นับตั้งแต่เวลาประมาณ 12.00 น.วันที่ 13 มี.ค.2562 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ เป็นต้นมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กในหลายประเทศแถบอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ได้รับผลกระทบจากกรณีเฟซบุ๊กขัดข้อง ไม่สามารถแสดงผลข้อมูลที่อัปเดตได้ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับแอปพลิเคชันอื่นๆ ในเครือเฟซบุ๊กด้วยเช่นกัน ทั้งอินสตาแกรม (IG) วอทซ์แอป เฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ รวมถึงแอปพลิชันอื่นๆ ที่ผู้ใช้เชื่อมโยงการใช้งานบัญชีเข้ากับเฟซบุ๊ก เช่น แอปพลิเคชันช็อปปิงออนไลน์
บัญชีทวิตเตอร์ของเฟซบุ๊กได้เผยแพร่ข้อความชี้แจงว่า ทางเฟซบุ๊กตระหนักถึงปัญหาที่ผู้ใช้งานกำลังประสบอยู่ และกำลังเร่งดำเนินการแก้ไข แต่ย้ำว่า "ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับการโจมตีแบบ DDoS"
ทั้งนี้ การโจมตีแบบ DDos หรือ Distributed Denial of Service คือ รูปแบบการโจมตีที่เฉพาะเจาะจงเพื่อทำให้เว็บไซต์หลายๆ อันเกิดภาวะใช้งานไม่ได้
ก่อนที่เฟซบุ๊กจะระบบล่มได้ไม่นาน บริษัทกูเกิล เสิร์ชเอ็นจินรายใหญ่ของโลก ประสบเหตุระบบล่มเช่นกัน ทำให้จีเมล กูเกิลไดรฟ์ และกูเกิลแมป ไม่สามารถใช้งานได้หลายชั่วโมง แม้ขณะนี้ระบบของกูเกิลจะกลับมาใช้การได้ตามปกติแล้ว แต่ยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดของปัญหาและสาเหตุที่เกิดขึ้น
นิตยสารฟอร์บส์รายงานว่าเฟซบุ๊กเคยประสบปัญหาระบบล่มทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง โดยเมื่อปี 2558 เกิดปัญหาดังกล่าวหลังจากเฟซบุ๊กปรับเปลี่ยนระบบอัลกอริทึมประมวลข้อมูลเพื่อการแสดงผลในหน้าฟีดแบบใหม่ แต่ครั้งนั้นใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง ระบบก็สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
ขณะที่ปี 2553 เฟซบุ๊กขัดข้อง เพราะข้อมูลเบื้องหลังที่ระบบปฏิบัติการเก็บเอาไว้ มีจำนวน 'มากจนล้นเกิน' ทำให้ระบบล่มประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ใช้งานจำนวนมากทวิตข้อความร้องเรียนว่า ไม่สามารถใช้งานเฟซบุ๊กมานานกว่า 9 ชั่วโมง และผู้ใช้หลายรายระบุว่า ใช้เฟซบุ๊กและเครือข่ายอื่นๆ ในการประกอบธุรกิจ กรณีที่ระบบล่มเป็นเวลานานๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง @BenjaminNorton ระบุว่า การที่คนทั่วโลกนับพันล้านคนไม่อาจติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงและครอบครัวได้เพราะ เฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ และวอทซ์แอป ระบบล่มพร้อมกัน เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ควรปล่อยให้เฟซบุ๊ก 'ผูกขาด' บริการด้านเครือข่ายสังคมออนไลน์เพียงเจ้าเดียว
ส่วนกรณีของประเทศไทย มีผู้ได้รับผลกระทบจากเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมล่มเช่นกัน ทำให้แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ติดเทรนด์ยอดนิยมในเครือข่ายทวิตเตอร์ช่วงเช้าวันนี้ โดย #ไอจีล่ม เป็นเทรนด์ทวีตเตอร์อันดับหนึ่งอยู่ช่วงหนึ่ง ตามด้วย #เฟสบุ๊คล่ม อันดับ 2 #FacebookDown อันดับ 3 #instagramdown อันดับ 4 และ #facebookล่ม อันดับ 5
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: