัย แต่มีการแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการนำมาตรวจหาดีเอ็นเอสัตว์ป่าต่อ และต้องการให้หาว่ามีดีเอ็นเอของเสือดำอยู่ด้วยหรือไม่? โดยทางหน่วยฯได้รับตัวอย่างไว้ตรวจตามที่ร้องขอ จึงแสดงว่า กรมอุทยานฯ มิได้นำตัวอย่างวัตถุพยานดังกล่าวมาตรวจหาดีเอ็นเอเสือดำก่อนแต่อย่างใด แต่เป็นการตรวจตามที่ฝ่ายตำรวจร้องขอและเป็นผู้นำมาส่งให้ หลังจากที่ทางตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานได้ดำเนินการตรวจดีเอ็นเอของมนุษย์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว

 2.ในเนื้อข่าวที่ระบุว่า มีการปนเปื้อนจากสารเคมีที่เจ้าหน้าที่ กรมอุทยานฯ ใช้ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเสือดำตั้งแต่แรก ทำให้ตรวจดีเอ็นเอบุคคลไม่ได้ เพราะถูกทำลายไปแล้ว (อันนี้..เป็นคำกล่าวที่ตลกมากและไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดนะคะ คือไม่มีการใช้สารเคมีอะไรเลยค่ะ) ขอเรียนว่าทางหน่วยฯ ตรวจดีเอ็นเอจาก SWAB หรือก้านสำลีที่ทางตำรวจป้ายคราบเลือดมาให้เรียบร้อยแล้ว เพียงก้านเดียวก็พบดีเอ็นเอของเสือดำแล้ว ส่วนตัวมีดทั้ง 6 เล่ม ทางหน่วยฯเป็นผู้เก็บรักษาไว้ให้ (ตั้งแต่วันที่ได้รับมาคือวันที่ 16 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ส่งคืนคือวันนี้ 9 มีนาคม 2561) โดยที่มิได้มีการแตะต้องที่ด้ามมีด หรือตัวมีดแต่อย่่างใด อีกทั้งยังใส่ถุงมือเวลาทำงาน ดังนั้นลายนิ้วมือและดีเอ็นเอของมนุษย์ที่จะมีก่อนหน้านั้น จึงยังมิได้ถูกทำลายแต่อย่างใดค่ะ ซึ่งก็ได้ส่งคืนให้แล้วในวันนี้ ดังนั้นทางตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานก็สามารถนำไปตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 ได้อย่างแน่นอนค่ะ

“คดีนี้เป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจมาก ในท่ามกลางการสูญเสีย คือ ชีวิตที่กลับคืนมาไม่ได้ของเสือดำตัวนี้นั้น สิ่งที่เราได้กลับคืนมาอย่างเข้มแข็งในตอนนี้ คือ จิตสำนึกร่วมของประชาชนในการหวงแหนและอยากจะปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าที่ดูบอบบางของชาติให้คงอยู่ตลอดไป ในฐานะที่ดิฉันก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีจิตสำนึกร่วมนี้เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่คนตรวจดีเอ็นเอสัตว์ป่า ก็อยากจะเห็นความถูกต้อง ความยุติธรรม และการไม่บิดเบือนความจริงใดใด รวมทั้งก็อยากเห็นทุกท่านที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้แม้แต่น้อยนึงก็ตาม ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมา และบริสุทธิ์ใจ อยากเห็นทุกคนช่วยกันแสดงออกเพื่อเป็นปากเสียงให้กับสัตว์ป่าผู้น่าสงสารที่ต้องมาตาย เพราะถูกมนุษย์ใจร้ายล่าอย่างแท้จริงค่ะ...ได้โปรดช่วยกันเพื่อให้เสือดำตัวนี้ไม่ตายฟรีนะคะ” ดร.กณิตาระบุ

นอกจากนี้ ดร.กณิตา ยังได้โพสต์ข้อความตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงกรณีที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า มีดที่ตรวจพบดีเอ็นเอของเสือดำ อาจไม่ใช่อาวุธที่ใช้ชำแหละเสือดำได้ ว่า “ที่ท่านกล่าวว่ามีดพก 2 เล่ม (คงหมายถึงมีดเหน็บหรือมีดเดินป่า) ที่ทางแล็บนิติวิทยาศาสตร์ของกรมอุทยานฯ ตรวจพบดีเอ็นเอของเสือดำซึ่งเป็นเสือดำตัวเดียวกันแล้ว แต่ท่านคิดว่าไม่น่าจะใช่อาวุธที่ใช้ชำแหละเสือดำได้....ตรงนี้อ่านแล้วไม่ทราบและไม่เข้าใจจริงๆค่ะว่าท่านใช้หลักการใดในการสรุปเช่นนั้น? แล้วอะไรถึงจะใช้ชำแหละเสือดำได้คะ?

อย่างไรก็ตาม ก็ขอเป็นคนหนึ่งที่อยากรอฟังผลการตรวจพิสูจน์และคำชี้แจงจากตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานเช่นเดียวกับประชาชนท่านอื่นเหมือนกันค่ะ”

ขณะที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าหน่วยพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนเก็บหลักฐานวัตถุพยานที่ถูกต้องตามลำดับดังต่อไปนี้

1.นำไป ลง ประจำวันที่ สภ.อ. ทองผาภูมิ

2. จากนั้นพนักงานสอบสวนส่งไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานเข้าเก็บด้วยเพื่อนำผลมาเปรียบเทียบกัน

3. พนักงานสอบสวนจะส่งหลักฐานที่เก็บมาให้กรมอุทยานฯตรวจ และส่งไปที่ สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ภาค 7 ตรวจ

4 เมื่อส่ง ถึงหัวหน้าหน่วยนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าก็สามารถ นำตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ผลว่าเป็นดีเอ็นเอสัตว์ป่าชนิดใด และเป็นตัวเดียวกันหรือไม่

5 จากนั้นแจ้งผล รายงานผู้บังคับบัญชา ทราบ แล้วจึงส่งผลวิเคราะห์ไปยังหน่วยที่ส่งหลักฐานมาคือ พนักงานสอบสวน หรือ พิสูจน์หลักฐาน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ยืนยัน ว่าไม่มีการทำลายหลักฐาน ใดๆ ทั้งสิ้น

โดยหัวหน้าชุดพญาเสือ กล่าวอีกว่า ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ให้ทำสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ใช้กฎหมาย จะต้องใช้อย่างเป็นธรรม

เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนแล้ว ประชาชน จะเข้าใจ ทั้งเหตุและผล ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานอย่าย่อท้อ ต่อปัญหาอุปสรรคและต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น

ปปป.เผยมั่นใจพยานหลักฐานเอาผิดเปรมชัยคดีติดสินบน

จากกรณี นายวิเชียร ชิณวงษ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกซึ่งได้แจ้งความลงบันทึกประจำวันที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กล่าวหานายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการปล่อยตัว 

พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดและประพฤติมิชอบ หรือ ผบก.ปปป. เปิดเผยว่า จากการสอบปากคำ นายวิเชียร มีพยานหลักฐานเพียงพอดำเนินคดีกับนายเปรมชัยและพวก ในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ และออกหมายเรียกได้พนักงานสอบสวนเรียกให้มารับทราบข้อหาในวันที่ 14 มีนาคมนี้

อย่างไรก็ตาม นายเปรมชัย สามารถเดินทางมาก่อนได้ โดยในวันที่ 12 มีนาคมนี้ คณะพนักงานสอบสวนจะประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อทำสำนวนให้ชัดเจนรอบคอบรัดกุมที่สุด ก่อนสรุปให้พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมต่อไป

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

-จ่อเอาผิดเมีย 'เปรมชัย' ครอบครองงาช้างผิดกฎหมาย

-ไทม์ไลน์คดีเปรมชัย ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่

-'เปรมชัย' พบพนักงานสอบสวน ก่อนครบกำหนดหมายเรียก

-'ศรีวราห์' คาดส่งฟ้องอัยการ 26 มี.ค. เอาผิดกลุ่มเปรมชัย