ไม่พบผลการค้นหา
นับจากเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ครั้งประวัติศาสตร์ของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา คล้อยหลังเพียง 1 สัปดาห์ สถานการณ์ทางการเมืองของพรรค ทษช. กลับต้องพลิกผันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือทันที

เมื่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 14 ก.พ. 2562 มีมติรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้วินิจฉัยยุบพรรค ทษช. จากการเสนอพระนาม "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่าย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

14 คณะกรรมการบริหารพรรค ทษช. นำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ห้วหน้าพรรค กำลังเดินหน้าสู่ลานประหารทางการเมือง เพราะบทลงโทษคือ เพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคตลอดชีวิต ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคท้าย ประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มาตรา 98 (5) 

ก่อนจะไปถึงวันชี้ขาด ‘วอยซ์ ออนไลน์’ สรุปความน่าจะเป็น 3 รูปแบบที่จะเกิดขึ้น ตามกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนอกจากผลทางกฎหมายแล้วยังส่งผลต่อทิศทางการเมืองต่อการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. ดังนี้ 

แนวทาง 1 ยกคำร้อง ผลที่เกิด คือ พรรค ทษช.ไม่ถูกยุบ ทำให้ ทษช.ยังเป็นพรรคการเมืองตามสถานะทางกฎหมาย ส่วนผลทางการเมืองจะได้รับผลกระทบคือ ไม่มีบัญชีนายกฯ ไว้เสนอให้สมาชิกรัฐสภาลงมติ แต่ภาพรวมของยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" จะยังอยู่ในศึกเลือกตั้งครั้งสำคัญในรอบ 8 ปี ที่ถูกขีดเส้นแบ่งเป็นการเผชิญหน้าของ ฝ่ายเผด็จการ กับ ประชาธิปไตย 

โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นทัพหลวง ยังเดินหน้าต่อไปได้ เป้าหมายพรรคเพื่อไทย 200 เสียง ทษช. 50 เสียง เพื่อร่วมกับพรรคการเมืองในซีกประชาธิปไตย อีกจำนวนหนึ่งให้ถึงหลัก 300 เสียงในสภาล่างยังคงดำเนินต่อไปอย่างมีความหวัง 


ศาลรัฐธรรมนูญ ศาล 31244567.jpg

แนวทาง 2 พรรค ทษช.ถูกยุบ ก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ผลทางกฎหมาย ทษช.จะต้องสิ้นสภาพ ผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต 150 คน และแบบบัญชีรายชื่อกว่า 100 คน จะหายไป หมายความว่า ทษช.จะไม่ได้อยู่ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งแต่ต้น ที่สำคัญคือ 14 คณะกรรมการบริหารพรรคต้องเผชิญกับโทษประหารชีวิตทางการเมือง

ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่นักการเมืองดาวรุ่งมากฝืมืออย่าง ร.ท.ปรีชาพล หรือ มิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค ต้องเซ่นอนาคตของพวกเขาให้กับ รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม 

ขณะเดียวกันบุคคลากรชั้นดี มากประสบการณ์ในพรรค เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรค หรือ นายประภัสสร์ จงสงวน แม้จะไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองใดๆ แต่ก็ต้องพลาดโอกาสเข้าไปแสดงฝีมือไม้ลายมือ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการอภิปรายในสภาหลังศึกเลือกตั้งหนนี้

แง่มุมทางการเมืองนั้นแน่นอนว่า แบงก์ร้อยจะหายไป ยุทธศาสตร์หลังการเลือกตั้ง โดยหวังว่า พรรคเพื่อไทยทัพหลวง จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น เป็นไปได้ยากขึ้น สุ่มเสี่ยงเพลี่ยงพล้ำให้กับพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. โดยการเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกฯ เป็นนายกฯ อีกหนึ่งสมัย


จาตุรนต์ ทษช ไทยรักษาชาติ 1402_190214_0002.jpg

แนวทาง 3 ยุบพรรค ทษช. หลังรับรองผลการเลือกตั้ง ผลทางกฎหมายในส่วนของ 14 กรรมการบริหารพรรคจะไม่ต่างจากรูปแบบที่สอง ทว่าผลทางการเมือง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อของทษช. จะต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน 

ซึ่งอาจทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นพอสมควร หากเกิด งูเห่า ย้ายค่าย ไปสมทบกับพรรค ที่มีจุดยืนตรงกันข้ามกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และหากมีจำนวนมากพอ ก็จะทำให้เสียง ส.ส.สนับสนุนนายกฯรัฐมนตรีคนที่ 30 พลิกผัน ไปจากเจตจำนงที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 

สำหรับขั้นตอนตามระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์อธิบายว่า 

"ถ้ากระบวนการเป็นตามปกติ จะใช้เวลาประมาณ 20 วัน จึงคาดว่า ศาลจะสามารถจะชี้ขาดได้ในวันที่ 12 มี.ค. ก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค."   

ดังนั้น ความน่าจะเป็น จึงถูกคาดหมายให้อยู่ที่รูปแบบที่ 1 และรูปแบบที่ 2 เป็นหลัก


จาตุรนต์ ณัฐวุฒิ ไทยรักษาชาติ ทษช.jpg

ขณะที่ล่าสุด 'จาตุรนต์ ฉายแสง' ออกมายืนยันว่า ทษช. พร้อมจะยุติการปราศรัยใหญ่ของพรรค เพื่อให้ ทษช. มุ่งในเรื่องการต่อสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

"ผมได้ทำทุกอย่างที่ตั้งใจเต็มความสามารถได้เป็นผลให้ประชาชนร่วมสนับสนุนกับสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว จึงไม่มีอะไรรู้สึกเสียดาย และงานหลักจากนี้ต้องรับมือกับกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ" นายจาตุรนต์ ระบุ

เช่นเดียวกับ 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' ประธานกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทษช. ย้ำว่าการเดินหน้าในวันนี้เพื่อนำพาบ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยต่อสู้กติกานี้ให้ประชาธิปไตยพื้นฐานปากท้อง ซึ่งพูดตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ทษช. เป็นตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญนี้และไม่สามารถย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงได้

โดยแกนนำ ทษช. ยืนยันจะช่วยต่อสู้คดีให้กับกรรมการบริหารพรรค ว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นการทำโดยความบริสุทธิ์ใจ

ด้านสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ออกเอกสารข่าวชี้แจงผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเอกฉันท์รับคำร้องของ กกต.ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรค ทษช. พร้อมแจ้งให้ผู้ร้องทราบและส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

โดยศาลรัฐธรรมนูญจะนัดพิจารณาครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.พ. เวลา 13.30 น.

หากย้อนกลับไปดูผลของการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตนับแต่ปี 2550 เป็นต้นมา อาจต้องทำใจ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 

ขณะที่พรรคการเมืองแถวสองของ ทรท. อย่าง พรรคพลังประชาชน (พปช.) ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 

ในขณะที่ เดือน มี.ค.2562 ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่วันหย่อนบัตรเลือกตั้ง ชะตากรรม ทษช. จะได้เดินเส้นทางการเมืองต่อหรือไม่ จึงเป็นเรื่องต้องติดตามอย่างไม่กระพริบตา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง