ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้กรรมการสรรหา คัดตัวเองเป็น ส.ว. เข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ชัดเจน ส.ว.ลากตั้งส่อโมฆะ หวั่นวิกฤตเกิดการเมืองนอกสภาอีก - ขณะที่อาจารย์นิด้าแนะกดดันให้ประกาศคำสั่งตั้งกรรมการสรรหา ลงราชกิจจาฯ

รศ.ยุทธพร อิสระชัย อดีตรองคณบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุถึงกระบวนการสรรหา ส.ว. ซึ่งมีการแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.และเลือกตัวเองเป็น ส.ว. ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดในทางกฎหมาย แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ ที่จะถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงธรรมาภิบาลในทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี และการทำงานของสมาชิกวุฒิสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสมควรต้องทำให้ เกิดธรรมาภิบาล ส่วนกรณีที่มีชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปนั่งทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา จะเป็นเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ ต้องไปดู ขั้นตอนของกระบวนการสรรหาโดยเฉพาะการประชุม หากกรรมการสรรหา มีชื่อในที่ประชุม อาจทำให้กระบวนการทุกอย่างเป็นโมฆะ เพราะจะเป็นเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างชัดเจน

"สิ่งที่น่ากังวลคือเสถียรภาพของระบบรัฐสภาซึ่งมีการต่อรองของพรรคการเมืองโดยเฉพาะในฝ่ายของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งหมดจะมีผลต่อความความน่าเชื่อถือ ความศรัทธา ของพี่น้องประชาชนที่มีต่อระบบรัฐสภา เพราะสมาชิกวุฒิสภานั้น ไม่ได้ทำงาน ในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทย อาจมีผลทำให้การเมืองบนท้องถนนกลับมาอีกครั้ง เหมือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นผู้มีอำนาจจึงต้องไม่คำนึงเพียงขอให้ได้อยู่ในอำนาจต่อเท่านั้น" รศ.ยุทธพร ระบุ

รศ.ยุทธพร ยังเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถือเป็นปัญหาของประชาชน ไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง หรือพรรคการเมืองเท่านั้น เช่น ระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาการคิดคำนวณคะแนนคำถามถึงกรณีส.ส.ปัดเศษว่าถูกต้องชอบธรรมมากน้อยเพียงใด แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ยาก แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของฝ่ายนิติบัญญัติและพลังทางสังคมเข้ามากดดัน ขณะที่การตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะต้องเผชิญกับเสียงของฝ่ายค้านที่มีรูปแบบการทำงานไม่เหมือนในอดีต และต้องเผชิญกับสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพมากขึ้น

แนะกดดันคำสั่ง คสช. ตั้งกรรมการลากตั้ง ส.ว. ประกาศลงราชกิจจาฯ

ขณะที่ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ให้ความเห็นต่อกรณี คสช.ปกปิดคำสั่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.โดยส่งเพียงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ออกมาชี้แจงและไม่ยอมเปิดเผยหลักฐาน ว่า เป็นเพราะผู้มีอำนาจกลัวปัญหาที่จะตามมาซึ่งจะนำไปสู่การตรวจสอบจากองค์กร หน่วยงานต่างๆและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่จะนำสู่การเป็นโมฆะของทั้ง ส.ว.และการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาด้วย จึงยืนกระต่ายขาเดียวว่า คำสั่ง คสช.ดังกล่าว ไม่ใช่กฎหมาย ซึ่งการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นตัวชี้วัดสถานะคำสั่ง คสช.ทั้งที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง แต่สังคมก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่าคำอธิบายของผู้มีอำนาจนั้นฟังไม่ขึ้น รวมถึงการบอกว่า ส.ว.ส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับประชาชนด้วย 

"นักกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องช่วยกันออกมายืนยันว่า คำสั่ง คสช.ดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายและต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเลี่ยงไม่ได้" รศ.พิชาย ระบุ

ส่วนกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐไปคุกคามผู้ที่ล้อเลียน คสช.และหัวหน้า คสช.ทั้งกรณีมีทหารไปกดดันชาวต่างชาติที่แปลงเนื้อเพลงล้อเลียน คสช. และกรณีตำรวจสั่งให้นักเรียนที่ทำพานไหว้ครูล้อเลียนการเมืองลบโพสต์ในเฟชบุ๊กนั้น สะท้อนการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของผู้มีอำนาจที่จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะหลังการมีรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ คสช.จะหมดอำนาจลง ทั้งที่การล้อเลียนผู้นำประเทศเป็นเรื่องปกติในสังคมเสรีประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังสะท้อนด้วยว่า ภายใต้การนำของผู้มีอำนาจปัจจุบัน ยังมีระบบอำนาจนิยมดำรงอยู่ และไม่ได้กำลังเดินสู่การเมืองแบบตามระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภาตามที่ควรจะเป็น