ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มสิทธิแรงงานเมียนมาแจง ไม่ได้เรียกร้องไทยรับคนงาน 60,000 เข้าประเทศ - แนะรัฐไม่ควรเลือกปฏิบัติกักตัวแรงงานเมียนมา

สถานการณ์โควิด-19 ที่พบการระบาด 'ระลอกใหม่' ในพื้นที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร จากที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อ 19 ธ.ค. พุ่งสูงถึงกว่า 576 ราย ซึ่งมาจากการตรวจเชื้อเชิงรุกในพื้นที่ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ส่งผลให้หน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสาคร ประกาศใช้มาตราการ 'ล็อกดาวน์' เฉพาะพื้นที่ มีผลห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติเข้า-ออก ส่วนคนไทยทั่วไปยังสามารถเข้าออกได้ แต่ต้องแจงรายละเอียดการเดินทาง

'สุธาสินี แก้วเหล็กไหล' ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา (MWRN) หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิแรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย ทั้งมีสำนักงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เผยกับ 'วอยซ์' ว่าจากกรณีที่พบแรงงานชาวเมียนมาติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่แสดงอากาศ หน่วยงานท้องถิ่นมีคำสั่งล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะสิ่งที่ MWRN กังวลคือ สภาพการกินอยู่ของแรงงานช่วงกักตัว, การชดเชยค่าจ้าง รวมถึงมาตรการที่ปฏิบัติต่อแรงงานภายใต้การล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง และหอพักศรีเมือง

"เราไม่สามารถเข้าไปในพื้นทีได้ ทำได้เพียงโทรติดต่อกับบางคนข้างในที่สามารถติดต่อเท่านั้น" สุธาสินี กล่าว

"ที่เรากังวลคือ ภายใต้การกักตัว 14 วันนั้น คนงานอยู่อย่างไร อาหารการกินครบไหม เพียงพอไหม ค่าจ้างในฐานะที่พวกเขาเป็นคนงาน นายจ้างรับผิดชอบไหม (การกักตัว) มันทำให้พวกเขาขาดรายได้แล้วจะเยียวยาอย่างไร"

ผู้ประสานงานสิทธิแรงงานเมียนมาในไทย ซึ่งร่วมหารือกับหน่วยท้องถิ่นสมุทรสาครด้วย กล่าวว่า หลายฝ่ายทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานในพื้นที่ล็อกดาวน์ดี แม้หน่วยงานรัฐพยายามช่วยเหลือด้านน้ำดื่มและอาหารแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากมีจำนวนแรงงานมากถึง 4,000 คน รวมทั้งมีรายงานของร้านค้าในพื้นที่ขึ้นราคาสินค้าแล้ว

"เท่าที่ทราบบางร้านค้าไข่ไก่แผลละ 160 บาทแล้ว แรงงานได้ค่าจ้างเฉลี่ย 300 บาท เมื่อความช่วยเหลือที่หน่วยงานรัฐจัดให้ไม่ทั่วถึง ก็ต้องซื้อเอง แต่ข้าวของก็ขึ้นราคา" 

เธออธิบายว่า แรงงานเมียนนับพันที่อาศัยในหอพักศรีเมืองนั้น ไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำงานในตลาดค้ากุ้ง แต่ยังมีส่วนหนึ่ง ที่เป็นแรงงานในภาคโรงงานอุตสาหกรรมด้วย โดยจำนวนแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบในพื้นที่สมุทรสาคร มีประมาณ 260,000 คน และยังมีผู้ติดตาม ซึ่งหมายถึงครอบครัวของคนงานเหล่านั้นที่ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบอีกราว 1 แสนกว่าคน รวมแล้วมีแรงงานข้ามชาติในสมุทรสาครราว 4 แสนกว่าคน

สมุทรสาคร-แรงงานเมียนมา


"โควิดไม่น่าเลือกเชื้อชาติ"

คำสั่งของล็อกดาวน์เฉพาะจังหวัดที่ห้ามแรงงานข้ามชาติเดินทางเข้า-ออก แต่คนไทยยังสามารถเข้าออกพื้นที่ได้ เพียงแต่ต้องขออนุญาตนั้น เจ้าหน้าที่ MWRN สะท้อนว่า 'คำสั่งแบบนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ'

สุธาสินีสะท้อนว่า "โรคโควิดน่าจะไม่เลือกเชื้อชาติ นี่คือสิ่งที่มันน่ากลัว ถ้าจะล็อกดาวน์ควรห้ามทั้งหมด ไม่ควรมีข้อยกเว้น คนไทยในพื้นที่ไปไหนก็ได้ขอแค่รายงานแล้วก็ไป ไม่ควรแยกหรือเลือกปฏิบัติ"

