ไม่พบผลการค้นหา
ธงฮ่องกงเป็นสัญลักษณ์ 'ความสามัคคี' 'สิทธิ' 'เสรีภาพ' ภายใต้หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ แต่การประท้วงของชาวฮ่องกงเพื่อต่อต้านการแทรกแซงของรัฐบาลจีน ทำให้ความหมายของธงฮ่องกงถูกตั้งคำถามและถูกท้าทายมากยิ่งขึ้น

ธงชาติของแต่ละประเทศมีการนำเสนอสัญลักษณ์และแฝงความหมายที่แตกต่างกันออกไป ในกรณีของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ดอกชงโค 5 กลีบสีขาวอมชมพูพร้อมดาวบนพื้นสีแดง ถูกออกแบบเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้หลักการ "1 ประเทศ 2 ระบบ" ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ตาม 22 ปีหลังจากมีการเชิญธงขึ้นเสาอย่างเป็นทางการในปี 2540 ซึ่งอังกฤษคืนฮ่องกงให้แก่จีน ธงแห่งความสามัคคีนี้กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และถูกโจมตีจากเหล่านักเคลื่อนไหวฝั่งประชาธิปไตยจำนวนมากที่มองว่า ธงดอกชงโคนี้คือสัญลักษณ์แห่งการครอบงำของจีนที่มีต่อฮ่องกง


ธงฮ่องกงสีแดงเฉดเดียวกับธงจีน "ถูกย้อมด้วยสีดำ"
ธงฮ่องกง

การประท้วงระลอกใหม่ของชาวฮ่องกงที่แสดงพลังต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ เริ่มจากการที่รัฐบาลฮ่องกงผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่จีน ทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกมารวมตัวประท้วงนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เพราะมองว่ารัฐบาลฮ่องกงยอมให้จีนเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และแม้ผู้บริหารฯ ฮ่องกงจะระงับการพิจารณาร่าง ก.ม. แต่ผู้ชุมนุมยังรวมตัวกันต่อในทุกสัปดาห์ เพราะต้องการให้รัฐบาลฮ่องกงยกเลิกร่าง ก.ม.ดังกล่าวเป็นการถาวร พร้อมเรียกร้องให้จีนหยุดแทรกแซงฮ่องกง

เมื่อรัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจ ธงฮ่องกงที่เคยเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพ จึงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความไม่พอใจ ผู้ประท้วงหลายคนชูธงกลับหัวหน้าสภานิติบัญญัติในพิธีเชิญธงขึ้นเสารำลึกถึงการคืนฮ่องกงให้กับจีนของอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ธงชาติจีนบนเสาธงใกล้ๆ กันยังถูกเปลี่ยนเป็นธงฮ่องกงที่มีพื้นเป็นสีดำ และลดธงลงเพียงครึ่งเสาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการไว้อาลัย และธงฮ่องกงเวอร์ชันสีดำก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้้วงอย่างเป็นทางการไปแล้วด้วย

สำหรับศิลปินนักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง 'เคซี หว่อง' ทำธงพื้นดำใช้เองสำหรับการประท้วง โดยเขาบอกว่า ทั้งการประท้วงของกลุ่มออคคิวพายฯ ในปี 2559 และการประท้วงในปี 2562 ธงสีดำนี้แสดงถึงการเลือกระหว่าง "อิสระหรือความตาย"


"สำหรับผม (ธงฮ่องกงสีแดง) ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับคนฮ่องกงทั้งในมิติของสีและภาพลักษณ์" หว่อง กล่าว


ประวัติศาสตร์การออกแบบ

ดอกไม้บนธงฮ่องกงคือดอกชงโค Bauhinia blakeana ซึ่งเป็นการตั้งชื่อต้นไม้ตามชื่อของ เซอร์ เฮนรี เบลค ผู้ว่าการฮ่องกงในยุคที่ยังอยู่ในการปกครองของอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2441 ถึง 2446 เนื่องจากทั้งเซอร์เฮนรีและภรรยาเป็นนักพฤกษศาสตร์ด้วยกันทั้งคู่

