ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์' สำรวจมาตรการจัดหาวัคซีนจากภาครัฐที่คนไทยถูกพรางตาไว้ด้วยความตื่นตระหนกจากสถาณการณ์ระบาดรอบใหม่ ขณะที่ภาษีปประชาชนกำลังถูกใช้ไปเรื่อยๆ

หลังสถานการณ์โควิด-19 กลับมาอีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 ความสุขคนไทยที่เตรียมเคาทน์ดาวน์สู่ปี 2564 กลายเป็นความวิตกที่จะถูกล็อกดาวน์แทน

ไม่เพียงฝันร้ายต่อเศรษฐกิจประเทศที่กำลังฟื้นตัวเชื่องช้าอยู่แล้ว แง่มุมทั้งประเด็นสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ประเด็นชายแดน บ่อน ที่เกี่ยวข้องกับส่วยเจ้าหน้าที่รัฐก็ผลิดอกออกผลให้สังคมตั้งคำถามกับความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลว่าใครกันที่การ์ดตก

มากไปกว่าประเด็นข้างต้น เรื่อง 'วัคซีน' ที่เหมือนจะเป็นข่าวดีและความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขของประเทศ ก็กลายเป็นข้อกังขาขึ้นมา เมื่อรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงให้รอบคอบพอ แต่กลับอ้างเพียง “ทุกอย่างทำเพื่อประชาชนและขออย่าตัดกำลังใจในการทำงาน” 


ไทม์ไลน์ก่อนเกมพลิก

กลับไปในช่วงเดือน ต.ค. 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวล และวันที่ 24 ต.ค. คณะรัฐมนตรีได้แถลง 3 แนวทางจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับพลเมือง เพื่อเตรียมพร้อมจัดการกับสถานการณ์ในระยะยาว ได้แก่ 1. การพัฒนาวัคซีนด้วยตัวเองจากบุคลกรภายในประเทศ 2. การจัดหาวัคซีนพร้อมด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ หรือที่ตกลงซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตราเซเนกา และ 3. การเข้าร่วมโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) 

จริงอยู่ที่ไทยไม่ใช่ประเทศยากจน ทั้งยังมีขนาดเศรษฐกิจรั้งอันดับ 22 ของโลก เมื่อประเมินจากจีดีพีสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2562

แต่ไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวยแบบแคนาดาที่มีทุนจัดสรรวัคซีนรองรับประชากรทุกคนในประเทศหรือซื้อมาตุนไว้มากกว่าความต้องการหลายเท่าตัว ฉะนั้นความพยายามของ ครม. จึงรับฟังได้

หากจำแนกกันตามข้อมูลของรัฐบาล ณ เวลานั้น ก่อนจะมีการค้นพบคลัสเตอร์จากแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้าไทยแบบผิดกฎหมาย วัคซีนจาก ‘แอสตราเซเนกา’ จำนวน 26 ล้านโดส ภายใต้กรอบวงเงิน 6,049 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมประชากรราว 20% ของประเทศ หรือคิดเป็น 13 ล้านคน (1 คนต้องฉีด 2 โดส) จะเดินทางมาถึงไทยช่วงกลางปี 2564

วัคซีน - โควิด - รอยเตอร์ส

ขณะที่การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ ‘แอสตราเซเนกา’ พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาออกซฟอร์ดนั้น รัฐบาลแจ้งว่า ทุกภาคส่วนพยายามเร่งเจรจาให้เกิดการถ่ายทอดกระบวนการผลิตวัคซีนให้กับ 'สยามไบโอไซเอนซ์' (ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 เพื่อสานต่อพระราชปณิธานในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงริเริ่มเรื่องการดูแลสุขภาพและพัฒนาคุณภาพของคนไทย) ในฐานะบริษัทผลิตยาชีววัตถุผ่านเทคโนโลยีชีวภาพหนึ่งเดียวจากไทยที่อยู่ภายใต้แผนการดำเนินงานนี้ ร่วมกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด และกระทรวงสาธารณสุข จนถึงปัจจุบัน ได้เริ่มเดินหน้าผลิตวัคซีนแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2564 โดยรัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณในโครงการนี้ด้วยราว 600 ล้านบาท

แต่กรณีวัคซีนแอสตราเซเนกากลับพบความขัดแย้งระหว่างข้อมูลที่ อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข ชี้แจง กับข้อมูลจากทางต่างประเทศ

