ไม่พบผลการค้นหา
​ชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย จ.เชียงราย ประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม ยืนยันสิทธิจัดการที่ดิน ทรัพยากรตามวิถีชนเผ่า ด้านหน่วยงานและภาคประชาชนเห็นพ้อง ยุติแผนประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับที่ชุมชน ลงนามความร่วมมือส่งเสริม-คุ้มครองวิถีชาวกะเหรี่ยง

วันที่ 29 ธ.ค. 2565 เพจเฟสบุ๊ก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เผยแพร่ข้อความระบุว่า วันที่ ​27 ธ.ค. 2565 ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย หมู่ที่ 11 ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) องค์การบริหารส่วนตำบลสันสลี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย เพื่อร่วมกันจัดทำแผนการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม ทั้งแผนการคุ้มครองวัฒนธรรม แผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิต หลังจากชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย ต้องเผชิญปัญหาการละเมิดสิทธิด้านการจัดการที่ดินป่าไม้มากว่า 30 ปี

กะเหรี่ยง321907989_727173862134635_1542317190879325033_n.jpg

ลงนามบันทึกข้อตกลงส่งเสริม-คุ้มครองวิถีกะเหรี่ยง

​ในเวลาประมาณ 11.00 น. ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เขตพื้นที่วัฒนธรรมบ้านห้วยไร่ ห้วยงู และแม่ปูนน้อย ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ระหว่างนายอำเภอเวียงป่าเป้า, ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย), วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย, หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท, นายกองค์การบริหารส่วยตำบลสันสลี, ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.สันสลี, ตัวแทนชุมชนบ้านห้วยไร่, ตัวแทนชุมชนบ้านห้วยงู, ตัวแทนชุมชนบ้านแม่หูนน้อย, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยมีเนื้อหาความร่วมมือ ดังนี้

1. ส่งเสริมสิทธิการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายและสนับสนุนในการจัดการ บำรุงรักษา อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามหลักจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชน โดยยึดหลักปฏิบัติตามแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553

2. ส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เร่งรัดแก้ไขปัญหาในพื้นที่และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรม

3. สนับสนุนการสืบทอดวิถีวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งสร้างกลไกขับเคลื่อนการทำงานในเขตพื้นที่วัฒนธรรม ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในวิถีวัฒนธรรม ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน

กะเหรี่ยง322120804_694412178842230_8464107406427310354_n.jpg

อพยพคนออกจากป่า-ทวงคืนผืนป่า สู่พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม

บ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 11 ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนตั้งแต่ปี 2442 ก่อนจะถูกประกาศพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผ่านหลัง จนในปี 2534 หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เกิดโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) หรือที่ภาคประชาชนเรียกกันว่า “นโยบายอพยพคนออกจากป่า” ทำไปสู่การเร่งรัดสำรวจและเร่งรัดประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเขตป่าเป็นอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือชุมชนบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย ทำให้ชุมชนเข้าร่วมการต่อสู้กับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) เพื่อต่อสู้กับแผนอพยพดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 และร่วมผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชนของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายร่วมกับเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือในปี 2542 ก่อนจะถูกสมาชิกวุฒิสภาปัดตกในปี 2545 และพยายามผลักดันกฎหมายของหน่วยงานเองที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชน นั่นคือการไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์

น้อย นุแฮ ชาวบ้านห้วยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ในปี 2547 ชุมชนจึงได้ร่วมกับ คกน. อีกครั้ง จัดกิจกรรม “เดินธรรมชาติยาตรา” จาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้หยุด พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับดังกล่าวที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จนสามารถคัดค้านได้สำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายชาติพันธุ์ทั่วประเทศผลักดันจนเกิดแนวนโยบายสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ โฉนดชุมชน จนมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 มีพื้นที่นำร่อง 486 ชุมชน รวมถึงบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อยด้วย และยังมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รองรับรูปแบบการจัดการพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษหรือพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อหนุนเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง และเป็นแนวนโยบายเพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. จึงได้มีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือ “ทวงคืนผืนป่า” ประกอบกับแผนแม่บทก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐ. และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557 ที่กำหนดว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ โดยจำแนกเป็นป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ และป่าเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สถานการณ์ในชุมชนบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย เริ่มตึงเครียดอีกครั้ง ในได้มีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท ในปี 2560 และมีแผนจะผนวกพื้นที่เพิ่มเติมทับซ้อนกับพื้นที่ของชุมชนอีกหลายพันไร่ รวมถึงการกลับมาอีกครั้งของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่ไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2562 ทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง

ชุมชนจึงได้ร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เดินหน้าเจรจาในระดับนโยบายกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ และยังได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรมในการผลักดันพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม และผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จนสามารถประกาศให้ชุมชนเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมได้ในที่สุด

“ผมสู้มา 30 ปี ตั้งแต่หนุ่มยันแก่ ผมคิดว่ารัฐไม่ได้เปลี่ยนเลย สุดท้ายก็หาทางจะมาคุกคามเราตลอด ออกกฎหมายมาชาวบ้านก็อ่านไม่ออก ไม่เข้าใจ ตามไม่ทัน วันนี้ผมรู้ว่าประกาศพื้นที่คุ้มครองได้แล้ว เอาเขตห้ามล่าฯ ออกได้แล้วก็เป็นชัยชนะส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ทั้งหมด สุดท้ายในอนาคตเราจะเจออีก ผมบอกลูกหลานเสมอว่ามันจะเจออีก แต่ยังไงวันนี้ก็ยังดีใจที่ยังได้ทำอะไรไว้ให้ลูกหลาน คือการเอาเขตห้ามล่าฯ ออกไปได้” ชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยงูย้ำ

กะเหรี่ยง321947834_727090888569847_3535395921199549335_n.jpg

เห็นพ้องยุติประกาศเขตห้ามล่าฯ ทับชุมชน

​ในช่วงบ่าย มีการจัดเวทีเสวนาว่าด้วยบทเรียนการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม โดยมีตัวแทนชาวกะเหรี่ยงในแต่ละพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมในการเสวนา โดยประเด็นสำคัญคือแนวทางของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ ว่าจะหันหน้าร่วมมือกับชุมชนในการดูแลจัดการป่าอย่างไร มากกว่าการยืนยันใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่จะสร้างแต่ความขัดแย้งไม่รู้จบ

​ณรงค์ฤทธิ์ คำลือ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท ยืนยันว่ากฎหมายมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 นั้น มีช่องทางให้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ตามภูมิปัญญา โดยทางเขตห้ามล่าฯ ก็ต้องการองค์ความรู้ของชาวบ้านในการจัดการพื้นที่เพื่อนำไปจัดทำเป็นแผนจัดการพื้นที่ด้วยเช่นกัน แต่พื้นที่ประมาณ 5,030 ไร่ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท มีแผนประกาศผนวกเพิ่มเติมทับชุมชนบ้านห้วยไร่ ห้วยงู และแม่ปูนน้อยนั้น ตนขอยืนยันกับชาวบ้านว่าจะไม่มีการประกาศพื้นที่ตรงนี้เพิ่มเติมอีก

​สมเกียรติ ปูกา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ย้ำว่า พื้นที่ทั้ง 5 พันกว่าไร่นั้นให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการตามหลักจารีตประเพณีได้

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เล่าถึงการต่อสู้และความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่มาอย่างยาวนานหลังมีแผนการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับพื้นที่ โดยชี้ว่า อุทยานฯ ไม่เข้าใจวิถีการจัดการของชาวบ้านที่เรียกว่าพื้นที่จิตวิญญาณ แต่ยืนยันจะใช้แต่กฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็ขาดการมีส่วนร่วมมาโดยตลอด จึงเรียกร้องว่า หากยกเลิกแผนการผนวกพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท แล้ว ก็ขอให้มีการทำเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

​ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า ทั้ง 3 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านห้วยไร่ ห้วยงู แม่ปูนน้อย พิสูจน์แล้วว่าสามารถบริหารจัดการป่าได้ดีมาก จึงทำให้มีเหตุผลที่สมควรว่าทำไมเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท จึงไม่จำเป็นต้องประกาศพื้นที่ทับชุมชน และตนขอเสนอให้ยุบกรมป่าไม้หากไม่มีความจำเป็น ให้คงเหลือเพียงกรมอุทยานฯ ก็ได้ แล้วให้มีการประกาศอุทยานชุมชน ให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของตนเองได้เอง

​ด้าน เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เห็นว่า ที่ผ่านมากฎหมายจากรัฐจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ก็ยังไม่ให้มีการจัดตั้งชุมชนได้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ เพราะป่าชุมชน หากชุมชนจัดการเองได้ ก็ควรจะให้ชุมชนจัดการได้ในทุกประเภทป่า โดยหลังจากนี้ในพื้นที่นี้ควรจะให้มีการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน และควรร่วมกันพัฒนามูลค่าจากป่าชุมชนต่อไป หากสามารถทำได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีกรมป่าไม้ เพราะการจัดการร่วมได้เกิดขึ้นแล้ว