ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาจับตาเลือกตั้ง 66 ยัน ‘เพื่อไทย’ ยืนสถานะได้เปรียบ ชี้ ตัด ‘ประยุทธ์’ ออกจากสมการการเมืองไม่ง่าย เพราะกลไก ‘ส.ว.-ชนชั้นนำ’

เวทีสนทนาสาธารณะว่าด้วยการจับตาสถานการณ์การเลือกตั้ง 66 ยืนยัน พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ‘ประจักษ์’ มองภูมิทัศน์พรรคการเมืองเปลี่ยน ชี้เร็วไปเดาพรรคไหนจับมือตั้งรัฐบาลเพราะการเมืองไทยไม่ปกติ เหตุกลไก ‘ส.ว.-ชนชั้นนำ’ ย้ำต้องหาฉันทามติ ‘กองทัพ-สถาบันฯ’ ด้าน ‘ตฤณ’ เผยช่วงวัยมีผลต่อการเลือกตั้ง ‘ธนพันธ์’ โชว์ผลสำรวจคนเลือก ‘ปชป.-พปชร.’ ในปี 62 อาจเทใจให้ ‘พท.-กก.’ 

วันที่ 17 ก.พ. 2566 ในเวทีสนทนาสาธารณะ “Long Take Politics & Elections: สนทนาว่าด้วย จับตาสถานการณ์การเลือกตั้ง 66” ซึ่งจัดโดย สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน โดยมีวิทยากร ได้แก่ รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา สำนักวิชารัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณษ และรศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ภูมิทัศน์พรรคการเมืองเปลี่ยน

ด้าน รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวถึงภูมิทัศน์พรรคการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ภูมิทัศน์พรรคการเมืองไทยมันเปลี่ยนไป ด้วยกฎกติกาจากรัฐธรรมนูญก็ดีซึ่งมีผลอย่างแน่นอน และการรัฐประหารในปี 2557 ก็มีผล รวมถึงกลุ่มผู้มีอำนาจ และกลุ่มทหารพยายามปรับตัวมาเล่นเกมการเลือกตั้ง ไปจนถึงประการสุดท้ายคืออารมณ์ความรู้สึกของคน รวมถึงการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 

จึงทำให้ปัจจุบันอยู่ในภูมิทัศน์พรรคการเมืองที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งในปี 2566 ไม่เหมือนปี 2562 ตอนนี้เราอยู่ในระบบหลายพรรคไม่ได้อยู่ในระบบสองพรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทยที่เกิดจากผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อเป็นโมเดลที่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง จนเกิดสองพรรคที่เข้มแข็งสู้กัน

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวอีกว่า ถ้าเราไปดูคะแนนการเลือกตั้งของสองพรรคนี้ในรอบปีที่ผ่านมา และเอามารวมกันทั้งเขต และปาร์ตี้ลิสต์จะอยู่ที่ประมาณ 80-90% ซึ่งกินส่วนแบ่งทั้งหมดในสภาไปหมดแล้ว เหลืออีกแค่ 10% จะเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยที่เหลือ แต่ในปี 2566 ระบบสองพรรคได้เปลี่ยนไป แม้จะเป็นขั้วที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแต่มีตัวเลือกในการแข่งขันมากขึ้นโดยเฉพาะในฝั่งที่เราเรียกว่า ‘ฝั่งอนุรักษนิยมเชิงอำนาจนิยม’ 

ซึ่งคนมีตัวเลือกเยอะมากเช่น หากไม่โหวตให้เพื่อไทย และก้าวไกลแน่นอนก็จะสามารถเลือกได้หลายพรรคเช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย หรือจะไปไกลกว่านั้นคือพรรคไทยภักดี ซึ่งเห็นได้จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้ง เพราะในฝั่งประชาธิปไตยค่อนข้างโดดเด่น แต่ในฝั่งอนุรักษนิยมนั้นมีหลายคน ไม่ว่าจะเป็น สกลธี ภัททิยกุล สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 

แต่ในการเมืองภาพใหญ่ฝั่งประชาธิปไตยเองก็มีคู่แข่งหลากหลาย หลักๆ คือพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ซึ่งมันไม่ได้ผิดแปลก และเสียหายอะไรเพราะในหลายประเทศ พรรคที่นิยามตัวเองว่าเป็นพรรคก้าวหน้าทางประชาธิปไตยมันมีมากกว่าหนึ่งพรรคเสมอ ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นเรื่องลบ แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีเพราะเป็นเรื่องธรรมชาติในการแข่งขันทางการเมือง 

“แม้ว่าระบบเลือกตั้งในปี 2566 จะนำระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 กลับมาใช้ แต่ภูมิทัศน์ของพรรคการเมืองมันมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงเกิดพรรคที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารทั้งสองพรรค เกิดเหตุการณ์ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารแยกทางกัน ต่างจากเมื่อก่อนที่เขาจะสามัคคีกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถนำผลเลือกตั้งในแบบเดิมกลับมาวิเคราะห์ได้ แต่แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยยังคงเป็นพรรคที่ได้เปรียบมากที่สุดภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบนี้” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว


ยังไม่ฟันธง ‘เพื่อไทย’ จับมือพรรคไหน ชี้การเมืองคือเรื่องตัวเลข 

ในประเด็นของการจัดตั้งรัฐบาล รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า พรรคหลักที่จะครองเก้าอี้ค่อนข้างมากในสภาคือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย แต่ก็ไม่สามารถที่จะดูเบาพรรคขนาดกลาง เช่น พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งรวมแล้วจะอยู่ประมาณ 50 ถึง 60 ที่นั่ง 

ทั้งนี้ แนวโน้มของพรรคที่จะได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งก็คือ พรรคเพื่อไทย แต่ที่เหลือรองลงมายังคาดเดาไม่ได้ ขณะที่โฉมหน้ารัฐบาลแม้หลายคนจะมุ่งเป้าไปที่ เพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย แต่ความจริงก็เป็นไปได้หลายแบบเช่น เพื่อไทย-พลังประชารัฐ, เพื่อไทย-ภูมิใจไทย, เพื่อไทย-ก้าวไกล, เพื่อไทย-พรรคเล็ก ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงอยู่ในสถานะที่สามารถจับมือกับทุกพรรคได้ยกเว้นรวมไทยสร้างชาติ 

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวอีกว่า หากพรรคเพื่อไทยต้องการจับมือกับพรรคไหนในการจัดตั้งรัฐบาลก็อาจจะจับมือกับพรรคที่มีอัตราต่อรองได้น้อยดีกว่าจะต้องต่อรองกับพรรคใหญ่ ซึ่งอาจจะทำให้มีการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ แต่ทั้งนี้อีก 3-4 เดือน ข้างหน้ากว่าจะมีการเลือกตั้งมัน อาจจะเกิดปรากฎการณ์ไม่คาดคิด 

เช่น การเลือกตั้งปี 2562 ก็เกิดแผ่นดินไหวทางการเมือง เช่น การยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งครั้งที่แล้วหากไม่มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็อาจจะรวมกับพรรคเพื่อไทยจนได้ 170 ที่นั่ง และโอกาส ที่จะได้จัดตั้งรัฐบาลก็จะมีมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ ถ

“โดยส่วนตัวยังไม่เชื่อเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเพื่อไทยอาจจะไปรวมกับก้าวไกลก็ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเลข การเลือกตั้งคือคณิตศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องใครรักกับใคร ตัวเลขที่แต่ละพรรคได้คืออำนาจต่อรองที่แท้จริง แต่ในการเมืองที่ไม่ปกติ พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ ทั้งในเรื่องกลไก ส.ว. และกลไกชนชั้นนำ” รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุ 


ความรุนแรงเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง-สัญญานจากชนชั้นนำ 

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวถึงโอกาสความขัดแย้งในการเลือกตั้งว่า แนวโน้มของความรุนแรงก่อนการเลือกตั้งลดลงมาตลอด เนื่องจากเยาวชนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อปี 2563 ล้วนฝากความหวังไว้ที่คูหาเลือกตั้ง และมองว่าการเลือกตั้งคือหนทางที่สันติ และเป็นอารยะมากที่สุด 

รวมถึงประชาชนทั่วไปก็คิดเช่นนั้นด้วย ดังนั้นความเสี่ยงจึงอยู่ที่หลังเลือกตั้งมากกว่า ถ้าหากมีการแทรกแซงจากชนชั้นนำทางการเมือง นอกจากนี้จะมีบทบาทของ ส.ว. ที่จะเป็นชนวนให้เกิดความกดดันจากสังคม รวมไปถึงอาจจะมีการจัดตั้งรัฐบาลที่ฝืนมติของมหาชน

ทั้งนี้มองว่าการเลือกตั้งในปี 2566 จะมีโอกาสทำให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบมากขึ้น เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ยังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีการใช้ ม.44 รวมถึงระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียว เป็นระบบเผด็จการจากการเลือกตั้ง แต่ในปีนี้บรรยากาศหลายอย่างดีขึ้น และเกิดความแตกแยกของอดีตผู้นำคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจ และที่สำคัญคือเกิดความตื่นตัวของประชาชน

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวอีกว่า ไม่ควรให้ค่า ส.ว. และไม่ควรฟัง ส.ว. มากนัก เพราะ ส.ว. ไม่ได้มีเจตนารมณ์ และจุดยืนที่ชัดเจน เพียงรอแค่ว่าใครจะมากดสวิตช์ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บวกกับสัญญาณจากชนชั้นนำที่ต้องการให้ใครจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน แต่ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลแบบไหน ปัญหาที่จะเผชิญคือเสถียรภาพทางการเมืองเนื่องจากการเมืองมันจะไม่นิ่ง 

ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะชนะเลือกตั้งก็ยากที่จะคงสภาพได้เหมือน 8 ปีที่ผ่านมา เพราะอ่อนแอลง และความนิยมตกลง ส่งผลให้ความชอบธรรม และเครือข่ายของตัวเองหายไปเยอะ รวมถึงจะอยู่ในอำนาจได้อีกแค่ 2 ปีเท่านั้น ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้บริหารประเทศอีก และอยากจะอยู่ในอำนาจต่อไปก็จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งของบ้านเมืองอีกต่อไป

รศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า หากพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จริงๆ ก็จะโดนเพดานที่ชนชั้นนำไม่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยเกิดความนิยมสูง รวมถึงโจทย์ของการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องการกลับมาสู่ประเทศไทย 

ทั้งหมดจะกลายเป็นชนวนที่ไม่ง่าย แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีโอกาสทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ แต่เรื่องเสถียรภาพทางการเมืองดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เช่น โจทย์เรื่องการปฏิรูปกองทัพ และการปฏิรูป สถาบันฯ ซึ่งเป็นฉันทามติที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เช่นระบบเลือกตั้ง หรืออำนาจวุฒิสภา 

“คนที่น่าสงสาร และเห็นใจมากที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเล่นทางยาก หากยอมลงจากอำนาจไปหลังประชุมเอเปค 2022 และประกาศว่าจะไม่ลงเลือกตั้งในตอนครบ 8 ปีพอดี จะเป็นการสร้างผลงานคล้ายๆ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง และไปทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง แต่ที่มันยากและมันไปต่อไม่ไหวคือเรื่อง จะอยู่ในอำนาจได้เพียงแค่ 2 ปี” รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว 

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง ไม่มีใครคิดว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะชนะ นักสังเกตการณ์คาดการณ์ว่าที่นั่งของพรรคนี้จะอยู่ที่ 40-50 การที่จะมาเป็นนายกอย่างสง่างามไม่ได้ และอำนาจต่อรองกับพรรคอื่นก็จะไม่มี กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีภาวะความเป็นผู้นำที่อ่อนแอ 

หากพรรครวมไทยสร้างชาติแพ้การเลือกตั้ง อย่าคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมานั่งในสภาในฐานะ ส.ส. และอาจจบบทบาททางการเมืองไปเลย มันจึงนำไปสู่คำถามข้างต้นที่ตอบไม่ได้ว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงตัดสินใจอยู่ต่อในอำนาจ นอกจากได้สัญญานจากชนชั้นนำไทยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยแน่


ความท้าทายของ ‘ช่วงวัย-เศรษฐกิจ’ สองมิติส่งผลต่อการเลือกตั้ง 2566 

ผศ.ดร.ตฤณ กล่าวถึงการแลหน้าไปยังการเลือกตั้งจากมุมมองทางเศรษฐกิจว่า ตอนนี้ประชากรไทยมีอยู่ทั้งสิ้น 66.17 ล้านคน สิ่งที่อยากโฟกัสคือ ในการเลือกตั้งปี 2566 จะมีกลุ่มคนช่วงวัย 35 ปีขึ้นไปที่มีผลมากที่สุด แต่ทั้งนี้ในปี 2562 ไม่มีนัยยะทางสถิติที่สำคัญบ่งชี้ว่า อายุ และการเลือกตั้งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดในปี 2562 นั้นแตกต่างจากในปี 2566

เพราะในช่วงปี 2563 มีคนรุ่นใหม่ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่มีเรื่องของอายุเข้ามาเป็นแกนหลัก การแพทยระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัว และเกิดการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางสถาบันทางการเมืองโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เอื้อให้กับระบบอุปถัมภ์

ผศ.ดร.ตฤณ ชี้อีกว่า สิ่งที่จะเห็นจากการเลือกตั้ง 2566 คือนโยบายเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหารายจ่าย และรายได้ เช่นของพรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทยที่พูดถึงหนี้มาตลอด เช่นนโยบายพักชำระหนี้ ทั้งต้น และดอกเบี้ย รวมถึงการสานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การประกันรายได้สินค้าเกษตร และยกระดับของกรมพัฒนา และฟื้นฟูเกษตรกร อีกทั้งเรื่องของสวัสดิการถ้วนหน้า ทุกเรื่องรายละเอียดอาจจะเหมือนกันแต่จะแตกต่างกันไปตามนโยบายในเรื่องของการลดต้นทุนการใช้ชีวิตแทนที่ด้วยการเพื่อความมั่นคงทางการใช้ชีวิต 

นโยบายดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนคิดเป็น 89.3% ของ GDP ขณะที่สัดส่วนอัตราการว่างงานแม้จะไม่ลดลง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมีการว่างงานในเยาวชนอายุ 14-25 ปี และยังมีสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการทำงาน ระบบการฝึกฝน หรือการศึกษาต่อจำนวนเยาวชนทั้งหมด ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองในการเลือกตั้งรอบหน้าคือ เยาวชนจำนวนนั้นอาจจะไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และทำให้รัฐบาลต้องคิดเรื่องสวัสดิการเกี่ยวกับการทำงานมากขึ้น 


ผลสำรวจพบประชาชนที่เคยเลือก ‘ปชป.-พปชร.’ ผิดหวังในการบริหาร

ขณะที่ รศ.ดร.ธนพันธ์ ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจมากเป็นอันดับที่หนึ่ง จึงอยู่ที่ว่าพรรคการเมืองใดที่เข้าใจประเด็นในเรื่องของเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และเท่าที่สังเกตพบว่าพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจเป็นระบบที่ชัดเจนที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านในปัจจุบัน แต่พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบันนั้นยังคงมีนโยบายที่กระจัดกระจายอยู่

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อสอบถามการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 152 คน อายุเฉลี่ย 48 ปี เพศหญิงจำนวน 105 คน 69% เพศชาย 43 คน 28% และ LGBTQIA+ 4 คน 2.6% พบว่า ความคิดเห็นส่วนใหญ่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแต่ไม่ขอระบุว่าเลือกพรรคไหนร้อยละ 40% เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 12% เลือกพรรคพลังประชารัฐ 11% เลือกพรรคอนาคตใหม่ 9% เลือกพรรคเพื่อไทย 6% ไม่เลือกพรรคไหนร้อยละ 7% และไม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 13%  

แต่ขณะที่ผลสำรวจหัวข้อเดียวกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่าในการเลือกตั้ง 2566 ประชาชนมีแนวโน้มจะเปลี่ยนพรรคที่เคยเลือกไว้ปี 2562 มีข้อสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุน้อยมีแนวโน้มจะเลือกพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ

โดยจุดที่น่าสนใจอยู่ที่กลุ่มตัวอย่างที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ระบุว่าจะไปเลือกตั้งแต่จะเลือกพรรคอื่นๆ ขณะที่ข้อสังเกตในการเปลี่ยนพรรค กลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 ระบุว่า จะเลือกพรรคอื่น ส่วนคนที่เลือกพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 จะยังคงเลือกพรรคเดิม 

รศ.ดร.ธนพันธ์ ชี้อีกว่า คนที่เลือกพรรคที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันในปี 2562 มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพรรรแต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่รู้ว่า จะเปลี่ยนไปเลือกพรรคไหน อาจจะเลือกพรรคร่วมเดิม หรือเลือกพรรคร่วมฝ่ายค้านใหม่ หรือพรรคเล็กพรรคน้อยที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดจากการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง หรือผิดหวังจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลจึงเปลี่ยนแปลงดีกว่า แต่ในขณะกลุ่มคนที่เลือกพรรคเดิมเราจะเห็นความจงรักภักดีในพรรคการเมืองมากขึ้น