ณ วันที่ ครม.มีมติอนุมัติเงินนั้น อนุทินแจ้งว่า ความตกลงครั้งนี้เมื่อคิดเป็นราคาต้นทุนในการนำเข้าวัคซีน อยู่ที่ราวโดสละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 150 บาท ขณะที่หากไม่รีบจองและต้องไปซื้อจากผู้ผลิตรายอื่น ราคาอาจกระโดดขึ้นไปถึงโดสละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 600 บาท 

อย่างไรก็ดี ช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา 'อีวา เดอ บลีเกอร์' รมว.คลังของเบลเยียม ผู้ดูแลด้านงบประมาณของรัฐบาลโดยตรง ทวีตรายละเอียดราคาซื้อขายวัคซีนที่สหภาพยุโรปต้องจ่ายให้แต่ละแบรนด์ซึ่งตามปกติแล้วเป็นความลับทางธุรกิจ

tweet-bleeker.jpg
  • ข้อมูลจากทวิตเตอร์ของ 'อีวา เดอ บลีเกอร์'

โดยข้อมูลจากทวีตดังกล่าวซึ่งถูกลบออกไปในภายหลัง พบว่า ราคาซื้อขายวัคซีนของแอสตราเซเนกาอยู่ที่โดสละ 1.78 ยูโร หรือประมาณ 66 บาทเท่านั้น ซึ่งต้องนับว่าถูกกว่าราคาที่ไทยเจรจาซื้อขายมา อย่างไรก็ดีอาจมองได้ว่า ราคาโดสละ 150 บาทที่ไทยได้มา เป็นการผนวกรวมการรับเอาเทคโนโลยีในการผลิตมาด้วยแล้ว

เดิมนั้น นอกจากแอสตราเซเนกา อีกแหล่งความหวังของไทยยังมาจากโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ที่ตั้งเป้าหมายในการแจกจ่ายวัคซีนราว 2,000 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ให้กับประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยที่มีทุนทรัพย์เพียงพอในการจัดหาวัคซีนให้กับพลเมืองในประเทศ กับประเทศเศรษฐกิจยากจนที่มีความยากลำบากในการเข้าถึงความมั่นคงทางสาธารณสุข

แม้ ครม.จะแสดงความต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทว่านับจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก GAVI (กาวี) องค์กรซึ่งเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนเกี่ยวกับสาธารณสุขโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญเบื้องหลังโครงการ COVAX แจ้งว่า ประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในขั้นประเทศสมาชิกผู้มีสิทธิรับวัคซีน ซึ่งจะเริ่มมีการแจกจ่ายในไตรมาสแรกของปีนี้ แค่อยู่ในสถานะประเทศที่ยื่นเจตนาในการเข้าร่วมเท่านั้น 

ส่วนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนใช้เองในประเทศไทยซึ่งภาครัฐระบุว่า ปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนในประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดและอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ประกอบไปด้วยวัคซีน 3 ประเภท ได้แก่

            1. วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัย และพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            2. วัคซีนชนิด DNA โดย บริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด 

            3. วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด 

ด้วยเงินสนับสนุนจากภาครัฐที่มีการจัดสรรแล้วประมาณ 400 ล้านบาท หลายฝ่ายเชื่อว่า วัคซีนต้นแบบเหล่านี้จะพร้อมสำหรับการทดลองกับมนุษย์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ 

ไทม์ไลน์ที่กล่าวมาทั้งหมด คือแนวทางที่ถูกวางไว้ก่อนประเทศจะตรวจพบคลัสเตอร์โควิดขนาดใหญ่ จนนำไปสู่การระบาดรอบใหม่


จู่โจม รวดเร็ว แสนแพง และไม่ชี้แจง

ความน่ากังวลครั้งใหม่เกิดขึ้นที่ปลายปี 2563 รายงานจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า "กระทรวงสาธารณสุขได้มีความพยายามจัดหาวัคซีนโควิด 19 จากทุกแหล่งให้ได้มากที่สุด ล่าสุดได้เจรจาขอซื้อวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส 'จากผู้ผลิต' ในราคา 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโดส (หรือประมาณ 511 บาท/โดส) โดยเตรียมเสนอของบกลาง 1,170 ล้านบาทในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี"

ต่อมาภายหลัง จากมติ ครม.วันที่ 5 ม.ค. พบว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ไทยติดต่อขอซื้อวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส ในราคาที่แพงกว่าวัคซีนจากแอสตราเซเนกา กว่า 3 เท่าตัว คือ บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จำกัดจากประเทศจีน ซึ่งล่าสุด บริษัทลูกเครือเจริญโภคภัณฑ์เพิ่งเข้าไปลงลงทุนซื้อหุ้นเมื่อเดือน ธ.ค. 2563

ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลกับวัคซีนจากประเทศจีน เพราะปัจจุบันทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ตลอดจนองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ยังไม่ได้รับรองวัคซีนชนิดนี้ของประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ชื่อว่า 'โคโรนาแวค' (CoronaVac) จากซิโนแวค ได้รับการอนุมัติแจกจ่ายสู่ประชากรกลุ่มความเสี่ยงสูงในบราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย ไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 2563 อีกทั้งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกในระยะสาม

ทว่า เมื่อกลางเดือน ธ.ค. 2563 'แอนวิซา' (Anvisa) หน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขบราซิล เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนไม่มีความโปร่งใสในการอนุมัติใช้วัคซีนโควิดเป็นกรณีฉุกเฉิน 

Anvisa ระบุในเว็บไซต์ว่า บราซิลจะเป็นผู้นำระดับสากลในกระบวนการประเมินวัคซีน โคโรแวคของจีน ซึ่งบราซิลสั่งซื้อในจำนวนมาก โดยถูกอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในจีนเมื่อเดือน มิ.ย. แต่กลับไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่ชัดเจนและโปร่งใสเชิงเทคนิค รวมถึงไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของหน่วยงานจีนที่ตัดสินใจอนุมัติ

แม้ยังไม่มีความชัดเจนในเชิงประสิทธิภาพ แต่วัคซีนของซิโนแวคถูกสั่งจองไปแล้วทั้งสิ้น 174 ล้านโดส โดยอินโดนีเซีย และตุรกี สั่งมากสุดที่ประเทศละ 50 ล้านโดส บราซิล 46 ล้านโดส และไทยอีก 2 ล้านโดส โดยคาดว่าจะมาถึงไทยระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย.นี้ 

อนุทิน ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร โควิด แรงงาน  46D6-B764-983753FD296D.jpeg
  • อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข

นอกจากความคลุมเครือเรื่องประสิทธิภาพและข้อกังขาไม่น้อยเกี่ยวกับวัคซีนจากประเทศจีน ประกอบกับราคาต่อโดสที่สูงกว่าวัคซีนจากแอสตราเซเนกาถึง 3 เท่า ซึ่งยังไม่มีการชี้แจงอย่างเป็นทางการว่าสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับความเร่งรีบในการควบคุมสถานการณ์ 

มติ ครม. ฉบับดังกล่าว ยังระบุเพิ่มว่า รัฐบาลต้องการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 50% ของประเทศภายในปี 2564 หรือคิดเป็นจำนวน 33 ล้านคน 

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มจากแอสตราเซเนกาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส (รวมเป็น 61 ล้านโดส) ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ระบุว่า คำสั่งซื้อใหม่นี้คิดในราคาเท่าใด เพียงแต่ชี้ว่าไม่ต้องวางเงินมัดจำล่วงหน้า 

อย่างไรก็ตาม แม้อนุทินจะชี้แจงว่า “ขอให้ประชาชนมั่นใจ ทั้งหมดเกิดจากความพยายามของรัฐบาลในการเจรจาต่อรอง อนุมัติงบประมาณโดยเร็ว ทำทุกวิถีทางในการเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ให้กับคนไทยให้ได้มากที่สุดและได้ใช้โดยเร็วที่สุด”

แต่ไม่ได้คลายข้อสงสัยในประเด็นว่า รัฐบาลต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่ในการจัดหาวัคซีนของเอสตราเซนากาล็อตที่สอง และเมื่อไหร่ที่องค์ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดให้กับบริษัท 'สยามไบโอไซเอนซ์' จะสามารถกลายเป็นรูปธรรมที่คนไทยจับต้องได้

หากไทยต้องซื้อวัคซีนพร้อมองค์ความรู้แล้ว องค์ความรู้ที่ทำให้ต้นทุนผลิตวัคซีนถูกลง ทำไมคนไทยยังต้องจ่ายแพงสำหรับวัคซีนในล็อตถัดไปด้วย

เช่นนั้นจะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ หากเราไม่ต้องซื้อองค์ความรู้ตั้งแต่แรก แต่สามารถซื้อวัคซีนได้ในราคา 2.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/โดส อย่างที่รัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถตกลงได้ แล้วหันมามุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนในประเทศแทน

สาระสำคัญจึงมีอยู่ว่า ถ้าเลือกจะป้องกันการติดเชื้อภายในประเทศไม่ได้ อย่างน้อยขอให้การจัดหาวัคซีนโปร่งใส คุ้มค่าและเป็นธรรมได้หรือไม่


อ้างอิง; BBC, The Guardian, DW, The Brussels Times, Bloomberg, Reuters, POLITICO

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;