ผู้ใกล้ชิดแรงงานเมียนมา ตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่หอพักศรีเมืองและตลาดกลางกุ้ง ถือเป็นชุมชนแออัด สิ่งที่สำคัญคือ สุขอนามัยของแรงงาน การกักกันลักษณะนี้จะขจัดเชื้อมากน้อยเพียงใด "ชาวเมียนมาส่วนมากอยู่กันเป็นชุมชน ห้องหนึ่งอาจพักกันเกือบสิบคนเป็นพี่น้อง เป็นครอบครัว คนนึงไปเข้างานกะกลางคืน ครอบครัวหนึ่งเข้ากะเช้า ก็หมุนเวียนมาใช้ห้องเพื่อพักผ่อน แต่กักความแออัดเกิดขึ้นทันที"


กักกันโรคหรือคุมนักโทษ

ผู้ประสานแรงงาน มองว่า การใช้รั้วลวดหนามปิดล้อมกั้นพื้นที่เข้าออกนั้น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐกำลังกังวลเรื่องการหลบหนี แทนที่กังวลเรื่องกักกันโรค "มันเป็นภาพลักษณ์ของ (ประเทศ) เราด้วย แม้ว่ารัฐจะหามาตราการกักกัน แต่ไม่ควรใช้รั้วลวดหนามกั้นบริเวณ มันสร้างความรู้สึกให้พวกเขาคิดว่าเราปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นนักโทษ ทั้งที่เป็นการกักกันเพื่อคัดกรองโรค แต่ทำไมถึงใช้ลวดหนามล้อมพื้นที่"

สุธาสินีเชื่อว่า "ถ้าเราดูแลดี พวกเขาก็ยินดีร่วมมือ" หากรัฐไทยจัดการดูแลกลุ่มแรงงานเหล่านี้ 'ให้อยู่ดีกินอิ่ม' รวมถึงมาตราการชดเชยต่างๆ และใช้วิธีกักกันรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การล้อมรั้วลวดหนาม แรงงานเหล่านี้จะไม่มีปฏิกริยาพยายามหลบหนี ทั้งยังให้ความร่วมมือกับกับภาครัฐ

สมุทรสาคร-แรงงานเมียนมา

'ปล่อยให้แรงงานจัดการกันเอง' คือแนวคิดที่เจ้าหน้าที่ MWRN แนะภาครัฐ โดยหากจะช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ ควรเข้าใจก่อนว่าแรงงานเมียนมา มักอยู่กันเป็นชุมชน การให้แรงงานจัดการกันเองเป็นวิธีการช่วยเหลือดีที่สุดที่รัฐควรดำเนินการ 

"เราไม่จำเป็นตั้งโรงครัวหรือทำกับข้าวให้พวกเขาทุกมื้อ เพียงแค่รู้ว่าพวกเขาเหล่าชอบอะไร แรงงานเมียนมานิยมทานข้าวมากกว่าอาหาร เราควรจัดข้าวสาร หอมแดง พริกแห้ง ปลาเค็ม ถั่ว มันฝรั่ง ผงชูรส ให้พวกเขาปรุงเองดีกว่า หากทำอาหารแจกพวกเขาเป็นมื้อๆ จะยิ่งทำให้รู้สึกว่าเหมือนเป็นนักโทษ ถูกยัดเยียด แม้จะทำเป็นโรงครัวก็ควรปล่อยให้พวกเขาจัดโรงครัวกันเอง" 

เจ้าหน้าที่ MWRN ยังชี้แจงถึงกรณีรายงานข่าวจากเมียนมาไทมส์ ซึ่งปรากฎในรายงานของสื่อไทยที่ว่า ภาคสิทธิแรงงานในประเทศเมียนมาร้องขอรัฐบาลไทยรับแรงงาน 60,000 คนเข้าประเทศนั้น เกิดขึ้นช่วงก่อนที่จะมีการระบาดในพื้นที่มหาชัย โดยเป็นช่วงที่ไทยพบกรณีผู้ป่วยติดเชื้อจากท่าขี้เหล็กของเมียนมา ประกอบกับรัฐไทยไม่ชัดเจนว่าจะอนุญาติเปิดด่านพรมแดนหรือไม่

ส่งผลให้แรงงานจำนวนดังกล่าวซึ่งขอเดินทางเข้าไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สามารถเดินทางได้ ทางกลุ่มฯ จึงเรียกร้องไปยังกระทรวงแรงงานของเมียนมา เพื่อให้ประสานงานกับบริษัทจัดหางาน ในการคืนเงินค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับแรงงาน เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางมาหางานทำในไทย ทางกลุ่ม MWRN ไม่ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ต้องเปิดรับแรงงานจำนวนหลายหมื่นคนตามที่ปรากฏ