ดอกชงโคนั้นถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของฮ่องกงก่อนที่จะมีการคืนแผ่นดินให้กับจีน ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการที่สภาเทศบาลเมืองในขณะนั้นใช้ดอกชงโคเป็นสัญลักษณ์ในปี 2508 โดยมีรูปแบบเป็นดอกไม้สมมาตรที่วาดด้วยเส้นเดียวบนพื้นหลังสีแดง

ธงฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม รูปแบบของธงฮ่องกงในปัจจุบันเริ่มต้นขึ้นจากการประกวดออกแบบธงใหม่ในปี 2530 ซึ่งหัวข้อในการแข่งขันคือการแสดงออกถึงสถานภาพและอัตลักษณ์ของฮ่องกงที่จะต้องคงไว้ซึ่งหลักการ "1 ประเทศ 2 ระบบ" อันหมายถึงสถานะของฮ่องกงที่มีอำนาจในการปกครองและบริหารจัดการกิจการภายในดินแดนของตนเอง ขณะที่ประชาชนฮ่องกงจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่สอดคล้องกับหลักการด้านประชาธิปไตย แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ก็ตาม

ในการแข่งขันครั้งนั้นมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 7,000 แบบ ซึ่งหลายผลงานก็ถูกออกแบบในธีมของมังกรตามธงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง ดาวหลายดวงตามธงของจีน รวมทั้งดอกชงโค ผลงานของผู้ได้รับคัดเลือกรอบสุดท้ายถูกส่งให้คณะกรรมการจากทั้งฮ่องกงและจีนตัดสิน แต่ก็ถูกปฏิเสธทั้งหมด และกลายเป็นว่า กรรมการในการตัดสินการแข่งขัน 3 คน ได้แก่ เถา โฮ สถาปนิก, ฮง บิง-หวา นักออกแบบ และ วาน เหลา ช่างแกะสลัก รับหน้าที่ออกแบบธงฮ่องกงแทน

ท้ายที่สุดแล้ว ในปี 2533 รัฐบาลจีนมีมติเลือกผลงานการออกแบบของ เถา โฮ สถาปนิกที่จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ด้วยการนำเสนอธงและสัญลักษณ์ โดยเปลี่ยนจากดอกชงโคแบบสมมาตรเป็นดอกชงโคสีขาว 5 กลีบในแบบหมุนตามเข็มนาฬิกา ทั้งยังใช้สีแดงเฉดเดียวกับธงชาติจีนเป็นพื้นหลัง

แม้ เถา โฮ จะเสียชีวิตเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เว็บไซต์ของเขายังระบุความหมายของการออกแบบธงของเขาไว้อย่างชัดเจนว่า "ดอกไม้ไม่สมมาตรและรูปแบบของมันสื่อถึงการเคลื่อนไหว ชี้ให้เห็นถึงพลังแห่งประชาธิปไตยและเศรษฐกิจที่มีชีวิตชีวาของฮ่องกง" ขณะที่ "พื้นหลังสีแดงเปรียบเสมือนประเทศจีนและดาว 5 ดวง เป็นการสื่อถึงแนวคิดแห่ง '1 ประเทศ 2 ระบบ'"


ปกป้องด้วยกฎหมาย

ธงฮ่องกงได้รับการคัดเลือกแบบโดยสภาประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งยังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะมีบทบัญญัติถึงกฎระเบียบในการใช้ธงในโอกาสต่างๆ อย่างชัดเจน จึงเป็นภาพสะท้อนนัยทางการเมืองอันอ่อนไหวระหว่างจีนและฮ่องกง

ทั้งนี้ กฎหมายเกี่ยวกับธงระบุว่า ธงฮ่องกงที่ถูกเชิญขึ้นเสาข้างธงจีน จะต้องอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธงจีน ทั้งยังมีการบัญญัติบทลงโทษเอาไว้ด้วยว่า การกระทำใดๆ ก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็น 'การดูหมิ่น' ธงฮ่องกง เช่น การเผา การขีดเขียน และการดัดแปลง นับเป็นความผิดมีโทษทั้งปรับและจำคุก

ประท้วงฮ่องกง

ตั้งแต่ฮ่องกงถูกส่งคืนจีน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนถูกจับด้วยข้อหาดังกล่าว ในปี 2541 ชาย 2 คน ถูกจับหลังจากเขียนคำว่า "น่าละอาย" ด้วยอักษรจีนบนธงฮ่องกง และเขียนเครื่องหมายกากบาททับดอกชงโค ขณะที่กู่ซีหยิ่ว นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ถูกตัดสินจำคุก 6 สัปดาห์ หลังจากเผาธงในปี 2558

'เคซี หว่อง' กล่าวว่า การมีกฎขึ้นมาควบคุมไม่ได้ทำให้ผู้คนเคารพธงมากขึ้น รังแต่จะเป็นการเพิ่มความเกลียดชัง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการประท้วงในปัจจุบันจึงมีการทำลายธงฮ่องกง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสภานิติบัญญัติของเถา โฮ เพราะผู้คนต้องการแสดงออกถึงการปฏิเสธอำนาจที่กดขี่


"การเคารพนับถือไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการบังคับ" หว่อง กล่าว

ราคาที่ศิลปินต้องจ่าย

การเข้าร่วมชุมนุมอาจไม่สร้างปัญหาให้กับประชาชนทั่วไปมากนักในมิติหน้าที่การงาน แต่มันเป็นหนังคนละม้วนกับสิ่งที่ศิลปินฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกงต้องเผชิญ 'เดนิส โฮ' นักร้องจีนกวางตุ้งอธิบายถึงสิ่งที่เธอต้องเผชิญ ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้วเมื่อเธอตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุม

เดนิส โฮ

ในปี 2557 อาชีพของโฮกำลังไปได้สวยด้วยการแสดงมากกว่า 100 คอนเสิร์ต ในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เมื่อเธอตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมขึ้น รัฐบาลจีนแบนไม่ให้เธอแสดงในประเทศทันที พร้อมนำเพลงของเธอออกจากเว็บไซต์พลงทั้งหมด การทำเช่นนั้นทำให้โฮสูญเสียรายได้กว่า 120,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.6 ล้านบาท


"มันน่าหงุดหงิดและแน่นอนมันอ้างว้างสำหรับผู้คน โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว" โฮ กล่าว


หากเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของศิลปินฮ่องกงยุคก่อนและหลังปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้แก่จีน จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยเดอะนิวยอร์กไทม์สได้อ้างถึงเหตุการณ์หลังจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ล้อมปราบประชาชนที่ีจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง สร้างความไม่พอใจอย่างหนักแก่ชาวฮ่องกง นำไปสู่การรวมตัวจัดคอนเสิร์ตสนับสนุนขบวนการนักศึกษาในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งมีนักแสดงชาวฮ่องกงที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นหลายคนร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเฉินหลง, หลิวเต๋อหัว หรือโจวเหวินฟะ แต่ไม่มีศิลปินคนใดได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมคอนเสิร์ตวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน

อย่างไรก็ตาม ศิลปินฮ่องกงยุคหลัง 2540 ถูกกดดันจากกระแสชาตินิยมแบบ 'จีนเดียว' ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในยุคหลังมีความผูกพันกับจีน ทำให้รัฐบาลจีน รวมถึงกลุ่มทุนและแฟนคลับในจีน สามารถคว่ำบาตรและสร้างผลกระทบแก่ศิลปินที่มีความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างมีนัยสำคัญ

การลงโทษของรัฐบาลจีนที่มีต่อโฮจึงเปรียบเสมือนการเชือดไก่ให้ลิงดู เป็นการเตือนศิลปินที่มีชื่อเสียงคนอื่นว่าผลลัพธ์ของการต่อต้านรัฐบาลจีนคืออะไร และคุณพร้อมจะแลกไหม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือศิลปินหลายคนเลือกที่จะ "ปิดปากเงียบ" อย่างที่รัฐบาลต้องการ

อ้างอิง; NYT, CNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: