ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 จากบริษัทในประเทศจีนสำหรับไตรมาสแรก 2 ล้านโดส ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์-กลุ่มเสี่ยงโรคแทรกซ้อนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ส่วนวัคซีนจากอังกฤษ 26 ล้านโดส รอลุ้นเข้าไทยช่วง พ.ค.– มิ.ย.

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 นอกจาก ครม. จะมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกถึงสิ้นเดือน ก.พ. นี้ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องการจัดหาวัคซีนต้านเชื่อไวรัสโควิด-19 ด้วย โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2564 รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชากรไทยจำนวน 33 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในประเทศ  


ไทยได้วัคซีนมาจากไหน

เบื้องต้น รัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยเจรจราตกลงแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca ซึ่งจะได้วัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส แต่จะได้รับวัคซีนนี้ช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม. ได้มีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีกจำนวน 35 ล้านโดส ซึ่งหากการดำเนินการเรื่องนี้สำเร็จไทยจะได้รับวัคซีนในส่วนนี้รวมทั้งสิ้น 61 ล้านโดส

กรณีนี้ปรากฎในมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่ง ครม. เห็นชอบให้งบประมาณจำนวน  6,049,723,117 บาท จากงบกลางรายการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี 2564 เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขไปทำสัญญาในการจองวัคซีนโควิด-19 กับบริษัท AstraZeneca ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของอังกฤษที่กำลังทดลองวัคซีนโควิด-19 จำนวน 26 ล้านโดส  โดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่นๆ ในวงเงิน 2,379,430,600 บาท และให้กรมควบคุมโรคจัดทำสัญญาในการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้านั้น เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนได้สำเร็จ ในวงเงิน 3,670,292,517 บาท

นอกจากนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคชีน โดยการเจรจากับบริษัท Sinovac Biotech ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนจากประเทศจีน เพื่อจัดหาวัคซีนในระยะเร่งด่วนและเร่งส่งให้ได้ในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,228,208,000 บาท สำหรับการจัดหาวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส และรัฐบาลได้จัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ซึ่ง เป็นโครงการกระจายวัคซีนให้แก่ประเทศยากจน และประเทศรายได้ปานกลาง เพิ่มเติมอีกซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาเงื่อนไขต่อรอง


2 ล้านโดสแรกใครได้ฉีดบ้าง

ฉะนั้นภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ไทยจะได้รับวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีนจำนวน 2 ล้านโดสเท่านั้น โดยวัคซีนชุดนี้จะส่งเข้ามาในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ช่วงด้วยกันคือ

1. ภายในเดือน ก.พ. จะได้รับวัคซีน จำนวน 2 แสนโดส ใช้สำหรับ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ชลบุรี เป็นต้น จำนวน 20,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง (ความดันโลหิตสูง, เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ, เบาหวาน , โรคไตเรื้อรัง, หอบหึด ปอดอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง ตับอักเสบ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคอ้วน) และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ จำนวน 180,000 คน

2. ภายในเดือน มี.ค. จะได้รับวัคซีน จำนวน 8 แสนโดส ซึ่งจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้กับกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนชุดแรก 2 แสนโดส และในส่วนที่เหลืออีก 6 แสนโดสนั้น จะกระจายไปยังกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) จำนวน 60,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 540,000 คน

3. ภายใน เม.ย. จะได้รับวัคซีนอีก 1 ล้านโดส โดยจะฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้กับผู้ที่ได้รับการฉีดในเดือน มี.ค. จำนวน 6 แสนโดส และในส่วนที่เหลืออยู่ 4 แสนโดส จะพิจจารณาฉีดในกรณีที่มีการระบาดต่อไป

หมายความว่าภายในไตรมาสแรกจะมีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน 2 เข็ม แล้วอย่างน้อย 8 แสนคน


