ไม่พบผลการค้นหา
เฟซบุ๊กเชื่อม 3 แอป เพื่อความสะดวกของผู้ใช้งาน ท่ามกลางความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว

การควบรวมกันครั้งนี้มีแนวคิดเพื่อให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสกับ "ประสบการณ์ที่ดีที่สุด" โดยทั้ง 3 แอปพลิเคชันจะยังแยกกันอย่างชัดเจนสำหรับผู้ใช้ แต่โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการส่งข้อความจะเชื่อมโยงกัน

แม้การเปลี่ยนแปลงภายนอกจะมีไม่มาก แต่การเดินหน้าครังนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานอย่างแน่นอน อาทิเช่น การโฆษณาของเฟซบุ๊กที่จะเจาะตลาดผู้ใช้งานอย่างตรงจุดมากขึ้นจากข้อมูลการใช้งานที่ได้จากทั้ง 3 แอปพลิเคชัน

ตัวแทนของเฟซบุ๊กออกมาแถลงว่า การรวมกันครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการใช้งานการส่งข้อความที่จะสะดวก รวดเร็ว ง่าย เชื่อถือได้ และเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ข้อมูลออกมาแสดงความกังวลต่อการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน

"เราทำงานบนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการส่งข้อความให้ง่ายขึ้นในการเชื่อมต่อกับเพื่อนและครอบครัวทั่วโครงข่าย" เฟซบุ๊ก กล่าว

เจสซิกา ลิว นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทวิจัยฟอร์เรสเตอร์ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แทบไม่มีผลอะไรกับผู้ใช้งาน

"ฉันมั่นใจว่าผู้ใช้งานคงไม่ทันสังเกตุหรือคิดมาก เพราะทุกวันนี้คุณก็ได้รับการแนะนำเพื่อนจากเฟซบุ๊กในอินสตาแกรมอยู่แล้ว และคุณก็ถูกบังคับให้ไปใช้แอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์ถ้าจะคุยแบบส่วนตัวอยู่ดี" ลิว กล่าว

การควบรวม

เฟซบุ๊กเข้ามาเป็นเจ้าของอินสตาแกรมในปี 2555 ด้วยมูลค่าการซื้อกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.15 หมื่นล้านบาท ก่อนจะเข้าซื้อวอตส์แอปป์ ในมูลค่า 1.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.08 แสนล้านบาท ในปี 2557

แอปพลิเคชันทั้งสองมีการเติบโตที่รวดเร็วหลังจากมาอยู่ภายใต้กิจการของเฟซบุ๊ก โดยอินสตาแกรมมียอดผู้ใช้งานประจำประมาณ 1 พันล้านบัญชี ในขณะที่มีผู้ใช้งานวอตส์แอปป์ ประมาณ 1.5 พันล้านบัญชี แม้ว่าเหล่าผู้คิดค้นแอปพลิเคชันทั้งสองจะออกจากเฟสบุ๊กไปแล้วก็ตาม

ประเด็นอ่อนไหวที่สุดสำหรับการควบรวมทั้ง 3 แอปพลิเคชัน หนีไม่พ้นเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ วอตส์แอปป์ ที่แต่เดิมไม่ต้องมีการระบุตัวตน

อ้างอิง; CNN, The Independent