ความต่างวัคซีนจีนกับอังกฤษ

ขณะที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงลักษณะของวัคซีนซึ่งผลิตขึ้นในประเทศจีน และจะเข้ามาในไทยชุดแรกนี้ ผ่านเฟซบุ๊กว่า วัคซีนประเภทนี้เรียกว่า วัคซีนเชื้อตาย มีวิธีการที่ใช้หลักการเดียวกันกับวัคซีนอื่นๆ ที่ทำกันมาในอดีต เช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ พิษสุนัขบ้า เป็นต้น

โดยนักวิทยาศาสตร์จะใช้เชื้อไวรัสโควิด-19 เพาะเลี้ยงบน Vero cell เซลล์ชนิดนี้ใช้ทำวัคซีนหลายชนิดเช่นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและใช้กันมานานมาก อย่างที่เราฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เมื่อเพาะได้จำนวนไวรัสจำนวนมากก็จะเอามาทำลายฤทธิ์หรือฆ่าเชื้อให้ตายแล้วนำมา Formulation ใส่สารกระตุ้นภูมิต้านทาน

ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ วิธีการทำเป็นวิธีที่เรารู้กันมาแต่โบราณ ในเรื่องความปลอดภัย เป็นเชื้อตายสามารถใช้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อไม่ไปเพิ่มจำนวน การกระตุ้นภูมิต้านทานจะได้ระดับต่ำกว่าวัคซีนที่กล่าวมาจากข้างต้น

ข้อเสียของวัคซีนชนิดนี้ คือ การผลิตจำนวนมากจะทำได้ยาก เพราะไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสก่อโรคจะต้องเพาะเลี้ยงในห้องชีวนิรภัยระดับสูง ต้นทุนในการผลิตจะมีต้นทุนสูง เราจะเห็นว่าวัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ ไม่สามารถลดราคาลงให้ถูกลงได้ ในทำนองเดียวกันการผลิตจำนวนมากของวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายก็จะมีขีดจำกัด

ส่วนวัคซีนของบริษัท AstraZineca นพ.ยง ให้ข้อมูลว่า วัคซีนนี้จะใช้วิธีการเอาสารพันธุกรรมของไวรัสใส่เข้าไปในไวรัสที่จะเป็น Vector หรือตัวฝากนั่นเองที่ใช้อยู่เป็น Adenovirus, Vesicula stomatitis virus ไม่ก่อโรคในคน การใส่เข้าไปเข้าใจว่าเป็น cDNA ของโควิด-19 เพื่อให้ไวรัส Vector ส่งสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไปในเซลล์มนุษย์ เมื่อเข้าไปแล้วไวรัสจะถอดรูปพันธุกรรมที่ส่งเข้าไป จะต้องเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์เพื่อลอกแบบและเปลี่ยนให้เป็น mRNA ออกมาในไซโตพลาสซึม แล้วส่วนของ mRNA จะไปที่ Ribosome เพื่อทำการสร้างโปรตีนตามรูปแบบที่กำหนดไว้คือ Spike โปรตีน ส่งผ่านออกมาทาง Golgi ออกนอกเซลล์เช่นเดียวกับ mRNA โปรตีนที่ส่งออกมาจะทำหน้าที่เป็นแอนติเจนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อโควิค 19

ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้คือ ผลิตได้จำนวนมากได้ง่ายเพราะทำจากโรงงานเป็น DNA จะมีความคงทนกว่า จึงสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศา ราคาจะถูกเพราะทำได้จำนวนมาก วัคซีนนี้เป็นชนิดใหม่เช่นเดียวกัน ผลระยะยาวจึงยังไม่ทราบและที่ต้องคำนึงอีกประการหนึ่งคือขั้นตอนที่ผ่านนิวเคลียสของเซลล์ เราไม่ทราบว่าจะมีการรวมตัว Integrate กับ DNA ของมนุษย์หรือไม่ ผลระยะยาวก็คงต้องติดตามต่อไป


อ้างอิง

มติ ครม. 17 พ.ย. 2563

มติ ครม. 5 ม.ค. 2564